แบร์ลุสโคนี: นักเต้นระบำเปลื้องผ้า-ปาร์ตี้มั่วเซ็กส์ ย้อนชีวิตสุดอื้อฉาวอดีตนายกฯ อิตาลีผู้ล่วงลับ

สังคมอิตาลีและทั่วโลก ต่างทราบถึงบทบาทของ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลีผู้ล่วงลับ ที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง แต่อันที่จริง สิ่งที่ถูกกล่าวขานอย่างมากเกี่ยวกับ อดีตนายกฯ ผู้นี้ กลับเป็นชีวิตส่วนตัวที่ทั้งดูโลดโผน แต่ก็เปี่ยมไปด้วยสีสัน

ในช่วงชีวิตของ แบร์ลุสโคนี เขามีคู่ครองและคนรักหลายคน ภริยาคนที่ 2 ของเขา คือ แวโรนิกา ลาริโอ หย่ากับเขาในปี 2010 หลังกล่าวหาว่า เขาโกหกเรื่องมีความสัมพันธ์กับผู้เยาว์

ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเซ็กส์ต่าง ๆ มากมายที่ แบร์ลุสโคนี เข้าไปข้องเกี่ยว มหากาพย์ประเด็นปาร์ตี้ “บุงกา บุงกา” (Bunga Bunga) ที่เขาจัดที่คฤหาสน์อาคอร์ ในเมืองมิลาน ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวที่โด่งดังที่สุด

ปาร์ตี้เซ็กส์สุดอื้อฉาวนี้ ตกเป็นข่าวในปี 2010 เมื่อ แบร์ลุสโคนี โทรศัพท์ไปยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่งด้วยตัวเอง เพื่อขอให้ปล่อยตัวเด็กหญิงชาวโมร็อกโก วัย 17 ปี ชื่อ คาริมา เอล มาห์รูก ที่ถูกจับในเมืองมิลาน ฐานต้องสงสัยโจรกรรมเครื่องเพชร

.

Reuters/คาริมา เอล มาห์รูก เป็นที่รู้จักในชื่อ “รูบี้ นักโจรกรรมหัวใจ”

 

Advertisment

คำร้องขอของ แบร์ลุสโคนี นำมาสู่การปล่อยตัวเด็กหญิง เอล มาห์รูก ได้สำเร็จ แต่กลับกลายเป็นว่า แบร์ลุสโคนี บอกกับตำรวจว่า เธอเป็นหลานสาวของประธานาธิบดีอียิปต์ในเวลานั้น คือ ฮอสนี มูบารัก ทำให้การควบคุมตัวเธอไว้ เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาทางการทูต โดย แบร์ลุสโคนี ให้การต่อศาลว่า เขาเชื่อเช่นนั้นในเวลานั้น

ต่อมา ปรากฏว่า เด็กหญิงคนดังกล่าว เป็นนักเต้นระบำหน้าท้อง และต้องสงสัยค้าบริการทางเพศภายใต้ชื่อ รูบี้ รูบาคูโอรี (Ruby Rubacuori) หรือแปลออกมาได้ว่า “รูบี้ นักโจรกรรมหัวใจ”

Advertisment

เธออ้างว่า ได้รับเงินราว 350,000 บาทจากแบร์ลุสโคนี ในงานปาร์ตี้ที่เขาจัดขึ้น และบอกกับอัยการว่า ปาร์ตี้ดังกล่าว ซึ่งคล้ายกับ ปาร์ตี้มั่วเซ็กส์ ประกอบด้วย แบร์ลุสโคนี และหญิงสาวจำนวนมากที่เปลื้องผ้า และทำพิธีกรรมที่เรียกว่า “บุงกา บุงกา”

.

Reuters/แบร์ลุสโคนี ระบุว่า บุงกา บุงกา มาจากมุขตลกของกัดดาฟี

 

ผู้หญิงหลายคนที่เข้าร่วมปาร์ตี้ดังกล่าว ต่างหวังจะเข้าสู่วงการบันเทิง และปรากฎตัวในช่องโทรทัศน์ที่แบร์ลุสโคนีเป็นเจ้าของ

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถูกเรียกว่า เรื่องอื้อฉาว “รูบี้เกต” และศาลตัดสินว่า แบร์ลุสโคนี มีความผิดในชั้นต้น ฐานจ่ายเงินให้นางมาร์รูก เพื่อให้บริการทางเพศ ทั้งที่ในเวลานั้น เธอมีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อหาดังกล่าว

ส่วนตัวนางมาห์รูกนั้น เธอกล่าวว่า ไม่เคยทำงานเป็นหญิงค้าบริการทางเพศ และปฏิเสธมีเพศสัมพันธ์กับแบร์ลุสโคนี พร้อมระบุว่า อดีตผู้นำอิตาลีเป็นชายที่อ้างว้าง ที่จ่ายเงินเพื่อให้มีผู้หญิงมาอยู่เคียงข้าง

อัตชีวประวัติของ แบร์ลุสโคนี ที่ตีพิมพ์ในปี 2015 อ้างอิงคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่ระบุว่า “บุงกา บุงกา” เป็นคำที่มาจากเรื่องตลกที่อดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย มูอัมมาร์ กัดดาฟี เล่าให้เขาฟัง โดย แบร์ลุสโคนี และกัดดาฟี มีความสัมพันธ์ฉันเพื่อน ก่อนที่ กัดดาฟีจะถูกโค่นอำนาจและสังหารในปี 2011

.

Reuters/แบร์ลุสโคนี มีความสัมพันธ์อันดีกับปูติน

 

ไม่ว่าความหมายที่แท้จริงของ “บุงกา บุงกา” จะเป็นอะไร แต่ ปาร์ตี้ฉาว “บุงกา บุงกา” ถือเป็นมลทินยากลบเลือนต่อชื่อเสียงของแบร์ลุสโคนี จนกระทั่งเดือน ก.พ. 2023 ที่ศาลตัดสินยกฟ้องข้อหาติดสินบนพยานให้โกหกเกี่ยวกับปาร์ตี้ดังกล่าว

แบร์ลุสโคนี โพสต์ในอินสตาแกรม ภายหลังพ้นผิด ระบุว่า นี่เป็นการยุติ “ความทรมานจากการสาดโคลนและความเสียหายทางการเมืองที่รุนแรงเกินกว่าจะประเมินได้”

การถึงแก่อสัญกรรม

แบร์ลุสโคนี ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 86 ปี หลังป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมาระยะหนึ่ง จนล่าสุด มีอาการปอดติดเชื้อ โดยเขาถึงแก่อสัญกรรมที่โรงพยาบาลในเมืองมิลาน

แม้จะเผชิญเรื่องอื้อฉาวมากมาย แต่ แบร์ลุสโคนี ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของอิตาลี ในยุคหลังสงคราม

หลังชนะเลือกตั้งในปี 1994 มหาเศรษฐีธุรกิจสื่อขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล 4 สมัย แต่ไม่ติดต่อกัน

เขาเกิดในปี 1936 ที่เมืองมิลาน เริ่มต้นอาชีพด้วยการขายเครื่องดูดฝุ่น ก่อนจะก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งต่อมาเขาถือเป็นชายผู้ร่ำรวยที่สุดของอิตาลีคนหนึ่ง สร้างอาณาจักรธุรกิจ ที่รวมถึงช่องโทรทัศน์มากมาย สำนักพิมพ์ และบริษัทโฆษณา

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีชื่อเสียงระดับโลกจากการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล เอซี มิลาน ที่เขาช่วยให้รอดพ้นการล้มละลายในปี 1986 ก่อนที่เขาจะเข้าสู่แวดวงการเมือง อย่างไรก็ดี เขาขายสโมสรออกไปเมื่อปี 2017

แบร์ลุสโคนี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกด้วยมุขตลกแบบหยาบโลน และมีความสัมพันธ์อันดีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว