ประโยคคุ้นหูที่ว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริงอีกครั้ง หลังบุคลากรทางการแพทย์ของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และดินแดนไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร รายงานว่าสถิติคนหัวใจวายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พุ่งขึ้นสูงที่สุดเป็นประจำทุกวันจันทร์ในทุกสัปดาห์
มีการรายงานข้อมูลข้างต้น ในที่ประชุมประจำปีสมาคมโรคหัวใจและหลอดเลือดอังกฤษ (BCS) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยบุคลากรทางการแพทย์ของสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือระบุว่า มีผู้ป่วยกว่า 10,000 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในพื้นที่รับผิดชอบของพวกเขาเป็นประจำในวันดังกล่าว
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการหัวใจวายชนิดรุนแรงที่สุดที่เรียกว่า ST-segment elevation myocardial infarction (STEMI) หรือภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่พบการยกตัวผิดปกติในส่วน ST ของหัวใจ โดยหลอดเลือดหัวใจเส้นใหญ่เกิดการอุดตันพร้อมกันทั้งหมด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างและตายลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อมูลสถิติที่ได้จากการติดตามศึกษาระหว่างช่วงปี 2013-2018 ทำให้ไม่อาจเชื่อมโยงปรากฏการณ์นี้เข้ากับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดชนิด mRNA ซึ่งคนบางกลุ่มมองว่า อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือขาดเลือดได้
ดร.แจ็ก ลัฟฟาน ผู้นำทีมวิจัยจากกองทุนดูแลสุขภาพและสังคมเบลฟาสต์ (BHSCT) แถลงว่า “เราพบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างช่วงเวลาเริ่มต้นสัปดาห์ของการทำงาน กับการเกิดภาวะหัวใจวายชนิดรุนแรงแบบ STEMI”
“แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุร่วมกัน แต่ปัจจัยหนึ่งที่ทรงอิทธิพลและมีความสมเหตุสมผลมากที่สุด ซึ่งเคยมีงานวิจัยในอดีตระบุถึงไว้แล้วเป็นจำนวนมาก คือวงจรชีวิตของผู้ป่วยที่ส่งผลทางจิตวิทยาเป็นประจำทุกสัปดาห์” ดร.ลัฟฟาน กล่าว
อาการซึมเศร้าวิตกกังวลในช่วงใกล้เริ่มต้นสัปดาห์การทำงานหรือ “มันเดย์ บลูส์” (Monday blues) ซึ่งมักเกิดขึ้นในวันอาทิตย์และวันจันทร์นั้น เคยมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์กันมาบ้างแล้วในอดีต แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ เพราะหากเกิดจากความเครียดในการทำงานเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะเกิดอาการนี้ในวันทำงานอื่น ๆ ของสัปดาห์ได้เช่นกัน
เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ภาวะหัวใจวายในวันจันทร์มักเกิดขึ้นในช่วงเริ่มการปรับเวลาออมแสง (Daylight Saving Time – DST) ของซีกโลกตะวันตก ซึ่งจะปรับนาฬิกาให้เดินเร็วขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากช่วงกลางวันที่ยาวนานขึ้นในฤดูร้อนของทุกปี ทำให้คนที่นอนมากนอนนานในวันอาทิตย์ปรับตัวไม่ทัน เมื่อถึงเวลาต้องตื่นไปทำงานเร็วเป็นพิเศษในเช้าวันจันทร์
แม้จะมีผลการศึกษาวิจัยดังข้างต้น แต่ก็ยังไม่สามารถใช้อธิบายภาวะหัวใจวายวันจันทร์ในทุกกรณีได้ จึงจำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป โดย ศ. นพ.นิเลศ สามานี จากมูลนิธิโรคหัวใจอังกฤษ (BHF) บอกว่า
“ทุก 5 นาที จะมีผู้ป่วยหัวใจวาย 1 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักร ด้วยอาการรุนแรงถึงขั้นเสี่ยงจะเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างวงจรชีวิตของผู้คนในรอบสัปดาห์กับภาวะดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งจะช่วยป้องกันและรักษาชีวิตผู้คนจำนวนมากในอนาคต”
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว