เหล่าผู้สนับสนุนประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน เฉลิมฉลองชัยชนะตลอดคืนที่ผ่านมา หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง หรือ Run-Off ชี้ว่า นายทายยิปชนะเลือกตั้งแบบฉิวเฉียด และได้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 5 ปี
“ประเทศชาติที่มีประชากร 85 ล้านคนชนะแล้ว” ประธานาธิบดีตุรกี วัย 69 ปี ประกาศต่อเหล่าผู้สนับสนุนมหาศาล ที่มารวมตัวกันบริเวณด้านนอกทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอังการา
การเลือกตั้งรอบสอง จัดขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2023 ผู้สมัครชิงตำแหน่งทั้งสองคน มีคะแนนสูสีกันมาก จนต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งครั้งที่ 2 เพื่อชี้ขาดว่าใครจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป
นายแอร์โดกัน ปราศรัยถึงการสร้างเอกภาพของประเทศ แต่เนื้อหากลับ ดูหมิ่น เคมัล คิลิกดาโรกลู ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงกล่าวโจมตีแกนนำกลุ่มชาวเคิร์ดที่ถูกจองจำ และนโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศด้วย
แม้นายแอร์โดกันจะประกาศชัยชนะ แต่นายคิลิกดาโรกลู ผู้นำฝ่ายค้าน ยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้
เขาระบุว่า “นี่เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมที่สุดในช่วงหลายปีมานี้” คิลิกดาโรกลู กล่าว ก่อนอธิบายต่อว่า พรรครัฐบาลของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ได้ใช้ทรัพยากรที่รัฐมีทั้งหมด เพื่อเอาชนะเขา
ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่นับแล้วเกือบ 100% ชี้ว่า ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ชนะด้วยคะแนนเสียงแบบเฉียดฉิว เพียง 52% เท่านั้น นั่นหมายความว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเกือบครึ่ง ไม่เห็นด้วยกับวิสัยทัศน์เชิงเผด็จการของนายแอร์โดอัน ต่ออนาคตของตุรกี
ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ติดตามทำข่าวการเลือกตั้งตุรกี มองว่า แม้นายคิลิกดาโรกลู จะแข่งขันกับนายแอร์โดอันได้อย่างสูสี จนต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองเป็นครั้งแรก นับแต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง เมื่อปี 2014 แต่ผู้นำฝ่ายค้านก็ยังไม่สามารถเอาชนะนายแอร์โดอัน ที่มากประสบการณ์ทางการเมือง และปกครองตุรกีมายาวนานได้ เพราะแม้แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก นายคิลิกดาโรกลู ก็ได้คะแนนน้อยกว่าผู้นำตุรกีกว่า 2 ล้านเสียง
ด้านนายแอร์โดอัน ใช้ประโยชน์จากชัยชนะของเขาอย่างเต็มที่ ด้วยการขึ้นปราศรัยเหนือขบวนแห่ในนครอิสตันบูล จากนั้นขึ้นปราศรัยบนระเบียงของทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอังการา ต่อผู้สนับสนุนที่มารวมตัวกันมากกว่า 320,000 คน
“นี่ไม่ใช่แค่ชัยชนะของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นชัยชนะของตุรกี” เขาประกาศ พร้อมระบุว่า นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตุรกี
นายแอร์โดอันยังกล่าวเชิงเย้ยหยันคู่แข่งของเขาว่า “บ๊ายบาย บายนะ เคมัล” ซึ่งเหล่าผู้สนับสนุนผู้นำตุรกี ก็นำคำพูดนี้ไปตะโกนต่อกันเป็นวงกว้าง
ประธานาธิบดีตุรกี ยังประณามนโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ขัดแย้งกับแนวคิดของพรรครัฐบาลในเรื่องสถาบันครอบครัว
อย่างไรก็ดี แม้ผลการนับคะแนนยังไม่สิ้นสุด แต่สภาการเลือกตั้งสูงสุดระบุว่า นายแอร์โดอันชนะเลือกตั้งอย่างไม่ต้องสงสัย
ผู้สื่อข่าวบีบีซีในกรุงอังการา ระบุว่า ไม่บ่อยนักที่ทางการจะเปิดทำเนียบประธานาธิบดีให้ประชาชนเข้าไป แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ถือว่าน่าสนใจเช่นกัน เพราะนายแอร์โดอัน ชนะแบบเฉียดฉิว และได้ครองอำนาจต่อไปรวมเป็นถึง 25 ปี
ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีตุรกี เดินทางมาจากทั่วกรุงอังการา เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนี้ พร้อมด้วยการตะโกนบทสวดศาสนาอิสลาม และปักธงชาติตุรกีบนผืนหญ้าเพื่อสวดภาวนา
ค่ำคืนแห่งชัยชนะของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ถูกหลงลืมไปชั่วขณะ โดยผู้สนับสนุนคนหนึ่ง ชื่อ เซย์ฮัน ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจเป็นเพียงเรื่องโกหก “ไม่มีใครหิวโหย พวกเขามีความสุขกับนโยบายเศรษฐกิจของแอร์โดอัน และเขาจะทำได้ดีกว่านี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า”
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีตุรกียอมรับว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศ
แต่คำถามในหมู่ผู้สังเกตการณ์ คือ เขาพร้อมจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่ หลังอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเกือบ 44% ต่อปี จนส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า
ราคาอาหาร ค่าเช่า และราคาสินค้าอื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นายแอร์โดอัน ไม่ยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญเพื่อจำกัดภาวะเงินเฟ้อ
ค่าเงินตุรกียังลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทางธนาคารกลางแห่งตุรกีเอง ก็กำลังเผชิญอุปสรรคจากอุปสงค์ด้านสกุลเงินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาก
“ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้ากดอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ตามที่นายแอร์โดอันส่งสัญญาณ หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือการควบคุมงบประมาณให้เข้มงวดขึ้น” ศ. เซลวา เดมิราล์ป ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยค็อก (Koc) ในนครอิสตันบูล กล่าว
แต่เรื่องเศรษฐกิจกลับเป็นเรื่องไกลตัวผู้สนับสนุนผู้นำตุรกี ที่ต่างภาคภูมิใจต่อจุดยืนทรงอำนาจของตุรกีในเวทีโลก และการต่อสู้กับ “การก่อการร้าย” หรือก็คือกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในมุมของรัฐบาล
ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ยังกล่าวหาผู้นำฝ่ายค้านว่า ฝักใฝ่ผู้ก่อการร้าย และวิพากษ์วิจารณ์นายคิลิกดาโรกลูว่า ได้ให้คำมั่นจะปลดปล่อย เซลาฮัตติน เดเมียร์ตาส อดีตผู้นำร่วมของพรรคฝ่ายค้านใหญ่สุดอันดับ 2 ของประเทศ คือ พรรคเอชดีพี ที่สนับสนุนชาวเคิร์ด ออกจากเรือนจำ
ปัจจุบัน นายเดเมียร์ตาส ยังถูกคุมขังอยู่นับแต่ปี 2016 แม้ศาลสหภาพยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้สั่งให้ปล่อยตัวเขาแล้วก็ตาม ขณะที่ แอร์โดอัน ระบุว่า หากเขายังอยู่ในอำนาจ นายเดเมียร์ตาส จะถูกจองจำต่อไป
นับแต่การรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016 นายแอร์โดอัน ได้ยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกระชับอำนาจประธานาธิบดีจนกว้างไกล และเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านให้คำมั่นจะยกเลิก
ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนรายหนึ่งนอกกรุงอังการา ระบุว่า เขาต้องการให้วิกฤตสมองไหล ที่เริ่มขึ้นนับแต่การกวาดล้างแนวร่วมก่อรัฐประหารในช่วงปี 2016 ให้ยุติลงเสียที แต่เมื่อผลเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ เขาวิตกว่าปัญหาสมองไหลจะรุนแรงขึ้นอีก
สำหรับพรรคฝ่ายค้าน ตอนนี้ ต้องกลับมาวางยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2024
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว