ภูเขาไฟใต้น้ำ : นักวิทยาศาสตร์ค้นหาอย่างไร แล้วการปะทุครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไร

  • อาเดรียน เบอร์นาร์ด
  • บีบีซี ฟิวเจอร์
Volcano explosion in Tonga, the Pacific

ที่มาของภาพ, Maxar via Getty Images

ในช่วงฤดูร้อนปี 1883 หลุมปล่องภูเขาไฟในช่องแคบซุนดา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา เกิดความปั่นป่วนขึ้นและได้พ่นเถ้าถ่านและไอน้ำขึ้นมาสู่ท้องฟ้าจำนวนมหาศาล

จากนั้น วันที่ 26 ส.ค. ปีเดียวกัน ภูเขาไฟใต้น้ำลูกหนึ่งได้ปะทุเศษวัตถุต่าง ๆ ประมาณ 25 ลูกบาศก์กิโลเมตร ปล่อยหินภูเขาไฟและลาวาเดือดไหลไปทั่วชุมชนใกล้เคียง การปะทุนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน กรากาตัวยังคงเป็นหนึ่งในการปะทุใต้น้ำที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์

อีกเกือบ 150 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2022 ภูเขาไฟใต้น้ำอีกลูกได้ตื่นจากการหลับใหล ครั้งนี้เกิดการปะทุขึ้นที่นอกชายฝั่งของตองกา

แต่การปะทุของภูเขาไฟฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮาอาปาย (Hunga Tonga-Hunga Ha’apai) และการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาต่างไปจากเดิม นักภูเขาไฟวิทยาสามารถบันทึกหลักฐานการปลดปล่อยความรุนแรงของภูเขาไฟใต้น้ำตามเวลาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ และสิ่งที่พวกเขาค้นพบได้สร้างความสับสนขึ้น

ตองกา ถูกตัดขาดจากส่วนอื่น ๆ ของโลก หลังจากที่สายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากแรงระเบิด แต่ดาวเทียมสามารถจับภาพการเกิดฟ้าแลบออกมาจากกลุ่มเถ้าถ่านบนท้องฟ้าของภูเขาไฟลูกนี้ไว้ได้หลายร้อยครั้ง

อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณระยะไกลได้บันทึกการเกิดคลื่นกระแทกที่ทรงพลังที่สะท้อนไปทั่วโลกนานหลายวันไว้ได้ กลุ่มเถ้าถ่านที่ลอยขึ้นสูงเหนือท้องฟ้าอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน จนไปถึงชั้นบรรยากาศชั้นนอกของโลก

การปะทุของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ยังเป็นภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมสำหรับประชาชนเกือบ 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในตองกา และยังเป็นการคลี่ปริศนาและการเป็นส่งคำเตือนสำหรับผู้คนทั่วโลกด้วย

ทำให้บรรดานักวิทศาสตร์ต้องทบทวนแนวคิดของตัวเองเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำที่ซ่อนตัวอยู่ใต้มหาสมุทรต่าง ๆ ปัจจุบันพวกเขากำลังตามล่าหาภูเขาใต้ทะเล เพื่อที่จะปกป้องสิ่งที่อยู่ทั้งบนบกและในมหาสมุทร

การมีวิธีการตรวจจับที่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักภูเขาไฟวิทยาหวังว่า จะพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้ บอกถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม บรรเทาอันตรายที่เกิดจากการปะทุ และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศได้ คนที่กำลังพยายามค้นหาว่าภูเขาไฟใต้น้ำซ่อนตัวอยู่ที่ไหนบ้างคือใคร และพวกเขากำลังจะไปค้นหาที่ไหนต่อไป

การระบุตำแหน่งภูเขาไฟในท้องทะลึกยากกว่าภูเขาไฟบนพื้นดินมาก เรามีความรู้เกี่ยวกับพื้นผิวดวงจันทร์มากกว่าพื้นมหาสมุทรเสียอีก แต่การปะทุของฮังกา ตองกาได้ช่วยกระตุ้นวงการวิทยาศาสตร์และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปสำรวจเพิ่มมากขึ้น

ในเดือน เม.ย. 2022 สถาบันวิจัยน้ำและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของนิวซีแลนด์ (National Institute of Water and Atmospheric Research–Niwa) ได้เริ่มการสำรวจทางทะเลในจุดที่เกิดการปะทุรุนแรงของตองกา เรืออาร์วี ตังการัว (RV Tangaroa) ของพวกเขา ได้สำรวจก้นทะเลครอบคลุมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร และเก็บภาพวิดีโอและตัวอย่างทางกายภาพจำนวนมาก ซึ่งกำลังมีการศึกษาอยู่บนบกในขณะนี้

An undersea volcano is seen erupting off the coast of Tonga, sending plumes of steam, ash and smoke up to 100 metres into the air, on March 18, 2009 off the coast of Nuku'Alofa, Tonga.

ที่มาของภาพ, Getty Images

การที่ภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง Niwa จึงอยู่ในจุดที่สามารถตรวจสอบผลกระทบรุนแรงของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ได้ “ก่อนการสำรวจของเรา เราได้ข้อมูลเพียงบางส่วนจากเรือเล็กที่ออกไปจากแผ่นดินใหญ่ของตองกา” ไมก์ วิลเลียมส์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ Niwa กล่าว

ภูเขาไฟใต้น้ำมักจะถล่มลงจากน้ำหนักของตัวเอง เมื่อน้ำทะเลผสมกับแม็กมา จะนำไปสู่การถล่มรุนแรงได้ ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ (และไอน้ำที่เป็นอันตรายบนพื้นดิน) ตามมา “ลองจินตนาการถึงแม่พิมพ์ทำเค้กวงกลมที่ด้านหนึ่งระเบิดออกนอกแม่พิมพ์” วิลเลียมส์อธิบาย

นักวิจัยบนเรือตังการัวมีเป้าหมายในขณะนั้น 2-3 อย่างคือ การทำแผนที่พื้นที่นั้น การเก็บวัตถุภูเขาไฟเพื่อช่วยให้เข้าใจทางด้านเคมีและธรณีวิทยาของการปะทุ และการตรวจสอบผลกระทบของหลุมปล่องภูเขาไฟ บริเวณก้นทะเลที่อยู่โดยรอบ

“เรามาถึงภูเขาไฟลูกนี้ตอนเช้า และเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหนือยอดเขาแหลม 2 ลูก ที่กำลังพ่นไฟและความรุนแรงออกมา” เควิน แม็กเคย์ นักภูเขาไฟวิทยาที่ชำนาญและหัวหน้าคณะเดินทางสำรวจของ Niwa กล่าว

เมื่อเรือมาถึงรอบนอกของหลุมปล่องภูเขาไฟฮังกา ตองกา ระบบอุปกรณ์ลากจูงน้ำลึก (Deep Towed Instrument System—DTIS) ที่ถูกควบคุมจากระยะไกล ได้ลงไปสำรวจบริเวณพื้นที่สองด้านของภูเขาใต้ทะเลลูกนี้

ยานที่ไร้คนขับได้แล่นลงไปที่ก้นทะเลเหมือนกับตอร์ปิโดที่มีปีก ทำให้ทีมงานสามารถบันทึกวิดีโอและเก็บตัวอย่างได้จำนวนมาก “มันน่ากลัวอยู่บ้าง” แม็กเคย์ กล่าว “ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทุขนาดเล็กขึ้นใต้เรือเหล็กของเราในตอนนั้น ทำให้เราอาจจะจมลงได้ภายในชั่วพริบตาเลย”

ซ่อนตัวอยู่ใต้ทะเลลึกหลายกิโลเมตร

การทดลองส่งระบบที่ติดตั้งใหม่นี้ลงไปสำรวจทำให้ทีมงานสามารถทราบถึงกลิ่นของกลุ่มควันภูเขาไฟและเก็บหลักฐานการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างรุนแรงมาก

“ก่อนการปะทุ หลุมปล่องภูเขาไฟมีความสูงราว 120 เมตร ตอนนี้มันลึกประมาณ 1 กิโลเมตร” แม็กเคย์ กล่าว “เรายังพบการไหลออกมาของหินตะกอนภูเขาไฟ ที่รุนแรงและเข้มข้น ไหลเป็นสายไปตามก้นทะเล อย่างน้อยเป็นรัศมีระยะ 60 กิโลเมตร จากทุกมุม”

เรือของ Niwa เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทำแผนที่ก้นทะเลของการปะทุของภูเขาไฟในตองกา (Tonga Eruption Seabed Mapping Project) ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งได้ช่วยเรื่องการวิจัยใต้ทะเลมาตั้งแต่ปี 1962 โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก General Bathymetric Chart of the Oceans หรือ Gebco องค์กรที่มีเป้าหมายในการทำแผนที่ก้นทะเลทั่วโลกให้เสร็จภายในปี 2030 ด้วย

แม้ว่า Niwa ไม่ได้สังเกตการภูเขาไฟใต้ทะเลที่ยังคุกรุ่นอยู่ แต่ทางหน่วยงานมีโครงการวิจัยเพื่อการตรวจสอบภูเขาใต้ทะเล ซึ่งหลายลูกคือภูเขาไฟที่ดับไปแล้ว

An undersea volcano is seen erupting off the coast of Tonga, sending plumes of steam, ash and smoke up to 100 metres into the air, on March 18, 2009 off the coast of Nuku'Alofa, Tonga.

ที่มาของภาพ, Getty Images

การปะทุใต้น้ำแทบไม่เคยได้รับการบันทึกหลักฐานมาก่อน เพราะมักจะเกิดขึ้นใต้ทะเลหลายกิโลเมตร แต่การปะทุที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้เคยสังเกตการณ์ อาจจะให้เบาะแสเราได้ถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ยกตัวอย่าง ในปี 2018 การปะทุใต้น้ำนอกชายฝั่งเกาะมายออตต์ (Mayotte) ของฝรั่งเศส ทำให้เกิดภูเขาใต้น้ำลูกใหม่ขนาดมหึมาขึ้น ทำให้ทราบว่าภูมิภาคนี้มีกิจกรรมแผ่นดินไหวในระดับสูง ปัจจุบันกำลังมีการจับตามองมายออตต์อย่างใกล้ชิด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ Revosima ซึ่งมีการจับตามองอันตรายเกี่ยวกับภูเขาไฟหลายอย่างทั้งการไหลของแม็กมา อุณหภูมิน้ำ และความเป็นกรด รวมถึงการเกิดแผ่นดินไหว มีการเก็บข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับภูเขาใต้น้ำลูกนี้อยู่เป็นประจำ

ความพยายามเช่นที่ Revosima ทำนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปะทุที่ยังเกิดขึ้นอยู่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมหาศาล เวลาในการล่องเรือและปฏิบัติการต่าง ๆ อาจใช้เงินมากถึง 50,000 ยูโรต่อวัน (ประมาณ 1.86 ล้านบาท) การติดตั้งสายเคเบิลใกล้กับที่ตั้งภูเขาไฟ (ซึ่งจะช่วยในการเก็บข้อมูลในพื้นที่นั้น) อาจใช้เงินหลายล้านยูโร และต้องใช้เวลาหลายปีในการหาเงินก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

แต่การวิจัยนี้มีความสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่เราจะสามารถระบุถึงอันตรายต่าง ๆ ของภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ที่มีต่อเราเท่านั้น แต่เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย

“ยิ่งอยู่ใกล้กับผิวทะเล ยิ่งอันตรายมากขึ้น”

รูปแบบการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติสามารถบอกเราได้ถึงการฟื้นตัวของระบบนิเวศ เพราะการปะทุของภูเขาไฟมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการรบกวนของมนุษย์ที่เป็นการทำลายขนาดใหญ่ในรูปแบบที่คล้ายกัน เช่น การทำเหมือง, การลากอวนในทะเล, การหาปลา และปฏิบัติการสกัดทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ

ผลกระทบของภูเขาไฟใต้ทะเลจำนวนมากอาจจะมาจากความปั่นป่วนของกระแสน้ำที่ก้นทะเล หรือการที่เศษตะกอนลอยคลุ้งขึ้นมาปกคลุม เป็นต้น

“ผู้คนสนใจภูเขาไฟเพราะพวกมันมีความเสี่ยง” ฆาบิเอร์ เอสการ์ติน นักวิจัยความลึกน้ำที่ Laboratoire de Géologie at the Ecole Normale Supérieure ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส กล่าว

“โดยทั่วไป ภูเขาไฟในน้ำลึกไม่ได้มีอันตรายมากนัก พวกที่อยู่ใกล้ผิวน้ำทะเล หรือโผล่พ้นน้ำทะเลขึ้นมา มีอันตรายมากกว่า”

ทั่วโลกมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ประมาณ 1,500 ลูก (ในจำนวนนี้ราว 500 ลูก เคยมีสถิติการปะทุเกิดขึ้น) แต่นี่ไม่ได้รวมถึงแนวภูเขาไฟที่เรียงยาวต่อกันอยู่ก้นทะเล โดยจำนวนมากน่าจะตั้งอยู่ตามแนวกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim) หรือที่เรียกกันว่า วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นแนววงกลมล้อมรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่อันตรายที่สุดคือเกาะภูเขาไฟที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

The scientific research vessel Tangaroa sits at Burnam Wharf in Evans Bay in Wellington on August 29, 2011 preparing to take the emperor penguin nicknamed "Happy Feet" on a four-day journey to the Southern Ocean east of Campbell Island.

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ลองจินตนาการถึงการระเบิดในขนาดเดียวกับตองกาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือฮาวาย” เอสการ์ติน กล่าว “จำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหาย ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและระบบขนส่งต่าง ๆ…แต่แน่นอน เราไม่สามารถศึกษาภูเขาไฟได้ ถ้าเราไม่รู้ว่า พวกมันตั้งอยู่ที่ไหน”

พวกเขาหาภูเขาไฟใต้น้ำพบได้อย่างไร

นักภูเขาไฟวิทยาค้นหาภูเขาไฟใต้น้ำที่ยังไม่ถูกค้นพบได้อย่างไร โดยเฉพาะในเมื่อยังขาดแคลนข้อมูลความลึกของน้ำอยู่มาก

การสังเกตการณ์เสียงในน้ำ หรือ ไฮโดรอะคูสติก (Hydroacoustic) คือ คำตอบหนึ่ง ตอนที่ภูเขาไฟปะทุขึ้นใต้น้ำ มันจะทำให้เกิดพลังงานเสียงขึ้น ตอนที่ลาวาที่ร้อนถึงระดับ 1,200 องศาเซลเซียส สัมผัสกับน้ำทะเลที่เย็นเฉียบเกือบจุดเยือกแข็ง มันจะระเหยทำให้เกิดการระเบิดของเสียงขึ้น ตั้งแต่เสียงการแตกร้าวอย่างรุนแรงและเสียงระเบิดดังสนั่นไปจนถึงเสียงดังช้า ๆ พลังงานจากแผ่นดินไหวถูกเปลี่ยนให้เป็นพลังงานเสียงใต้น้ำที่ระดับความลึกของก้นทะเล ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่ฟังเสียงการสั่นสะเทือนใต้น้ำ

ที่ระดับความลึกราว 1,000 เมตร, แรงดัน, อุณหภูมิ และความเค็ม ประกอบกันทำให้การเคลื่อนที่ของเสียงผ่านน้ำช้าลง พื้นที่นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อช่อง SOFAR (ย่อมาจาก Sound Fixing and Ranging) โดยวาฬก็ใช้ช่องเสียงเดียวกันนี้ในการสื่อสารกับวาฬอีกตัวใต้น้ำ

ไฮโดรโฟน (Hydrophone) หรือไมโครโฟนใต้น้ำ สามารถตรวจจับสัญญาณเสียงจากคลื่นเสียงที่เกิดจากการแปลงพลังงานแผ่นดินไหวตามแนวช่อง SOFAR ได้

ข้อมูลเสียงนี้จะช่วยให้เบาะแสเกี่ยวกับการไหลของลาวา และอาจช่วยเตือนได้ถึงการปะทุที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

บรรดานักวิจัยเข้าใจถึงการถล่มลงของเกาะภูเขาไฟว่า เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของเกาะ และบางคนคาดว่า พื้นที่ด้านข้างของเกาะจะถล่มลงในมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดดินถล่ม แผ่นดินไหว และสึมามิขนาดใหญ่

“แม้เราไม่เคยมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่ผลที่ตามของมันก็รุนแรงมหาศาล” เอสการ์ติน กล่าว ในระหว่างนี้ นักธรณีวิทยาและนักภูเขาไฟวิทยา ยังคงทำงานด้านการตรวจจับใต้น้ำต่อไป ตามจุดเกิดเหตุที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้

เมื่อพิจารณาภูเขาใต้ทะเลแอ็กเซียล (Axial Seamount) ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นภูเขาไฟใต้ทะเลที่คุกรุ่นที่สุดเท่าที่ทราบในขณะนี้ ข้อมูลการปะทุที่มีการบันทึกไว้ในปี 1998, 2011 และ 2015 ทำให้มันเป็นภูเขาไฟใต้น้ำที่ถูกสำรวจมากที่สุดในโลกด้วย อุปกรณ์บันทึกแรงดันก้นทะเลเผยให้เห็นว่า แอ็กเซียล ค่อย ๆ ขยายตัวขึ้น ขณะที่ยานที่ควบคุมจากระยะไกลหลายลำได้ค้นพบการไหลออกมาของลาวาครั้งใหม่ บ่งบอกว่า อาจเกิดการปะทุขึ้นอีกครั้งในอนาคตไม่ไกลนี้

This picture taken on December 21, 2021 shows white gaseous clouds rising from the Hunga Ha'apai eruption seen from the Patangata coastline near Tongan capital Nuku'alofa

ที่มาของภาพ, Getty Images

สหรัฐฯ ยังคงทำโครงการช่วยเหลือภัยพิบัติภูเขาไฟ (Volcano Disaster Assistance Program) ซึ่งได้ใช้นักธรณีวิทยา นักภูเขาไฟวิทยา และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ในทุกด้านประเมินอันตรายภูเขาไฟ สังเกตการณ์ และรับมือฉุกเฉินเกี่ยวกับภูเขาไฟ

รัฐบาลหลายประเทศมีทีมงานคล้ายคลึงกันนี้ นักล่าภูเขาไฟมือสมัครเล่นจำนวนมากอาจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภูเขาไฟต่าง ๆ ได้ รวมถึงคำถามที่พบบ่อยครั้งเกี่ยวกับการปะทุที่เห็นกันตามภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ (โดยในชีวิตจริงนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถขับรถข้ามลาวาที่กำลังเดือดได้) แต่ขณะนี้กำลังเขียนแนวปฏิบัติสำหรับสึนามิที่เกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำอยู่

“ฮังกา ตองกา ปะทุขึ้นโดยไม่มีรูปแบบ” แม็กเคย์ กล่าว “และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราสับสน ภูเขาไฟลูกนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่ตำราบอกไว้” การปะทุในตองกามีความรุนแรงมากกว่า สุดยอดภูเขาไฟ แต่แทนที่มันจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ภูเขาไฟลูกนี้ยังคงสมบูรณ์อยู่ และทำให้นักภูเขาไฟวิทยาต้องประเมินทฤษฎีของพวกเขาใหม่เกี่ยวกับกลไกที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงเช่นนั้นได้

ที่น่าฉงนมากกว่านั้นคือ การที่พลังงานของฮังกา ตองกา กระจายออกในแนวดิ่ง แทนที่จะกระจายออกไปตามแนวก้นทะเล

คลื่นเสียงและคลื่นในชั้นบรรยากาศ

การระเบิดรุนแรงของฮังกา ตองกา ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดคลื่นในมหาสมุทรเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดคลื่นเสียงและคลื่นในชั้นบรรยากาศ และเกิดการสั่นที่มีกระจายออกด้านนอก คลื่นเหล่านี้เดินทางไปไกลมากกว่า 100 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศและเดินทางออกทางด้านนอกที่ความเร็วประมาณ 2 เท่าของเครื่องบิน

ที่ผิดปกติไปมากกว่านั้นคือ “คลื่นไม่ได้สลายไปตามรูปแบบปกติ” วิลเลียมส์ กล่าว โดยเขาบอกว่า พวกมันดูเหมือนว่าจะเก็บพลังงานไว้มากขึ้น และสร้างคลื่นที่เดินทางไปได้ไกลถึงหิ้งน้ำแข็งรอสส์ (Ross Ice Shelf) ในแอนตาร์กติกา

นักวิจัยกำลังพยายามที่จะปะติดปะต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปะทุที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้อยู่ มีการประเมินว่า การปะทุของฮังกา ตองกา ได้ปลดปล่อยพลังงงานออกมาเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 10 ล้านตัน

การปะทุนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้น้ำปนเปื้อน และถนนหนทางถูกตัดขาดเท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกด้วย โลกเต็มไปด้วยภูเขาไฟใต้น้ำลูกอื่น ๆ นับไม่ถ้วน ซึ่งลูกใดลูกหนึ่งอาจจะปะทุขึ้นโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า จากการศึกษาภูเขาไฟฮังกา ตองกา ทำให้เราเราสามารถเรียนรู้ได้ว่า ควรใช้มาตรการคุ้มครองอะไรบ้าง เมื่อระเบิดเวลาใต้น้ำเหล่านี้ลูกอื่น ๆ เกิดการระเบิดขึ้นมาอีก

……..


ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว