สุขภาพจิต : รู้จัก ECT การบำบัดอาการจิตเวชด้วยไฟฟ้าที่นักร้อง UrboyTJ กำลังรับการรักษาป่วยซึมเศร้า

Getty Images

Electroconvulsive Therapy หรือ ECT ที่นักร้องแรปเปร์ชื่อดัง “ยัวร์บอยทีเจ” จิรายุทธ ผโลประการ โพสต์บนเฟซบุ๊กถึงวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น คือ วิธีการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า

Electroconvulsive therapy เป็นการรักษาทางจิตเวชวิธีหนึ่ง โดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองของผู้ป่วยทำให้เกิดอาการชัก เพื่อรักษาอาการทางจิตเวชให้ดีขึ้น โดยโรคทางจิตเวช คือ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่างๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งโรคทางจิตเวชที่คนไทยเป็นกันมาก เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคแพนิก โรคจิตเภท โรคเครียด เป็นต้น

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธี ECT โดย พ.ญ. รัตนา สายพานิชย์ ระบุถึงกลไกการรักษาด้วยวิธีนี้ว่า ECT ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง ระหว่างที่ผู้ป่วยชัด จะพบว่า มีเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น มีเมตาบอลิสม์สูงขึ้น มีการใช้ออกซิเจน และกลูโคสมากขึ้น

แต่หลังจากชักแล้ว เมตาบอลสม์ การใช้ออกซิเจน กลูโคส รวมทั้งเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะน้อยลง โดยเฉพาะบริเวณสมองใหญ่ส่วนหน้า (Frontal lobe) จะลดลงอย่างมาก ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ภาวะที่มีการลดลงของเมตาบอลิสม์นี้เอง คือ สิ่งสำคัญของการรักษาด้วยวิธีนี้

เมื่อใดที่แพทย์จะรักษาด้วยวิธี ECT

บทความของ พ.ญ. รัตนา ระบุถึงข้อบ่งใช้ว่า โดยทั่วไป มักใช้ในผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงอย่างมาก มีปัญหาในการให้ยา หรือรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และมีข้อแทรกซ้อนต่าง ๆ

สำหรับโรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอารมณ์เศร้าอย่างมาก ถึงขนาดคิดฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น แยกตัว มีปัญหาการนอน ไม่มีเรี่ยวแรง ร้องไห้ไม่ยอมหยุด ก็ควรพิจารณาให้การรักษาด้วย ECT เพราะการให้ยาแก้เศร้า ต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ จึงจะได้ผล ซึ่งอาจล่าช้าเกินไป สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้

การรักษายาวนานแค่ไหน

ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาประเภทใด จำนวนครั้งและปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้เท่าใด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งจิตแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินก่อนการรักษาด้วยไฟฟ้า

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษา

อาการปวดศีรษะ อาการมักจะไม่รุนแรง แต่จะมีอาการจะมากในช่วง 2 ชั่วโมงหลังการรักษา และหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง มักปวดแบบปวดตุ๊บๆ บริเวณหน้าผาก บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ โดยให้ยาแก้ปวด

คลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นผลจากอาการปวดศีรษะ หรือยาระงับความรู้สึกที่ได้รับ หากมีอาการนี้ แพทย์ก็จะให้ยาลดอาการคลื่นไส้

ปวดกล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการสั่นไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการชักก็ได้ แพทย์จะให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมกับการให้ยาระงับปวด

การบาดเจ็บในช่องปากและฟัน ได้แก่ การเจ็บบริเวณกราม ฟันโยก การฉีกขาดของอวัยวะในช่องปาก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยวถูกกระตุ้น และเกิดแรงขบบริเวณกราม ซึ่งการใส่อุปกรณ์กันกัด และการจับขากรรไกรล่างของผู้ป่วยให้ปิดสนิท จะช่วยลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้

ภาวะหลงลืม อาจเกิดขึ้นได้ และจะค่อยๆ ฟื้นตัวภายใน 2 สัปดาห์-6 เดือน ทั้งนี้ญาติเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นความจำของผู้ป่วยให้กลับมาเร็วขึ้น

ผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ กระดูกสันหลังยุบตัว กระดูกเคลื่อน การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเอ็นกระดูก ซึ่งพบได้น้อยจากการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้าแบบใช้ยาระงับความรู้สึก

เกิดภาวะอะไรในคนที่คิดฆ่าตัวตาย

เมื่อปี 2564 อมรเทพ สัจจะมุณีวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสุขภาพจิต ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน SATI ผู้เคยผ่านประสบการณ์พยายามฆ่าตัวตายมาสองครั้ง ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า จุดกำเนิดของแอปพลิเคชั่น SATI แอปฯ ที่ทำหน้าที่รับฟังผู้คนที่กำลังเผชิญปัญหาว่า คือ ประสบการณ์ของตัวเขาเองที่ต้องการคนที่จะรับฟังโดยไม่ตัดสิน

“ณ เวลานั้น และเราต้องการเพิ่มให้คนในสังคมของเราเข้าใจวิธีการฟังด้วย”

เมื่อกลางปีที่แล้ว เขายังคงรักษาตัวจากอาการป่วยจิตเภท การพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกเมื่อปี 2557 ความคิดในหัวขณะนั้น อมรเทพบอกว่าการเลือกจบชีวิตเพราะความรู้สึกผิดมากกับการมีชีวิตอยู่

“ช่วงนั้นผมจะใส่เสื้อแขนสั้นไม่ได้เลย เพราะว่าบนข้อมือผมมันจะมีแผลเต็มไปหมด เรารู้สึกสงสารพ่อแม่ที่จะต้องเห็นเราแบบนั้น รู้สึกผิดที่เห็นพ่อเราเครียด แม่เราเครียด ค่าใช้จ่ายในการรักษาตอนนั้นมันก็ไม่ได้ถูก แล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นภาระกับเขามามากแล้ว ถ้าหากว่าเราไม่อยู่เขาอาจจะเศร้าที่เราไม่อยู่ แต่อย่างน้อยเค้าไม่มีภาระที่จะต้องเห็นเราแบบนั้นอีกต่อไป อ่ะครับ อันนั้นเป็นความคิดตอนนั้นเลยว่า งั้น…เราขอ เราขอไม่อยู่แล้วละกัน จะได้ไม่ต้องเป็นภาระให้เขาอีกต่อไป”

ส่วนความพยายามในครั้งต่อมาในปี 2561 อมรเทพเล่าว่า เขาเริ่มโพสต์ข้อความที่รุนแรงมากขึ้นบนเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการได้ยินเสียงหรือความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง จนระบบของเฟซบุ๊กตรวจจับได้และมีข้อความแจ้งเตือนชี้ช่องทางการขอรับคำปรึกษา ทว่าช่องทางนั้นกลับไม่สามารถเข้าถึงได้

“วันที่เราดิ่งที่สุด เราก็เลยโทรไปที่หมายเลขหนึ่ง ที่เป็น suicide advice (สายรับฟังผู้คิดฆ่าตัวตาย) โทรไปปุ๊บ มันไม่มีคนรับสาย พอไม่มีคนรับสาย เราตัดสินใจวางสายแล้วจบชีวิตตัวเองรอบนึง” ครั้งนั้นอมรเทพบอกว่า “เหมือนจะเป็นความกดดันที่ว่าคนไม่เข้าใจเรา เหมือนเรารู้สึกว่าเราผิดไปหมดแล้ว ทำอะไรก็ผิดไปหมดแล้ว ควบคุมอารมณ์ของเราไม่ได้”

“การมีผู้ฟัง มันจะทำให้ซื้อเวลาให้คน ๆ หนึ่ง คิดทบทวนได้ หรือซื้อเวลาในจุดที่เขาคิดว่าเขาอยู่ต่อไม่ได้แล้ว”

……….

ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือระหว่างสององค์กรข่าว