พิธีไหว้ครู : เปิดใจนายกองค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ต่อปมยกเลิกการหมอบกราบในพิธีไหว้ครูและบายศรีสู่ขวัญ

นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดเผยว่า “การยกเลิกการหมอบกราบ” ในพิธีไหว้ครูและบายศรีสู่ขวัญ” ประจำปี 2565 ในวันนี้ (30 มิ.ย.) ไม่ใช่การบังคับและการลดทอนคุณค่าทางวัฒนธรรมเดิม และเคารพสิทธิของนักศึกษาที่ต้องการสืบสานรูปแบบการเคารพต่อครูเช่นเดิม

หลังจากเว้นว่างการจัดพิธีกรรมอันสำคัญของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาร่วมสองปีเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 การกลับมาครั้งนี้ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม โดยเฉพาะหลังจากที่องค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาในช่วง มี.ค. ที่ผ่านมา ประกาศ “ยกเลิกการหมอบกราบ” ในงานพิธีไหว้ครูและบายศรีสู่ขวัญ” โดยเปลี่ยนเป็นการ “ไหว้” แทน

ไม่นานหลังจากข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กขององค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ เผยแพร่ออกไป ความคิดของคนสังคมก็แตกออกเป็นสองฝ่ายทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน จนถึงขณะนี้โพสต์ดังกล่าวมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกือบ 400 ข้อความและแบ่งบันข้อความไปกว่า 2,000 ครั้ง รวมทั้งมีสื่อมวลชนนำไปขยายต่อในระดับประเทศอีกด้วย

คำอธิบายจากองค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ต่อเรื่องนี้คือ ต้องการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียม ที่แฝงไปด้วยความเคารพ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน

หนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์คือ นายวิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ถึงกรณีดังกล่าวว่า “ไม่กราบก็ไม่กราบ​ แต่ในหัวอย่ามีแต่อาจมีแทนสมอง​เพราะการกราบคือการแสดงความเคารพสูงสุดแด่ผู้มีพระคุณ​ เช่น กราบพระสงฆ์​ กราบพระพุทธรูปที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์​ กราบพ่อแม่​ กราบครูอาจารย์​ ฯลฯ

นอกจากกระแสคัดค้านของคนในสังคมบางส่วนแล้ว ประเด็นนี้ก็ยังสร้างความไม่สบายใจให้กับบรรดาผู้บริหารของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วย

องค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ

ที่มาของภาพ, องค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ

นายสุประสิทธิ์ ชินวงษ์ นายกองค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 บอกกับบีบีซีไทยว่า จากการสังเกตการณ์พิธีกรรมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีที่ผ่านมาพบว่า “การหมอบกราบ” เป็นวัฒนธรรมในระบบไพร่ทาสเดิมในสังคมไทย จึงมีคำถามว่าสมควรจะเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมเช่นนี้หรือไม่

“ในการหมอบกราบนั้น เป็นเหมือนกับการน้อมรับสิ่งที่สังคมไทยถูกกดขี่มาโดยตลอด ดังนั้นจึงมองว่า ลองมาเป็นวัฒนธรรมจากการหมอบกราบมาเป็นการไหว้ไหม ซึ่งไม่ได้ลดทอนคุณค่าทางสังคมหรือคุณค่าทางวัฒธรรมนั้นลงเลย เพียงเป็นการเปลี่ยนแบบรูปแบบและวิธีการเท่านั้น” นายกองค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ อธิบาย

นายสุประสิทธิ์ ชินวงษ์ นายกองค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ

ที่มาของภาพ, สุประสิทธิ์ ชินวงษ์

เมื่อถามว่ามติขององค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ ที่ออกมากระทบสิทธิของบุคคลอื่นหรือไม่ เขาตอบว่า ตามหลักการองค์การนักศึกษามีอำนาจมีสิทธิที่ประกาศเรื่องดังกล่าวโดยชอบธรรม เนื่องจากองค์การนักศึกษาเป็นตัวแทนของนักศึกษา ถ้าผู้ใดรู้สึกว่าได้รับผลกระทบในสิทธิก็สามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในระดับสภานักศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบองค์การนักศึกษาอีกที

“ภายในงาน เราไม่บังคับ (ผู้ร่วมงาน) ว่าจะกราบหรือจะไหว้ เพียงประกาศในธีมของงานที่ต้องการให้ไหว้ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมแบบใหม่ที่สร้างสรรค์และยังคงคุณค่าเดิมเอาไว้”

ในแต่ละปีสำงานพิธีไหว้ครูและบายศรีสู่ขวัญ มีนักศึกษารวมงานประมาณ 3,200-3,400 คน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทั้งหมด โดยปีนี้เริ่มต้นราว 12.00 น. นอกจากกิจกรรมทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีขบวนแห่ ขบวนฟ้อนนางรำ และกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ของกลุ่มนักศึกษาคณะต่าง ๆ

พบกันครึ่งทาง

จากแรงกดดันในสังคมและความกังวลใจของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่อเรื่องนี้ ทำให้เป็นที่มาของการประชุมหารือระหว่างอธิการบดีและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ร่วมกันองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และนายกสโมสรนักศึกษาแต่ละคณะเพื่อหาทางออกและแนวปฏิบัติ

ผลการสรุปของการหารือดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของสำนักงานพัฒนานักศึกษา ม.อุบลฯ ประกอบด้วย การแสดงความเคารพ เป็นสิ่งสะท้อนระบบความสัมพันธ์ที่เราแสดงออกต่อกันโดยไม่มีปราการกั้นของอายุ วัย ประสบการณ์ หรือสถานะ

สำนักงานพัฒนานักศึกษา ม.อุบลฯ

ที่มาของภาพ, Facebook/สำนักงานพัฒนานักศึกษา ม.อุบลฯ

ส่วนการแสดงออกถึงความเคารพนั้นเป็นการสื่อสารที่ละเอียดอ่อน หากนักศึกษาจะแสดงความเคารพ ไม่ว่าในแบบขนบเดิม หรือขนบใดย่อมเป็นในนามของ “ความเคารพ” ทั้งสิ้น

นายสุประสิทธิ์ กล่าวว่าเขาได้อธิบายต่อคณาจารย์ว่า การเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้กระทบสิทธิผู้ใด แต่เป็นการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนไป และไม่ได้สร้างความเสียหายและยังคงคุณค่าวัฒนธรรมยังนำเสนอวัฒนธรรมแบบอีสาน และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน และสร้างสามารถสร้างผลกระทบเชิงความคิดต่อนักศึกษาที่สนใจเรื่องวัฒนธรรม

“บทสรุปในวงหารือกันในวันนั้นคือ ให้มองคนละครึ่งทาง โดยในวันงานจะไม่บังคับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งก็เป็นนโยบายของผมอยู่แล้ว เพราะเป็นสิทธิโดยชอบของนักศึกษาว่าจะกราบหรือจะไหว้” เขาอธิบาย

ความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักศึกษากำลังเปลี่ยนแปลง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในวันนี้ (30 มิ.ย.) เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการขับเคลื่อนทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะค่านิยมและคุณค่าในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์ที่กำลังเปลี่ยนไป ท่ามกลางความเห็นต่างระหว่างคนต่างวัยและต่างความคิด

ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกกับบีบีซีไทยว่า วิธีคิดเกี่ยวกับการให้ความสำคัญระหว่างครูอาจารย์และลูกศิษย์หรือนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย

“ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรที่จะมองถึงความเปลี่ยนแปลง การที่ยึดถือวัฒนธรรมที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ แต่การรักษาไว้ก็ควรรักษาไว้ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงให้เกิดความเหมาะสม และสอดคล้องกับวิธีคิดของคนและการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบัน” นักวิชาการรายนี้กล่าว

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาผ่านความสัมพันธ์ระหว่างครูอาจารย์และลูกศิษย์ แนวความคิดเดิม ๆ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ “บุญคุณ” ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นมองอาชีพ (professionalism) ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

กิจกรรมพิธีไหว้ครูเมื่อปี 2562

ที่มาของภาพ, องค์การนักศึกษา ม.อุบลฯ

ตามทัศนะของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์รายนี้มองว่า แนวความคิดที่ว่าการสอนเป็นบุญคุณที่จะนักเรียนต้องสำนึกบุญคุณ วิธีคิดเป็นการฝั่งรากลึกในสังคมไทยมาอย่างช้านาน จนบางครั้งก็นำไปสู่ปัญหาเช่น การที่ครูในสถาบันการศึกษาละเมิดสิทธิของนักเรียน เพราะนักเรียกถูกปลูกฝังเช่นนั้นและก็ไม่กล้าตั้งคำถามและเรียกร้องความเป็นธรรมจากการที่พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่ง ในส่วนนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ก็ควรจะเคารพสิทธิของคนอื่น โดยไม่ต้องบังคับให้คนที่ยังไม่เห็นด้วยต้องปฏิบัติและยังเปิดพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่างอย่างเคารพด้วย

“คนรุ่นเก่าอาจจะต้องเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งพูดถึงสิทธิจนบางครั้งมองข้ามการเขาเคารพสิทธิของคนอื่น เช่นในบางกรณีเขาอาจจะไม่ต้องการเปลี่ยนเราก็ไม่ควรบังคับให้พวกเขาเปลี่ยน แต่ปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง” กล่าวทิ้งท้าย

……..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว