พบดีเอ็นเอไวรัสในจุลชีพโบราณ “แอสการ์ด อาร์เคีย” คาดอยู่เบื้องหลังวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน

U.S. NATIONAL PARK SERVICE

ทีมนักจุลชีววิทยานานาชาติหลายคณะ เผยแพร่รายงานวิจัย 3 ฉบับ ในวารสาร Nature Microbiology เกี่ยวกับการค้นพบและศึกษาร่องรอยดีเอ็นเอของไวรัสในแอสการ์ด อาร์เคีย” (Asgard archaea) จุลชีพโบราณจำพวกหนึ่งที่มีชื่อเหมือนทวยเทพในตำนานปรัมปราของวัฒนธรรมนอร์ส (Norse)

นักจุลชีววิทยากลุ่มนี้คาดว่า การที่แอสการ์ด อาร์เคีย ติดเชื้อไวรัสบางชนิดจากยุคดึกดำบรรพ์ ได้ส่งผลให้มันมีวิวัฒนาการซึ่งนำไปสู่กำเนิดของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงเชื้อรา พืช สัตว์ และมนุษย์ด้วย

มีการตรวจสอบหาร่องรอยของดีเอ็นเอไวรัสดังกล่าว จากตัวอย่างของแอสการ์ด อาร์เคีย ที่เก็บได้ในดินตะกอนของอ่าวแคลิฟอร์เนียบริเวณใกล้กับปล่องน้ำร้อนก้นมหาสมุทร โดยนำบางส่วนของสายดีเอ็นเอจากแอสการ์ด อาร์เคีย ซึ่งเป็นส่วนของตัวคั่นกลาง (spacer) ระหว่างรหัสพันธุกรรมที่มักปรากฏซ้ำ เอามาเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของไวรัสหลายชนิดที่อยู่ในตะกอนก้นสมุทรบริเวณใกล้เคียงกัน

เนื่องจากตัวคั่นกลางในสายดีเอ็นเอของแอสการ์ด อาร์เคีย คือร่องรอยที่ไวรัสยุคโบราณทิ้งไว้เมื่อเกิดการติดเชื้อในอดีต ทำให้ทีมผู้วิจัยสามารถตรวจสอบได้ว่า ไวรัสชนิดใดเป็นที่มาของตัวคั่นกลางเหล่านี้กันแน่ ซึ่งจะเผยถึงกระบวนการที่ไวรัสยุคดึกดำบรรพ์ทำให้แอสการ์ด อาร์เคีย มีวิวัฒนาการ ซึ่งนำไปสู่กำเนิดของเซลล์แบบยูคาริโอต (eukaryote) อันเป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

BRETT BAKER

ผลปรากฏว่าทีมผู้วิจัยพบไวรัส 6 ชนิด ที่เคยเข้าสู่เซลล์ของแอสการ์ด อาร์เคีย 2 ชนิดมาแล้วในอดีต และได้ตั้งชื่อพวกมันตามชื่อของสัตว์วิเศษในเทพนิยายนอร์ส เช่นหมาป่ายักษ์เฟนรีร์” (Fenrir) และมังกรนิดฮ็อกก์” (Nidhogg)

จุลชีพโบราณจำพวกอาร์เคียไม่ใช่แบคทีเรีย แต่เป็นสิ่งมีชีวิตแบบโพรคาริโอต (procaryote) ชนิดหนึ่ง หมายถึงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวจากยุคหลายพันล้านปีก่อนที่ยังไม่มีนิวเคลียสบรรจุดีเอ็นเอ และยังไม่มีเยื่อหุ้มอวัยวะขนาดเล็กภายในเซลล์

U.S. NATIONAL PARK SERVIC

อาร์เคียมักจะอาศัยอยู่ตามบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมรุนแรง เช่นมีความเค็มจัด ร้อนจัด เป็นกรดเข้มข้น หรือมีสารพิษเช่นมีเทนอยู่ โดยจะปรากฏเป็นสีสันสวยงามบนพื้นรอบบ่อน้ำพุร้อน นาเกลือ หรือเหมืองแร่

ส่วนแอสการ์ด อาร์เคียนั้น เป็นอาร์เคียชนิดล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ตรงปล่องน้ำร้อนบริเวณรอยแยกของเปลือกโลกที่ก้นมหาสมุทร ซึ่งเป็นที่อยู่ของโลกิ” (Loki) เทพเจ้าในตำนานปรัมปราของวัฒนธรรมนอร์ส (Norse) ทำให้อาร์เคียชนิดนี้และเครือญาติของมันที่ถูกค้นพบในเวลาต่อมา ได้รับการตั้งชื่อตามทวยเทพแห่งแอสการ์ด (Asgard) หรือสวรรค์ของเทพเจ้านอร์สทั้งหมด