ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือจี 7 ส่งสารอันแข็งกร้าวถึงรัสเซียด้วยการเชิญประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เข้าร่วมการประชุมที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ และขณะเดียวกันก็ส่งสารไปยัง “คู่แข่ง” รายสำคัญของกลุ่มชาติร่ำรวยอีกชาตินั่นก็คือ จีน
ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ของสหราชอาณาจักร ระบุว่าจีนเป็น “ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัย” ในแง่ของความมั่นคงของโลกและความมั่งคั่ง ซึ่งจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีความเป็นอำนาจนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศตัวเองและในระดับนานาชาติ
ในการประชุมกลุ่มชาติร่ำรวย 7 ประเทศครั้งนี้ นอกจากเป็นการส่งสารโดยตรงถึงรัฐบาลจีนในประเด็นข้อพิพาทในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและกรณีของไต้หวันแล้ว สาระสำคัญหลักของสารที่ส่งไปยังจีนคือประเด็น “การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ”
ประเทศจี 7 นั้นตกที่นั่งที่ยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะในแง่การค้าการลงทุนแล้ว เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประเทศจีนอย่างแยกไม่ออก ทว่าการแข่งขันกับรัฐบาลจีนนั้นกลับเพิ่มขึ้น ทั้งที่จี 7 เอง ไม่เห็นด้วยกับจีนในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน
ในขณะนี้ กลุ่มชาติมหาอำนาจจี 7 กำลังกังวลว่าพวกเขาจะถูกจับเป็น “ตัวประกัน”
“ลดความเสี่ยง” จากจีน
ไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลจีนไม่เกรงกลัวที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับประเทศที่ทำให้จีนไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ซึ่งยินยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ หรือกับออสเตรเลียซึ่งช่วงหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ในระดับ “เย็นชา”
ส่วนสหภาพยุโรป ก็ได้รับสัญญาเตือนเบา ๆ จากจีน ด้วยการปิดกั้นไม่ให้ประเทศลิทัวเนียส่งออก หลังจากที่กลุ่มประเทศบอลติก นอนุญาตให้ไต้หวันตั้งสถานทูตในประเทศได้
ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเลยที่กลุ่มจี 7 จะประณามจีนว่าเป็นตัวขัดขวาง “การเพิ่มแสนยานุภาพให้กับความเปราะบางทางเศรษฐกิจ” ซึ่ง จี 7 มองว่าการบีบบังคับทางเศรษฐกิจของจีนบ่อนทำลายทั้งนโยบายต่างประเทศ ในประเทศ และสถานะทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิกจี 7 และพันธมิตรทั่วโลก
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่าที่ประชุมจี 7 เรียกนโยบายนี้ว่า “ลดความเสี่ยง” ซึ่งเป็นคำที่มีความรุนแรงน้อยกว่าคำว่า “การแยกตัว”จากจีนตามที่สหรัฐฯ เสนอ โดยหลักการของนโยบายนี้จะมีการกดดันทางการทูตเพิ่มขึ้น การกระจายแหล่งการค้าให้หลากหลายขึ้น และการปกป้องเทคโนโลยีและการค้า
จับมือตั้งกำแพงป้องกันจีน
กลุ่มประเทศจี 7 ยังประกาศความร่วมมือต่อสู้กับ “การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ” ของจีน และทำงานร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้วิธีการใด แต่มีแนวโน้มว่าจี 7 จะช่วยเหลือกันมากขึ้นในด้านการค้าหรือการสนับสนุนทุนการทำงานเพื่อต่อสู้กับอุปสรรคที่จีนก่อขึ้น
นอกจากนี้ จี 7 ยังวางแผนที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งของเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานสำหรับสินค้าสำคัญ เช่น แร่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อป้องกันการเจาะระบบและการโจรกรรมทางเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม อาวุธสำคัญที่สุดที่จี 7 วางแผน คือ การควบคุมการส่งออกแบบพหุภาคี นั่นหมายถึงการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกเพื่อให้แน่ใจว่า ท้ายที่สุดเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยชาติจี 7 โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการทหารและปัญญาประดิษฐ์ จะไม่ตกไปอยู่ในมือของ “ตัวแสดงที่ประสงค์ร้าย”
สหรัฐฯ ได้ดำเนินการในมาตรานี้แล้ว จากการสั่งห้ามการส่งออกเทคโนโลยีชิปส์ประมวลผลไปยังจีน ซึ่งญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ ตอบรับเข้าร่วมมาตรการนี้แล้วเช่นกัน
มาตรการของจี 7 ดังกล่าว ได้แสดงอย่างชัดเจนว่าจะไม่เพียงเดินหน้าต่อ แต่จะเพิ่มระดับความเข้มข้น แม้ว่าจะมีการประท้วงจากจีนก็ตาม
นอกจากนี้จี 7 จะเข้าทลาย “การถ่ายโอนที่ไม่เหมาะสม” ทางเทคโนโลยีที่มีการแบ่งปันข้อมูลผ่านโครงการวิจัย เนื่องจากสหรัฐฯ และหลายประเทศต่างกังวลเกี่ยวกับการจารกรรมข้อมูลในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมีการจับกุมคุมขังผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าจารกรรมเทคโนโลยีไปให้จีนแล้ว
แข็งกร้าวแต่ยังเปิดช่องทางสื่อสาร
อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงทั้งหมด ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงประเด็นการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ บรรดาผู้นำจี 7 ไม่ได้เอ่ยชื่อ “จีน” แม้แต่คำเดียว ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความพยายามทางการทูตอย่างชัดเจนที่จะ “ไม่ชี้นิ้ว” ไปที่รัฐบาลปักกิ่ง
เมื่อพวกเขาพูดถึงจีน พวกเขาต่างยืนด้วยท่าทางที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย
ผู้นำชาติสมาชิกจี 7 พยายามจะลดอุณหภูมิของจีนลงด้วยการระบุว่า นโยบายของพวกเขา “ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นภัยคุกคามจีนหรือว่าต้องการสกัดกั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการพัฒนาของจีน” และไม่ได้พยายามจะแยกจีนออกจากโลก
แต่ในขณะเดียวกัน จี 7 ก็เพิ่มแรงกดดันไปยังจีนเพื่อให้หันมาร่วมมือด้วยการกล่าวว่า “ประเทศจีนซึ่งกำลังเติบโตภายใต้ระเบียบของนานาชาติจะเป็นประโยชน์สำหรับเศรษฐกิจโลก”
จี 7 ยังแสวงหาความร่วมมืออย่างเปิดเผยกับจีน ในขณะที่ยังสามารถแสดงความกังวลไปยังจีนโดยตรงได้เช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่ยังเปิดช่องทางการสื่อสารหากบรรยากาศอยู่ในภาวะที่ตึงเครียด
บีบีซีไม่สามารถรู้ได้ว่า บรรดาผู้นำจีนและนักการทูตจีนจะได้รับสารของกลุ่มชาติจี 7 เหล่านี้หรือไม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมา สื่อของทางการจีนมักจะออกมาตอบโต้ชาติตะวันตกที่พยายามเล่นบทสองหน้า ทางหนึ่งก็วิจารณ์จีน แต่ก็เสวยสุขกับดอกผลของการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับจีนด้วย
ในขณะนี้ รัฐบาลปักกิ่งเลือกที่จะถอยกลับไปใช้วิถีปกติ คือ การใช้วาทศิลป์เช่นเดียวกับที่ตอบโต้คนในประเทศตัวเอง
จีนเรียกร้องชาติจี 7 หยุด “สมรู้ร่วมคิด” กับสหรัฐฯ
จีนเตรียมการสำหรับการตอบโตของชาติจี 7 ไว้ล่วงหน้าแล้ว ขณะที่กำลังเข้าสู่เวทีการประชุมที่ญี่ปุ่น สื่อของทางการจีนและสถานทูต ได้เผยแพร่ข้อความกล่าวหาว่าสหรัฐฯ ก็ดำเนินการบีบบังคับทางเศรษฐกิจและไม่ตรงไปตรงมา
ข้อความจากสื่อทางการของจีนเมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา กล่าวหาจี 7 ว่า ป้ายสีและโจมตีจีน ก่อนไปฟ้องญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้
จีนยังเรียกร้องให้ชาติสมาชิกจี 7 ชาติอื่น ไม่กลายเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ ในการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ” และหยุดรวมตัวเป็น “แก๊ง” ที่ตั้งกำแพงปิดกั้นจีน ตลอดจนรังแกประเทศอื่น
ขณะเดียวกัน ควรสังเกตด้วยว่า จีนเองก็พยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรของตัวเองกับประเทศอื่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วขณะที่การประชุมจี 7 กำลังเริ่มต้น จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคู่ขนานกับเวทีจี 7 ร่วมกับกลุ่มประเทศเอเชียกลาง
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าแผนการของจี 7 จะเป็นผลหรือไม่ แต่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มคนที่ต้องการเห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการรับมือกับการรุกคืบของจีน
ดร. แอนดรูว์ สมอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและอินโด-แปซิฟิก จากศูนย์ธิงค์แทงก์กองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ ชี้ว่าแถลงการณ์ของจี 7 มีลักษณะที่เป็นฉันทามติร่วมอย่างแท้จริง สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองใจกลางของของชาติจี 7
“ยังคงมีการโต้เถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้ว การลดความเสี่ยง หมายถึงอะไร การจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนควรไปไกลแค่ไหน และมาตรการร่วมกันแบบใดที่ต้องใช้ต่อต้านการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้มีกรอบที่ชัดเจนแล้วว่า ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขั้นสูงจำเป็นต้องได้รับการปรับสมดุลอย่างไร”
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว