เปิดขั้นตอนกฎหมาย-ฉายภาพหากทักษิณกลับไทย

การเดินทางกลับเข้าไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 10 ปี ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อบุตรสาวออกมายืนยันกำหนดการเดิมในเดือน ก.ค. “แต่ต้องดูสถานการณ์ประกอบด้วย”

บีบีซีไทยพูดคุยกับทนายความของอดีตนักการเมืองระดับชาติ เกี่ยวกับขั้นตอนทางกฎหมายและวิธีปฏิบัติ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากอดีตนายกฯ ทักษิณ เดินทางกลับบ้านเกิดตามที่ลั่นวาจาอาไว้ในอีก 1 เดือนข้างหน้า

1. จนท.ราชทัณฑ์รอรับที่สนามบิน

หากนายทักษิณแจ้งอย่างชัดเจนว่าจะกลับไทยด้วยวิธีการใด และเปิดเผยกำหนดการที่แน่ชัด คาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปรอรับ เพราะอดีตนายกฯ ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาล 4 คดี ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 คดีที่ยังไม่หมดอายุความ รวมอัตราโทษจำคุก 10 ปี

“กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุด เป็นมากกว่าหมายจับอีก เชื่อว่าจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถือหมายแจ้งโทษไปรอรับถึง ตม. (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) เลย ตั้งแต่ระบบ ตม. แจ้งเตือนว่า ‘นักโทษชายทักษิณ’ จะเดินทางเข้าประเทศวันนี้-เวลานี้ ซึ่งตัวคุณทักษิณเองก็ย่อมต้องรู้ว่าเมื่อมาถึงแล้ว จะถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันที” ทนายความ ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ กล่าว

ภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นที่สนามบิน ไม่ต่างจากภาพข่าวที่ผู้คนเคยเห็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปนั่งอยู่หลังห้องพิจารณาคดีของศาล 2 คน พอศาลอ่านคำพิพากษาจบ เจ้าหน้าที่ก็จะคุมตัวจำเลย/ผู้ต้องคำพิพากษาขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง แล้วส่งตัวเข้าเรือนจำทันที

2. คาดส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทนายความรายนี้ระบุว่า กรณีนายทักษิณคาดว่าจะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับนักการเมืองรายอื่น ๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องขังโดยคำพิพากษาศาล ไม่ว่าจะเป็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ต้องโทษจำคุก 48 ปี คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ต้องโทษจำคุก 36 ปี ในคดีเดียวกัน รวมถึงนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องโทษจำคุก 99 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ที่ถูกคุมตัวจากศาลไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบัน อดีตนักการเมืองที่ล้วนแต่เป็นลูกน้องเก่าของนายทักษิณกลุ่มนี้ถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมแล้ว เนื่องจากมีอัตราโทษสูงเกิน 15 ปี (เกินอำนาจการควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ)

ทันทีที่ไปถึงเรือนจำ โดยขั้นตอนปกติของกรมราชทัณฑ์ จะต้องทำประวัติผู้ต้องขังใหม่ ตรวจสุขภาพ และให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวตามระเบียบเรือนจำ โดยผู้ต้องขังใหม่จะอยู่ใน “แดนแรกรับ” ราว 3 สัปดาห์ ก่อนส่งเข้าสู่แดนต่าง ๆ ของเรือนจำตามอัตราโทษที่ได้รับ

เรือนจำ

Facebook/เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร บรรยากาศด้านหน้าเรือนจำ ซึ่งใช้คุมผู้ต้องขังที่มีอัตราโทษต่ำกว่า 15 ปีลงมา

3. จับตาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย

กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันแรกที่นายทักษิณเข้าไปนอนในคุก

หลักเกณฑ์การขอลดโทษกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม แบ่งการพระราชทานอภัยโทษออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มักมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำโดยการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี สุดแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า

หากนำกรณีนายทักษิณมาเทียบเคียง นั่นเท่ากับว่า เขาต้องรับโทษจำคุกอย่างน้อย 3 ปี 3 เดือน จากโทษที่ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วและยังไม่หมดอายุความ 10 ปี จึงจะเข้าเกณฑ์ ขณะนี้ถือว่าคุณสมบัติยังไม่เข้าเกณฑ์

2. การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย สามารถทำได้ด้วยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะยื่นฎีกา ต้องเป็นผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส โดยยื่นเรื่องผ่านเรือนจำ หรือกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต (กรณีเป็นชาวต่างชาติ) จากนั้นกรมราชทัณฑ์ก็จะสอบสวน เรื่องราวยังเรือนจำที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษ และเสนอความเห็นให้ รมว.ยุติธรรม ลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างไร ก็จะส่งผลฎีกาให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการ และแจ้งผลให้ผู้ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทราบต่อไป

“กรณีเดียวที่คุณทักษิณจะออกจากเรือนจำได้ คือต้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องเข้าไปในคุกก่อน แต่ทั้งหมดนี้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ทนายความคนเดิมกล่าว

อภัยโทษ

AFP/Getty Images ผู้คุมเฝ้าดูแลผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เรือนจำกลาง จ.นราธิวาส ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสมหามงคลพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี 2562

 

หนังสือ “คู่มือ การขอพระราชทานอภัยโทษ” จัดทำโดยสำนักทัณฑปฏิบัติ ส่วนอภัยโทษ ระบุตอนหนึ่งว่า ในการพระราชทานอภัยโทษ อาจเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมดโดยให้ปล่อยตัวไป หรือพระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน เช่น ลดโทษจากประหารชีวิต เป็น จำคุกตลอดชีวิต หรือลดโทษจากกำหนดระยะเวลาต้องโทษเดิมลง ทั้งนี้การพระราชทานอภัยโทษนี้ จะมีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษลงมาเป็นการเฉพาะ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

หากมีพระราชกระแสให้ยกฎีกา จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจนพ้น 2 ปีนับแต่วันถูกยกครั้งก่อน

สอดคล้องกับความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ว่า การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว “ขอเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปัญหาคือเมื่อขอไปแล้วถ้าหากถูกยก ถ้าจะขออีกต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี” แต่ถ้าเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษแบบครอบจักรวาลคือ การออก พ.ร.ฎ. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ใครอยู่ในเกณฑ์เหล่านั้นให้ว่ากันไป

“ในขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกานั้น แต่อาจจะมีในปีหน้า ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายวิษณุกล่าว

4. ระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ใช้กับทักษิณไม่ได้

วานนี้ (7 มิ.ย.) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ผู้ประกาศว่า “ขอกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” ในเดือน ก.ค. ให้สามารถไปกักกันตัวในสถานที่อื่น นอกจากเรือนจำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ต่างออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว

นายวิษณุอธิบายว่า การกักกันไม่ใช่โทษตามกฎหมายไทย เพราะโทษตามกฎหมายไทยมีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ และริบทรัพย์สิน ซึ่งกักกันไม่ได้อยู่ใน 5 อย่างดังกล่าว แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัย กรมราชทัณฑ์จึงต้องออกระเบียบมากำหนดว่าจะกักกันที่ไหน อย่างไร

“เป็นคนละอย่างกับเรื่องโทษ หากศาลสั่งจำคุก จะไปเปลี่ยนเป็นกักกันไม่ได้… แต่คนบางส่วนเข้าใจว่าการกักกันสามารถรวมกับโทษได้ แล้วไปคิดถึงเคสนักโทษกลับมา เข้ามามอบตัว และไปกักกันที่บ้าน อย่างนั้นก็ไม่ใช่ จะใช้ในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะคุณต้องโดนโทษ ไม่ได้โดนกักกัน” รองนายกฯ กล่าว

นายวิษณุย้ำด้วยว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับล่าสุด ไม่สามารถโยงกับกรณีนายทักษิณได้ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า นโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม ที่ว่าหากมีโทษและให้ไปรับโทษโดยกักตัวไว้ที่บ้านได้ ขณะนี้ยังไม่มีระเบียบออกมา

มีเพียงกฎกระทรวงยุติธรรมปี 2552 ออกในสมัยนายนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม ว่า คนที่ต้องถูกขัง 3 ประเภท ให้เปลี่ยนเป็นไปขังที่บ้านได้ ได้แก่ 1. คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 2. คนที่ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุก และรับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 และ 3. หญิงมีครรภ์ที่ถูกศาลสั่งประหารชีวิต แต่ยังไม่คลอด

นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารข่าวชี้แจงประเด็นเดียวกันนี้ โดยระบุตอนหนึ่งว่า “การกักกัน” มิใช่การจำคุกนอกเรือนจำ” แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยที่ศาลอาจมีคำพิพากษาเพิ่มเติมจากโทษทางอาญาที่ลงแก่จำเลย ส่วน “ผู้ต้องขัง” ซึ่งเป็นผู้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล จะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด

โฆษกกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีผู้ถูกกักกันอยู่ในความดูแล 57 ราย แบ่งเป็น ชาย 51 ราย และหญิง 6 ราย และจากสถิติที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้ถูกกักกันเป็นบุคคลจรจัด ไร้บ้าน ทำความผิดซ้ำในคดีลักทรัพย์ (ลักเล็กขโมยน้อย) เป็นหลัก พร้อม “ขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข่าวลือที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง”

5. โทษจำคุก 10 ปีที่รออยู่

หญิงอ้อ อิ๊ง

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย /คุณหญิงพจมาน กับ แพทองธาร ระหว่างไปใช้สิทธิลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2556

 

นายทักษิณไปใช้ชีวิตในต่างแดน 17 ปี ภายหลังพ้นจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 23 ด้วยรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

เขาถูกตั้งข้อหาทุจริตในหลายคดี ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 คดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ทว่ามีอยู่ 1 คดี ที่คดีขาดอายุความไปแล้ว เหลือโทษจำคุกรวม 10 ปี

  • คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี (คดีขาดอายุความแล้ว)
  • คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือที่เรียกกันว่า “คดีหวยบนดิน” ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
  • คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอกซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาทให้แก่เมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
  • คดีให้นอมินีถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ก่อนหน้านี้เมื่อ 28 ก.พ. 2551 นายทักษิณเคยเดินทางกลับเข้าประเทศแล้วครั้งหนึ่ง แล้วปรากฏภาพ “กราบแผ่นดิน” ซึ่งในเวลานั้น เขาตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ภริยา ศาลอนุมัติให้ประกันตัว ก่อนที่เจ้าตัวจะเบี้ยวนัดให้มารายงานตัวต่อศาล 11 ส.ค. 2551 และหนีคดีไปใช้ชีวิตในต่างแดน ไม่เคยเดินทางกลับบ้านเกิดอีกเลย

ไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง 2566 นายทักษิณได้ประกาศว่าจะเดินทางกลับไทยในเดือน ก.ค. นี้ โดยให้เหตุผลว่าตัดสินใจเอง “ด้วยความผูกพันกับครอบครัว แผ่นดินเกิด และเจ้านายของเรา”

“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” นายทักษิณทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์เมื่อ 9 พ.ค. และย้ำว่า ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย (พท.) และจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย

อย่างไรก็ตามเมื่อผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ออกมาว่า พท. ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ประสบความพ่ายแพ้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าบิดาของอุ๊งอิ๊งจะยังเดินทางกลับบ้านเกิดตามกำหนดการเดิมหรือไม่

น.ส.แพทองธารถูกถามเรื่องนี้หลายครั้ง ล่าสุดเมื่อ 8 มิ.ย. เธอยังยืนยันคำเดิมในเดือน ก.ค. “แต่ต้องดูสถานการณ์ประกอบด้วย”

“ก็อยากให้กลับมาแล้วเป็นเรื่องดี ๆ ไม่อยากกลับมาแล้วกำลังมีความวุ่นวายอยู่ ต้องดูให้เหมาะสมมากกว่า ไม่ได้มีปัจจัยอะไรที่ทำให้กลับหรือไม่กลับ” บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณกล่าว

น.ส.แพทองธารบอกด้วยว่า ในส่วนของครอบครัว ต้องเตรียมความพร้อมไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกสบาย หรือการต้อนรับ โดยคิดไว้หลายแบบ แต่พยายามคิดด้านบวกเอาไว้ หลัก ๆ ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย “แต่รอให้ใกล้กว่านี้ ท่านคงส่งสัญญาณมาว่าจะให้เราเตรียมอะไรบ้าง ตอนนี้ เราเตรียมโดยไม่มีหลักการ เพียงแค่จะต้อนรับกลับบ้านเท่านั้น”


หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว