
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวหลายราย ระบุว่า รัฐบาลรักษาการของไทยเสนอแผนการทำงานของอาเซียนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมาในแบบเต็มรูปแบบ โดยการหารืออย่างไม่เป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.)
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- เปิด “ผังน้ำ” ประกบผังเมือง เขย่าราคาที่ดินทั่วประเทศ
รายงานข่าวเอ็กซ์คลูซีฟของรอยเตอร์อ้างว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวแห่งนี้รวมทั้งแหล่งข่าวสามรายได้เห็นจดหมายเชิญของทางการไทยโดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงบรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนลงวันที่ 14 มิ.ย.
แหล่งข่าวสองรายที่รับทราบถึงการประชุมที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้บอกกับรอยเตอร์ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาได้รับคำเชิญดังกล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สอบถามผ่านโทรศัพท์ไปยังโฆษกกองทัพเมียนมาพบว่าไม่มีผู้รับสาย
ขณะที่แหล่งข่าวทั้งสามคนบอกรอยเตอร์ว่า อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ต่อมานักข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์สอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียได้คำตอบว่า “ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับการเชิญหารือมาก่อน”
สำนักข่าวแห่งนี้ใช้ความพยายามในการตรวจสอบอีกทางด้วยการสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ของสหรัฐอเมริกา
นายวิเวียน บาลากริชนัน รมว.การต่างประเทศสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์ต่อรายงานข่าวดังกล่าวว่า “เนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมายังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร ที่จะกลับเข้าไปมีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลทหารเมียนมาทั้งในระดับการประชุมสุดยอด หรือ แม้แต่ในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ”
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
เกิดคำถามต่อท่าทีรัฐบาลรักษาการของไทย
เว็บไซต์สำนักข่าวอิรวดี (Irrawaddy) ซึ่งเป็นสำนักข่าวอิสระของเมียนมา ระบุว่า ได้เห็นจดหมายเชิญฉบับดังกล่าวเช่นกัน แต่ระบุว่า การหารือไม่เป็นทางการจะจัดขึ้นที่ไทยในวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ซึ่งไม่ตรงกับที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน
ทว่า ข้อความในเอกสารดังกล่าว ทั้งรอยเตอร์และอิรวดีมีเนื้อหาตรงกันที่อ้างถึงความเห็นของนายดอนว่า การหารือดังกล่าวมีขึ้นโดยหวังว่าจะเป็นก้าวแรก ๆ ของกระบวนการสันติภาพในเมียนมา และอ้างว่าการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนที่แล้ว มีประเทศสมาชิกรายหนึ่งเสนอให้กลับไปรื้อฟื้นการเกี่ยวพันเมียนมาในระดับผู้นำ
นอกจากนี้ทั้งรอยเตอร์และอิรวดีอ้างอิงถึงถ้อยคำของ รมว. ต่างประเทศของไทยอีกว่า “ท่าทีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศและบางประเทศเต็มใจที่จะพิจารณาแนวทางนี้ และไม่พบว่า มีผู้ใดคัดค้านอย่างชัดเเจ้ง”

อย่างไรก็ตาม จากท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลรักษาการของไทยในเรื่องดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายอิกอร์ บลาเซวิค ที่ปรึกษาอาวุโสจากศูนย์ประชาสังคมชาวปราก (Prague Civil Society Centre) ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดี ซึ่งเขาประนามการจัดการหารือดังกล่าวของนายดอน ว่าเป็นการตัดสินใจที่วู่วามและเกิดขึ้นจากฝ่ายเดียว ที่อาจจะเหตุร้ายแรงต่อเอกภาพของอาเซียนและฉันทามตินานาประเทศ ในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า “ประชาชนไทยก็ควรเครียดเพราะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยอย่างมากด้วยครับ” ประกอบกับการแชร์ข้อความของนายสุทธิชัย หยุ่น สื่ออาวุโสที่ทวีตข้อความเกี่ยวกับการที่ รมว.ต่างประเทศของไทยร่อนจดหมายเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศมาร่วมหารือเรื่องดังกล่าว
https://twitter.com/chaturon/status/1669851111719837696
นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้เเสดง “ความจองหอง” โดยการเชิญฝ่ายรัฐบาลทหารของเมียนมา ที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างหลีกเลี่ยง
“ไม่เเปลกใจเลยที่ความพยายามของอาเซียนถูกขัดขวางในทุกก้าวเพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา” นายโรเบิร์ตสันกล่า
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว