ทีมข่าวสืบสวนของบีบีซี ตรวจสอบพบ การลักพาตัวและทรมานผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานที่กำลังหนีจากรัฐบาลตาลีบัน โดยแก๊งอาชญากรรม ขณะกำลังพยายามข้ามแดนบริเวณรอยต่ออิหร่านและตุรกี เพื่อลี้ภัยไปยังยุโรป
แก๊งเหล่านี้ได้ส่งวิดีโอขณะทำการทรมานไปให้ครอบครัวของผู้อพยพที่ถูกจับเป็นตัวประกัน เพื่อเรียกค่าไถ่
*คำเตือน: บทความนี้มีการลงรายละเอียดถึงความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ที่อาจทำให้ผู้อ่านไม่สบายใจ
กลุ่มผู้อพยพชาวอัฟกันถูกมัดรวมกันด้วยโซ่ตรวนที่มือและคอ พวกเขาคุดคู้อยู่บนยอดภูเขา กำลังร้องขอการปล่อยตัว นี่คือภาพที่ปรากฏในวิดีโอ
“ใครก็ตามที่ดูวิดีโอนี้ ผมถูกลักพาตัวตั้งแต่เมื่อวาน พวกเขาต้องการเงิน 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับไถ่ตัวพวกเราแต่ละคน พวกเขาทุบตีเราทั้งวันทั้งคืนแบบไม่หยุดเลย” ชายคนหนึ่งในคลิปวิดีโอกล่าว ริมฝีปากของเขากลบด้วยเลือด และใบหน้าคลุกฝุ่น
อีกคลิปวิดีโอ เป็นภาพของชายกลุ่มหนึ่งที่ร่างกายเปลือยเปล่าทั้งหมด กำลังหมอบคลานอยู่บนพื้นหิมะ และมีคนใช้แส้เฆี่ยนตีอยู่ข้างหลัง
“ผมมีครอบครัว อย่าทำแบบนี้กับผม ผมมีภรรยาและลูก ได้โปรดเมตตาผมด้วย” ชายคนหนึ่งในกลุ่มนี้ร่ำไห้ ก่อนที่เขาจะถูกแก๊งโจรเรียกค่าไถ่ล่วงละเมิดทางเพศโดยมีมีดจี้คอเอาไว้
วิดีโอที่น่ากระอักกระอ่วนใจเหล่านี้ คือหลักฐานถึงขบวนการอาชญากรที่กำลังเติบโต แก๊งในอิหร่านที่พุ่งเป้าลักพาตัวผู้อพยพชาวอัฟกัน ที่พยายามหนีเข้าไปในยุโรป
เส้นทางการอพยพ ซึ่งเริ่มต้นจากอัฟกานิสถานเข้าสู่อิหร่าน ไปยังชายแดนตุรกีเพื่อต่อไปยังยุโรป เป็นเส้นทางที่ใช้มานานหลายทศวรรษ
ในความเป็นจริงแล้ว ผมเอง (ผู้เขียน) ก็ใช้เส้นทางนี้ตอนอายุ 12 ปี ขณะที่เดินทางออกจากอิหร่านไปสหราชอาณาจักร หลังจากได้รับสถานะผู้ลี้ภัย
แต่ในปัจจุบัน เส้นทางนี้อันตรายมากขึ้นกว่าในอดีต
กลุ่มผู้อพยพที่เดินทางจากอิหร่านเข้าไปยังตุรกี ต้องเดินเท้าเป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่ามกลางสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาแห้งแล้ง ไม่มีร่มเงาของต้นไม้ ซึ่งพื้นที่โล่งแจ้งเหล่านี้ ยิ่งยากต่อการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มอาชญากรที่อยู่ในพื้นที่
ประชาชนหลายแสนรายได้หนีภัยออกจากอัฟกานิสถาน หลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอำนาจในเดือน ส.ค. 2021 เปิดช่องให้แก๊งอาชญากรฉวยโอกาสลักพาตัวผู้คนเหล่านี้
ส่วนใหญ่แล้วแก๊งผู้ก่อเหตุจะร่วมมือกับกลุ่มผู้ลักลอบพาคนข้ามพรมแดน โดยจะลักพาตัวผู้อพยพที่บริเวณชายแดนฝั่งประเทศอิหร่าน ก่อนขู่เอาเงินจากกลุ่มผู้เคราะห์ร้ายที่ได้จ่ายเงินไปแล้วหนึ่งก้อน เพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยระหว่างเดินทาง
ทีมข่าวบีบีซีได้รับข้อมูลการทรมานกลุ่มผู้อพยพในพื้นที่ 10 แห่ง บริเวณชายแดน นักเคลื่อนไหวรายหนึ่ง ซึ่งเก็บบันทึกข้อมูลกรณีลักพาตัวและทรมานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า เขาได้รับวิดีโอการซ้อมทรมานมากถึง 2-3 คลิปต่อวัน ในช่วงที่เกิดเหตุนี้บ่อยครั้ง
ในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งกลางกรุงอิสตันบูลของตุรกี บีบีซีได้พบกับอามินา ผู้อพยพหญิงชาวอัฟกัน
เส้นทางชีวิตของอามินา เธอเป็นอดีตตำรวจในอัฟกานิสถานที่หน้าที่การงานกำลังไปได้ดี แต่ได้หลบหนีออกจากประเทศเมื่อเธอรู้ว่า กลุ่มตาลีบันที่เคยเป็นภัยคุกคามชีวิตประชาชนมาก่อนหน้านี้ กำลังกลับมาครองอำนาจ
อามินา ซึ่งสวมใส่ผ้าคลุมศีรษะสีม่วง เล่าให้บีบีซีฟังถึงประสบการณ์ช่วงที่เธอและครอบครัวถูกแก๊งลักพาตัว จับเป็นตัวประกันที่แถบชายแดนด้วยเสียงแผ่วเบา
“ฉันกลัวมาก ฉันกลัวมากจริง ๆ เพราะตอนนั้นฉันก็ท้องอยู่ด้วย และที่นั่นก็ไม่มีหมอเลยแม้แต่คนเดียว ตอนนั้น เรายังได้ยินข่าวเรื่องของเด็กผู้ชายที่โดนข่มขืนหลายคนด้วย”
ฮาจิ พ่อของอามินา บอกว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุส่งวิดีโอชายอัฟกันที่ถูกซ้อมทรมานมาให้เขา หลังจากอามินาและสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ถูกลักพาตัวไป
“นี่คือเหตุการณ์ที่ผมเจอมา พวกเขาส่งวิดีโอมาเตือนและบอกผมว่า ถ้าไม่จายเงินค่าไถ่ เราจะฆ่าลูกสาวและลูกเขยของคุณ” เขากล่าว
ฮาจิ ได้ขายบ้านในอัฟกานิสถานเพื่อเอาเงินไปไถ่ตัวลูกสาวและครอบครัวออกมา หลังจากนั้นพวกเขาได้พยายามเข้าประเทศตุรกีอีกครั้ง และทำได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ 8 วันอันแสนสาหัสของอามินา เป็นสิ่งที่เธอไม่มีวันลืม เพราะเธอได้สูญเสียลูกในท้องไป
นอกจากภัยจากแก๊งลักพาตัวแล้ว อามินาและผู้อพยพชาวอัฟกันคนอื่น ๆ ยังต้องเจออุปสรรคใหญ่ระหว่างการเดินทาง นั่นก็คือกำแพง
กำแพงกั้นชายแดนตุรกีและอิหร่านที่ทอดยาวคล้ายกับงูเลื้อย กินระยะทางกว่าครึ่งของระยะทางของชายแดนทั้งหมด กำแพงยาวเหยียดนี้มีความสูง 3 เมตร กั้นด้วยลวดหนามและเซ็นเซอร์ไฟฟ้า อีกทั้ง ยังมีหอคอยตรวจตราของสหภาพยุโรปตั้งอยู่ด้วย
ตุรกีเริ่มก่อสร้างกำแพงในปี 2017 เพื่อหยุดยั้งการลักลอบเข้าประเทศของผู้อพยพ อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้อพยพก็ยังหลั่งไหลมาเรื่อย ๆ
อามินาและผู้อพยพหลายคน บอกบีบีซีว่า เธอและคนอื่น ๆ ต้องตกอยู่ในอันตรายจากแก๊งลักพาตัวในฝั่งอิหร่าน หลังเจ้าหน้าที่ทางการตุรกีได้ผลักดันพวกเธอออกจากตุรกีในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งข้อกล่าวหานี้ได้รับการยืนยันจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายองค์กร
มาห์มุต คากัน ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวตุรกี ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยหลายคน ยืนยันว่า การผลักดันผู้อพยพของตุรกีเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการช่วยกลุ่มอาชญากรให้ทำอันตรายต่อผู้คน
“ความรุนแรงเหล่านั้นที่เกิดขึ้นล้วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันออกนอกปรเทศ เพราะมันทำให้กลุ่มผู้อพยพที่เปราะบาง ยิ่งตกอยู่ในอันตรายได้ทุกรูปแบบ” เขาระบุ
ทางการตุรกี ไม่ได้ตอบรับการขอคำชี้แจงจากบีบีซีเกี่ยวกับข้อกล่าวหานี้ แต่รัฐบาลตุรกีเคยปฏิเสธเรื่องการผลักดันกลับผู้อพยพ ต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนมาก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้ว พร้อมอธิบายว่ากิจกรรมใด ๆ ของรัฐบาลที่จะปกป้องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นไปตามหลักการของการจัดการชายแดน
ก่อนการสร้างกำแพงป้องกันคนอพยพเข้าตุรกี คนท้องถิ่นจำนวนมากดำรงชีพด้วยการค้าของเถื่อนบริเวณชายแดน การค้าจำนวนมากเหล่านั้นได้หายไปแล้วในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า คนเหล่านี้บางส่วนได้หันไปเป็นแก๊งลักพาตัวหรือค้ามนุษย์กลุ่มผู้อพยพแทน
ในเมืองแวน ของตุรกี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนใกล้กับอิหร่านมากที่สุด และเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ค้ามนุษย์ผู้อพยพ บีบีซีได้พบกับ อาห์เหม็ด ชายหนุ่มชาวอัฟกัน ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ค้าของเถื่อนเรื่องการเดินทางข้ามพรมแดน
พี่ชายของอาห์เหม็ดและครอบครัว ถูกลักพาตัวในฝั่งอิหร่าน ขณะพยายามหนีภัยจากกลุ่มตาลีบันเมื่อปีที่แล้ว อาห์เหม็ดระบุว่า เขาได้รับโทรศัพท์จากแก๊งเรียกค่าไถ่ให้หาเงินมาไถ่ตัวพี่ชายออกไป
“ผมบอกว่า เราไม่มีเงิน คนลักพาตัวก็ตีพี่ชายของผม ผมได้ยินเสียงทางโทรศัพท์” อาห์เหม็ดกล่าว
อาห์เหม็ด ขายทรัพย์สินของครอบครัวเพื่อเอามาจ่ายค่าไถ่ แต่ประสบการณ์เลวร้ายครั้งนั้น ก็ไม่ได้หยุดยั้งเขาจากการอพยพหนีภัยในอีก 6 เดือนต่อมา เพราะหมดหนทางในการอยู่ในประเทศที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ หลังการเข้ายึดอำนาจจากตาลีบัน
ในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถาน บีบีซี ยังได้พบกับซาอิด ผู้พยายามออกจากประเทศเพื่อไปตุรกีมาแล้ว 6 ครั้ง แต่ล้มเหลว เพราะถูกนายหน้าหลอก ว่าจะทำเอกสารปลอมเข้าตุรกีให้ แต่กลับถูกหักหลังด้วยการเอาช่องทางติดต่อของเขาไปขายให้กับแก๊งลักพาตัว ซึ่งทรมานและเรียกค่าไถ่เขาเป็นจำนวนเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
“ผมกลัวมาก ๆ ตอนนั้น พวกเขาจะทำอะไรกับผมก็ได้ จะควักลูกตาผมออกไป ขายไต หรือกระทั่งควักหัวใจเขาก็ทำได้หมด” ซาอิด ระบุ
แต่ซาอิดบอกว่า สิ่งที่เขากลัวที่สุดคือการสูญเสียศักดิ์ศรีของตัวเองไป หลังจากได้ยินพวกแก๊งเรียกค่าไถ่พูดว่า จะข่มขืนเขาและส่งวิดีโอให้กับครอบครัว ในท้ายที่สุด เขาหนีออกมาได้ หลังจากจ่ายเงินไป 500 ดอลลาร์สหรัฐ
บีบีซี ได้ขอคำชี้แจงจากรัฐบาลอิหร่านว่าได้ดำเนินการอะไร เพื่อทลายแก๊งลักพาตัวในแถบชายแดน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ นอกจากนี้ บีบีซียังถูกระงับไม่ให้รายงานข่าวในอิหร่าน ดังนั้น จึงไม่สามารถเข้าไปยังอิหร่านเพื่อสอบสวนเรื่องนี้เพิ่มเติมได้
หลายสัปดาห์ถัดมาห ลังจากบีบีซีสัมภาษณ์เหยื่อเหล่านี้ ซาอิดได้ติดต่อกลับมาเพื่อแจ้งว่าเขาได้กลับมาหาทางอพยพออกจากอิหร่านอีกครั้ง และเดินทางถึงกรุงเตหะรานแล้ว นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว และเรายังไม่ได้รับการติดต่อจากเขาอีกเลย
สำหรับผู้อพยพชาวอัฟกันที่บีบีซีเจอในตุรกีอย่างอามินา เธอพยายามที่จะมองอนาคตในแง่ดี
“ฉันจะไม่ยอมแพ้ ฉันรู้ว่าฉันจะกลายเป็นแม่… ฉันรู้ว่าฉันจะต้องเข้มแข็ง”
*บีบีซีได้เปลี่ยนชื่อของผู้ถูกสัมภาษณ์ในรายงานข่าวชิ้นนี้เพื่อความปลอดภัยของพวกเขา
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว