
เมื่อปี 2019 ยู ซึง-กยู ก้าวขาออกจากพาร์ทเมนต์ห้องสตูดิโอของเขาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ชายหนุ่มวัย 30 ปีคนนี้ ช่วยกับน้องชายทำความสะอาดห้องพักอันรุกรุงรังเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้เดินทางไปเที่ยวที่ทะเลเพื่อตกปลากับบรรดาเพื่อน “ผู้รักสันโดษ” ที่เขาได้รู้จากผ่านองค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง
- กรมอุตุฯ จับตาพายุหมุนเขตร้อน มีหย่อมความกดอากาศก่อตัวใหม่อีก 1 ลูก
- กรมอุตุฯเตือน 17 เขต กทม. เฝ้าระวังฝนตกหนัก 29-30 ก.ย. นี้
- โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.อ. สุรพล พุทธมนต์ พ้นจากนายทหารราชองครักษ์พิเศษ
“มันเป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาดที่ได้มาอยู่ที่ทะเล แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกสดชื่นขึ้นหลังจากการใช้ชีวิตอยู่อย่างลำพัง มันรู้สึกเหมือนกับว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่จริง ๆ ผมอยู่ที่นั่น และผมยังดำรงอยู่” ยู กล่าว
หนุ่มสาวเกาหลีใต้จำนวนมากขึ้นเลือกที่จะโดดเดี่ยวตัวเองออกจากสังคม เป็นการแยกตัวเองออกจากสังคมในทุกรูปแบบเพื่อแสดงถึงการไม่ต้องการทำตามความคาดหวังของสังคม
พฤติกรรมแยกตัวจากสังคมนี้เรียกว่า “ฮิคิโคโมริ” ปรากฏเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงยุค 1990 เป็นชื่อเรียกบรรยายภาวะของวัยรุ่นคนหนุ่มสาวที่แยกตัวออกจากสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งคนที่มีอาการหนักมักเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านโดยไม่ออกไปไหนนานนับปี อีกทั้งยังทำให้สูญเสียความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแบบตัวต่อตัวอีกด้วย
ปัญหาภาวะอัตราเจริญพันธุ์หรืออัตราการมีลูกที่ต่ำที่สุดในโลกของเกาหลีใต้ กลายเป็นความกังวลอย่างยิ่งที่ทางการพยายามแก้ปัญหา เกาหลีใต้จึงออกมาตรการแจกเงินแก่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ที่มีรายได้ตามเกณฑ์ โดยเป็นเงินรายเดือนเพื่อโน้มน้าวจูงใจให้คนเหล่านี้ออกจากบ้าน
คนรุ่นใหม่อายุตั้งแต่ 9-24 ปี จากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จะได้รับเงินค่าครองชีพรายเดือนสูงสุดถึง 650,000 วอน หรือกว่า 17,000 บาทไทย พวกเขายังสามารถลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเพื่อรับบริการหลายอย่าง เช่น สุขภาพ การศึกษา การให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ เช่น ทางกฎหมาย การเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งการศัลยกรรมปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาและแผลเป็น
กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ระบุว่า สิ่งจูงใจเหล่านี้มีจุดประสงค์ต้องการให้คนหนุ่มสาวฟื้นคืนวิถีชีวิตประจำวันกลับมาใหม่ รวมทั้งพาตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในสังคม

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยามว่าเป็นผู้แยกตัวออกจากสังคม คือ “หนุ่มสาวที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่ที่จำกัดเป็นระยะเวลายาวนาน ตัดตัวเองออกจากโลกภายนอก และมีความยากลำบากที่จะใช้ชีวิตในวิถีปกติ”
แต่การแจกเงินเช่นนี้ ได้รับเสียงตอบกลับจากหนุ่มสาวที่เก็บตัวบางส่วนว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล
นายยู ชายหนุ่มจากต้นเรื่อง ได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อช่วยเหลือหนุ่มสาวสันโดษกลุ่มที่เรียกว่า “ไม่หวั่นกลัว” หรือ กลุ่มที่ไม่แม้แต่จะออกจากห้องไปใช้ห้องน้ำ ยูกล่าวว่า เส้นทางในการออกจากภาวะโดดเดี่ยวตัวเองนั้นมีทั้งขึ้นและลง เขาเริ่มถอนตัวจากโลกภายนอกตอนอายุ 19 ปี ก่อนเข้าไปเกณฑ์ทหารกับกองทัพ 2 ปี และกลับไปโดดเดี่ยวแยกตัวเองออกจากโลกรอบข้างอีกครั้งเป็นเวลา 2 ปีหลังจากนั้น
ด้านพาร์ค เต-ฮง ชายหนุ่มอีกคนที่เคยมีภาวะ “ฮิคิโคโมริ” บอกว่า การแยกตัวออกมาอาจจะเป็นภาวะของความสบายใจสำหรับบางคน
“เมื่อคุณพยายามจะทำอะไรใหม่ ๆ มันทั้งน่าตื่นเต้นและขณะเดียวกัน คุณก็ต้องอดทนกับความเหนื่อนล้าและความกังวลแต่ละระดับด้วย แต่ถ้าคุณเพียงอยู่แต่ในห้อง คุณจะไม่ต้องรู้สึกเช่นนั้น แต่ยังไงมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีในระยะยาว” ชายหนุ่มวัย 34 กล่าว
ภาวะแยกตัวทางสังคมของคนรุ่นใหม่เกาหลีรุนแรงแค่ไหน
สถาบันสุขภาพและกิจการทางสังคมแห่งเกาหลีใต้ ระบุว่า ประชากรราว 340,000 คน ในช่วงอายุตั้งแต่ 19-39 ปี หรือ 3% ของช่วงอายุนี้ มีภาวะเหงาเปล่าเปลี่ยว และแยกตัว
ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านเพียงคนเดียว ซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของครัวเรือนในเกาหลีใต้ในปี 2022 ขณะเดียวกัน จำนวนของผู้คนในเกาหลีใต้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดียวก็กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แต่เงิน หรือการไม่มีเงิน นั้นไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หนุ่มสาวเกิดพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม
“พวกเขา (ที่แยกตัวจากสังคม) มีพื้นฐานทางการเงินที่หลากหลาย” นายพาร์ค อดีตผู้เคยมีภาวะนี้ ระบุ “ผมแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลเชื่อมโยงพฤติกรรมเก็บตัวไปกับสถานะทางการเงิน ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ที่เก็บตัวทุกคนที่จะมีปัญหาทางการเงิน”
“แต่ละคนที่ต้องดิ้นรนทางการเงินอาจจะถูกบังคับให้ปรับตัวเข้ากับสังคม มันเป็นกรณีที่แตกต่างกันมาก” เขาอธิบายเพิ่มเติม
จากกรณีของยูและพาร์ค ทั้งคู่ได้รับการดูแลเรื่องการเงินจากผู้ปกครองขณะที่พวกเขาแยกตัวออกไปจากคนอื่น ๆ ในบ้าน
เสียงจากผู้สันโดษ
ลักษณะร่วมกันของคนที่แยกตัวจากสังคม คือ พวกเขาเชื่อว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในมาตรฐานความสำเร็จของสังคมหรือครอบครัว บางคนจะรู้สึกแปลกแยก เพราะไม่ได้วิ่งไล่ตามเป้าหมายทางการงานอาชีพที่เป็นค่านิยมเดิม ๆ ขณะที่บางคนอาจถูกวิจารณ์เรื่องผลการเรียนที่ย่ำแย่ด้วยก็ได้เช่นกัน
ยู กล่าวว่า เขาเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเพราะความต้องการของพ่อ แต่เขาก็ลาออกหลังจากเข้าไปเรียนได้ 1 เดือน
“การไปโรงเรียนทำให้ผมรู้สึกอับอาย ทำไมผมไม่มีสิทธิเลือกวิชาที่เรียน ผมรู้สึกเป็นทุกข์อย่างมาก” ยูกล่าวและบอกว่าเขาไม่เคยรู้สึกว่าเขาสามารถพูดคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ได้
“วัฒนธรรมความอับอาย” ในสังคมเกาหลี ยิ่งทำให้คนที่แยกตัวจากสังคมพูดคุยเรื่องของพวกเขายากขึ้น ยูบอกว่า มันทำให้เขาคิดว่าในที่สุดวันหนึ่ง เขาสรุปกับตัวเองได้ว่าชีวิตของเขาคือความผิดพลาด จากนั้นจึงเริ่มแยกตัวออกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ขณะแยกตัว เขาไม่ไปใช้ห้องน้ำเพื่ออาบน้ำหรือทำธุระส่วนตัว เพราะไม่ต้องการเจอหน้าคนในบ้าน ส่วนพาร์ค ความกดดันทางสังคมยิ่งแย่ลงเพราะความสัมพันธ์จากคนในครอบครัว
“พ่อกับแม่ของผมทะเลาะกันบ่อยมากตั้งแต่ผมยังเด็ก มันกระทบกับชีวิตของผมที่โรงเรียน บางครั้งชีวิตที่โรงเรียนของผมก็ยากลำบากมาก ผมไม่สามารถดูแลตัวเองได้เลย” พาร์คกล่าว
พาร์ค เริ่มบำบัดอาการโดดเดี่ยวตัวเองในปี 2018 ขณะอายุ 28 ปี ขณะนี้เขาค่อย ๆ ปรับตัวเองให้กลับมามีชีวิตทางสังคมอีกครั้ง

สาเหตุมาจากสังคมในเกาหลี
คิม ซู จิน ผู้จัดการโครงการซีดส์ โครงการศึกษาและเยียวยาภาวะ “ฮิคิโคโมริ” ชี้ว่าคนรุ่นใหม่เกาหลีรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะสังคมคาดหวังว่าผู้คนต้องมีชีวิตตามแบบแผนที่วางไว้ในแต่ละช่วงอายุ
“เมื่อพวกเขาไม่สามารถอยู่กับความคาดหวังแบบนี้ได้ พวกเขาก็จะคิดว่า เอาล่ะ ฉันล้มเหลวแล้วล่ะ ฉันสายไปสำหรับเรื่องนี้ บรรยากาศทางสังคมแบบนี้ กดดันความรู้สึกเชื่อมั่นเคารพในตนเอง และในที่สุดอาจจะทำให้พวกเขาตัดขาดตัวเองจากสังคม” คิม ซู จิน กล่าว
ซีดส์ ได้ดำเนินกิจกรรมที่เรียกว่าพื้นที่ “อุโมงค์ตัวตุ่น” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคนที่แยกตัวทางสังคมได้มาพักใจ มีช่วงเวลาเงียบ ๆ และรับคำปรึกษา โครงการนี้เปิดรับคนทุกกลุ่ม โดยไม่จำกัดสถานะของรายได้ โดยคิม ซู จิน กล่าวว่า นี่เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ต้อนรับคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ และเป็นพื้นที่ที่พวกเขาสามารถหาโอกาสทางการงานและการศึกษา
“คนหนุ่มสาวที่แยกตัว ต้องการที่ทำงานที่พวกเขาสามารถคิดว่า ฉันทำแบบนี้ได้เลยล่ะ มันไม่ได้ยากขนาดนั้น ซึ่งซีดส์จะเป็นพื้นที่ที่พวกเขาได้เรียนรู้มากขึ้น ก่อนที่จะเข้าไปสู่โลกแห่งความจริง”
การแจกเงินจะได้ผลหรือไม่
ค่าครองชีพอาจเป็นก้าวแรกในการแก้ไขปัญหานี้ แต่กลุ่มประชาสังคมคนรุ่นใหม่ ที่ชื่อว่า PIE for YOUTH เห็นว่างบประมาณควรถูกใช้ให้ตรงจุดกว่านี้ พวกเขาเชื่อว่าการสนับสนุนแก่องค์กรหรือโครงการที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อให้คำปรึกษาหรือฝึกทักษะการทำงาน จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
“เป็นเรื่องที่ดีที่เห็นมาตรการใหม่โฟกัสที่วัยรุ่นมากขึ้น ฉันคิดว่ามันวัยหนุ่มสาวเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งยวดในการป้องกันไม่ให้คนรุ่นใหม่แยกตัวโดดเดี่ยวออกไป เพราะพวกเขาส่วนมากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อย่างเช่นโรงเรียน”
ด้านนายยู บอกว่า เขากำลังค่อย ๆ ฟื้นฟูจากภาวะแยกตัวทางสังคมจนสภาพจิตใจดีขึ้น เป็นเพราะการได้พบปะในกลุ่มบำบัดที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่มีภาวะเหมือน ๆ กัน
“เมื่อผมได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ผมเริ่มจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาของผมอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของสังคมด้วย” ยูกล่าว
“และในที่สุด ผมก็ค่อย ๆ ก้าวพ้นอออกจากการเก็บตัวจากสังคมได้อย่างช้า ๆ ”
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว