ประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้ฟิลิปปินส์บ้าง

เมื่อ 4 นาทีที่ผ่านมา

เจมมา บารัน วัย 44 ปี มองภาพการเคลื่อนย้ายกระดูกของสามีลงถุงบรรจุศพด้วยความสะทือนใจ

เธอฝังศพ พาทริซิโอ บารัน ผู้เป็นสามีที่สุสานแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลาเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าสุสานได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เธอจึงต้องย้ายกระดูกของเขาไปฝังยังสุสานอีกแห่งในโครงการของโบสถ์คาทอลิกในท้องถิ่นที่ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ

โครงการดังกล่าวให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้ที่ถูกสังหารใน “สงครามยาเสพติด” ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ซึ่งทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

พาทริซิโอ ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยวัย 47 ปี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2017

เขาหายตัวไปในวันก่อนหน้านั้น เพื่อนบ้านได้ยิงเสียงปืน 3 นัด แต่ไม่เห็นตัวผู้ก่อเหตุ ตำรวจระบุว่าพบร่างไร้วิญญาณของพาทริซิโอนอนอยู่ข้างปืนกระบอกหนึ่ง และป้ายที่เขียนข้อความว่า “พ่อค้ายาและจอมข่มขืน”

Catholic priest Flavie Villanueva (R) attends alongside funeral workers as the remains of a victim of an alleged extra-judicial killing are exhumed at a cemetery in Manila on 2 June

ที่มาของภาพ, Reuters/Eloisa Lopez

แต่ครอบครัวของพาทริซิโอปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่าเขาไม่เคยขายหรือใช้ยาเสพติด

เจมมาเล่าว่า สามีของเธอได้เข้าไปพัวพันในกรณีพิพาทเรื่องที่ดินก่อนหน้าการเสียชีวิตเพียงไม่กี่สัปดาห์ และสงสัยว่าเขาอาจถูกสังหารจากเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกันเธอก็รู้สึกหวาดกลัวเกินกว่าที่จะออกมาโต้แย้งกับตำรวจ

เจมมาบอกว่า นับตั้งแต่พาทริซิโอเสียชีวิต เธอต้องเผชิญความยากลำบากในการหาเลี้ยงลูกทั้งสามคน เธอหารายได้จากการรับจ้างทำความสะอาด และต้องพึ่งพาอาหารที่ได้รับแจกจากโบสถ์

“ฉันลำบากมาก และไม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกได้ยังไง” เธอเล่า

เจมมายอมรับว่า ลูก ๆ คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอไม่กล้าออกมาวิ่งเต้นค้นหาความจริงในคดีของสามี “ฉันกลัวมาก ฉันเลยต้องปิดปากเงียบ”

บาทหลวง ฟลาวี วียานเววา ซึ่งทำโครงการช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อสงครามยาเสพติดบอกกับบีบีซีว่า คำสั่ง “ฆ่า ฆ่า ฆ่า” ของดูแตร์เตนั้นเป็นคำสั่งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งทำให้เกิดแม่หม้ายและลูกกำพร้าจำนวนมาก

“นี่คือมรดกที่น่าสลดใจที่สุดของท่านประธานาธิบดี” เขากล่าว

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่อดูเนื้อหานี้

สงครามปราบยาเสพติดของดูแตร์เต

แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย แต่มาตรการปราบปรามปัญหายาเสพติดที่รุนแรงของประธานาธิบดีดูแตร์เตก็ได้รับการสนับสนุนจากคนฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อย

โอเฟเลีย แม่ลูกสี่คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลาซึ่งเคยเป็นย่านที่มีอัตราอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดสูงมองว่านโยบายนี้ของนายดูแตร์เตช่วยขจัด “สิ่งชั่วร้าย” ในสังคมให้ลดลง

ในปี 2020 ช่วงที่โควิดกำลังระบาดหนัก มีมือปืนสวมหน้ากาก 2 คน ฝ่าจุดตรวจพื้นที่ควบคุมโรคของตำรวจเข้าไปสังหารเพื่อนบ้านของโอเฟเลียที่ชื่อ “บูลด็อก” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนติดยา

โอเฟเลียซึ่งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายดูแตร์เตเข้ามาบริหารประเทศนั้น เล่าว่ารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเธอรู้จักคุ้นเคยกับบูลด็อกเป็นอย่างดี และคิดว่าเขาควรได้รับโอกาสให้ได้กลับตัวกลับใจเป็นคนดีของสังคมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม โอเฟเลียบอกว่าเธอยังคงสนับสนุนนโยบายของนายดูแตร์เต พร้อมชี้ว่าปัจจุบันละแวกบ้านของเธอไม่มีการใช้ยาเสพติดให้เห็นอีกแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ชีวิตของเธอไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลงนับตั้งแต่ประธานาธิบดีผู้นี้เข้าบริหารประเทศ

นายดูแตร์เต วัย 77 ปี ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อเดือน มิ.ย. 2016 โดยชูนโยบายปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมด้วยมาตรการที่เด็ดขาด

“สงครามปราบยาเสพติด” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของเขาทำให้ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดหลายหมื่นคนถูกตำรวจสังหารในปฏิบัติการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนทั้งในและนอกประเทศ

คนจำนวนมากถูกยิงเสียชีวิตจากมือปืนสวมหน้ากาก ซึ่งเป็นการกระทำที่สื่อมวลชนฟิลิปปินส์มักเรียกว่า การลงโทษแบบ “ศาลเตี้ย” หรือเป็นการฆ่ากันเองในหมู่อาชญากร

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่อดูเนื้อหานี้

ครอบครัวของผู้เสียชีวิตหลายรายยืนยันว่า ญาติพี่น้องที่ถูกสังหารไปเป็นผู้บริสุทธิ์ ส่วนองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศต่างประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้นำฟิลิปปินส์รู้สึกแยแสใด ๆ โดยครั้งหนึ่งเขาเคยคุยโวว่า “ดีใจที่ได้ฆ่า” คนติดยา 3 ล้านคนในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยผิด ๆ กับเหตุการณ์ที่นาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกว่า “ฮอโลคอสต์” (Holocaust)

ขณะที่นายทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเขาได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ในทำนองเดียวกัน เช่น “ปัญหายาเสพติดในฟิลิปปินส์รุนแรงมากจนต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาขั้นสุดท้ายแบบเดียวกับที่พวกนาซีทำ”

ถ้อยคำดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจและเสียงประณามจากองค์กรชาวเยอรมันและชาวยิวหลายแห่ง

ข้อมูลล่าสุดของทางการฟิลิปปินส์ระบุว่า จำนวนของผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกสังหารในสงครามปราบยาเสพติดของฟิลิปปินส์ระหว่างเดือน ก.ค. 2016 – เดือน เม.ย. 2022 อยู่ที่ 6,248 คน แต่บรรดาองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าตัวเลขนี้น่าจะสูงถึง 30,000 คน

Philippine President Rodrigo Duterte

ที่มาของภาพ, Getty Images

แม้ตำรวจฟิลิปปินส์จะยืนกรานมาตลอดว่าจะสังหารคนเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องปกป้องชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่หลักฐานจากกล้องวงจรปิด รูปถ่ายของเหยื่อผู้เสียชีวิต และปากคำของพยานผู้เห็นเหตุการณ์กลับบ่งชี้ไปคนละทาง

ในสารคดีเรื่อง On the President’s Orders หรือ “คำบัญชาของประธานาธิบดี” ที่ออกฉายในปี 2019 ตำรวจระดับสูงนายหนึ่งในกรุงมะนิลาพูดในคลิปที่ถูกแอบบันทึกไว้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจคือเพชฌฆาตสวมหน้ากากที่ตามปลิดชีพผู้ต้องสงสัยพัวพันยาเสพติด

ครั้งหนึ่งนายดูแตร์เตได้กล่าวต่อตำรวจฝ่ายปราบปรามยาเสพติดว่า “พวกคุณอาจถูกยิงได้ ดังนั้นจงเปิดฉากยิงก่อน เพราะผู้ร้ายจะยิงคุณ และคุณจะตาย สำหรับผมแล้ว ผมไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน…”

ผู้นำที่ได้รับความนิยม

แม้จะเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากเรื่องดังกล่าว อีกทั้งยังถูกไต่สวนความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในศาลอาญาระหว่างประเทศ” (International Criminal Court หรือ ICC) แต่ประธานาธิบดีดูแตร์เตยังคงได้รับคะแนนนิยมที่สูงจากคนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่

บางคนมองว่านี่อาจเป็นเพราะรูปแบบการบริหารประเทศอย่างเด็ดขาดที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในประเทศยากจนที่ไม่เชื่อมั่นในระบบศาลยุติธรรมของประเทศ ขณะที่บางคนคิดว่านี่อาจเป็นเพราะนายดูแตร์เตแสดงตนเป็น “คนนอก” ซึ่งไม่ได้มาจากตระกูลการเมืองเก่าแก่อย่าง อากีโน และมาร์กอส ที่ปกครองฟิลิปปินส์มาหลายทศวรรษ

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา นายดูแตร์เตมักแสดงตัวตนในฐานะ “ผู้ลงโทษ” ที่แหกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และปราบปรามเหล่าอาชญากรด้วยวิธีการที่เด็ดขาดและรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

การพูดจาขวานผ่าซาก และการเลือกใช้ถ้อยคำของเขาก็สามารถเข้าถึงจิตใจของคนฟิลิปปินส์จำนวนมาก โดยบางคนมักเรียกเขาด้วยความเคารพรักว่า “คุณพ่อดูแตร์เต”

การเป็นผู้นำที่มีแบบฉบับเฉพาะตัวนี้คือสิ่งที่นายดูแตร์เตสั่งสมมาตั้งแต่สมัยเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งเขาก้าวเข้าสู่อำนาจมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ในยุคที่ฟิลิปปินส์ยังอยู่ท่ามกลางสงครามเย็น

Mayor Rodrigo Duterte poses with his Uzi submachinegun in the mountainous village of Carmen in the Baguio District of Davao city in the southern Philippines

ที่มาของภาพ, Reuters

นายดูแตร์เตดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา เมืองสำคัญทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ในปี 1988 ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ที่มุ่งเป้าโจมตีตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรู

ในช่วงนี้เองได้เกิดกลุ่มที่เรียกว่า “อัลซา มาซา” (Alsa Masa) ขึ้นในเมืองดาเวา ในช่วงที่นายดูแตร์เตเป็นนายกเทศมนตรี โดยมีภารกิจสำคัญในการกวาดล้างฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ ฝ่ายต่อต้าน และผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร เช่น ผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติด

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เข้าสอบสวนเหตุฆาตกรรมและการหายสาบสูญของเหยื่อกว่า 1,000 ราย พบหลักฐานบ่งชี้ว่านายดูแตร์เตมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตาม นายดูแตร์เตยืนกรานว่าไม่เคยออกคำสั่งฆ่าคนเหล่านี้โดยตรง แต่ในปี 2018 เขาได้กล่าวว่า “บาปเพียงอย่างเดียวของผมคือการวิสามัญฆาตกรรม”

พื้นที่ประชาธิปไตยที่หดแคบลง

แม้นายดูแตร์เตจะประกาศทุ่มงบประมาณมหาศาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการตัดลดข้อจำกัดการลงทุนโดยตรงของชาวต่างชาติ แต่ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ต้องเผชิญอุปสรรคจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เป็นผลตามมา

เอพริล ตัน หัวหน้านักวิเคราะห์หุ้นของบริษัท COL Financial ในกรุงมะนิลา บอกว่า ประธานาธิบดีดูแตร์เต บริหารจัดการด้านเศรษฐกิจได้ดี เพราะปล่อยให้ทีมนักวิชาการเข้ามาช่วยทำงานในด้านนี้ ทำให้ประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบภาษี และมีการดำเนินมาตรการมากมายเพื่อเพิ่มแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์

บรรดาคณะรัฐมนตรียังชื่นชมนายดูแตร์เตเรื่องจัดการข้อตกลงสันติภาพซึ่งเพิ่มอิสระทางการเมืองให้แก่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนาเพื่อแลกกับการปลดอาวุธ และสร้างสันติสุขในพื้นที่

นอกจากนี้เขายังออกมาตรการห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ให้คำมั่นจัดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยฟรีแก่ประชาชน และปรับปรุงด้านสาธารณสุขของประเทศ แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินความสำเร็จของมาตรการเหล่านี้

Sara Duterte, together with her father Philippine President Rodrigo Duterte and her mother Elizabeth Zimmerman, takes her oath as the next Vice President on June 19, 2022 in Davao, Philippines.

ที่มาของภาพ, Getty Images

แม้นายดูแตร์เตจะให้คำมั่นสัญญาเรื่องปราบปรามการทุจริต เช่น การเปิดสายด่วนให้ประชาชนแจ้งเรื่องการรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในปี 2021 รัฐบาลของเขากลับถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตในโครงการจัดหาเวชภัณฑ์มูลค่ามหาศาล

ขณะเดียวกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีผู้นี้ก็เผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น มีการดำเนินคดีและจำคุกกลุ่มผู้เห็นต่าง โดยล่าสุด มีการสั่งปิดเว็บไซต์ข่าวสืบสวนสอบสวนแรปเพลอร์ที่ก่อตั้งโดย มาเรีย เรสซา ผู้สื่อข่าวเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

แม้ที่ผ่านมานายดูแตร์เตจะนำเสนอภาพลักษณ์ของตนว่าไม่ใช่คนในตระกูลการเมืองที่ทรงอิทธิพล แต่เขาก็กำลังสร้างตระกูลการเมืองไว้สืบทอดอำนาจต่อไป เพราะในขณะที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ อำนาจนี้ได้ถูกส่งต่อให้แก่ นางซารา ดูแตร์เต-คาร์ปิโอ บุตรสาวผู้ที่ก้าวขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ภายใต้รัฐบาลของนายเฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีคนใหม่

แม้ฝ่ายสนับสนุนนายดูแตร์เตจะชี้ว่าผู้นำคนนี้ได้ทิ้งมรดกที่ดีงามไว้มากมายให้แก่ฟิลิปปินส์ แต่ฝ่ายที่เห็นต่างกลับมองว่า มรดกที่เขาทิ้งไว้นั้นแปดเปื้อนไปด้วยความรุนแรงจากสงครามปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด

นางคาเรน โกเมซ-ดัมพิต หัวหน้าคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “มันคือมรดกแห่งการเข่นฆ่า…ความปลอดภัยที่ต้องแลกกับสิทธิมนุษยชน คือความปลอดภัยที่แท้จริงหรือ?”

……..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว