ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไปแล้ว หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ มาตรการฉีดลดฮอร์โมนเพศชาย หรือ “ฉีดให้ฝ่อ” ทว่าภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกลับเห็นต่างออกไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้ นับเป็นเรื่องใหม่ ที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะเจาะจง เสนอโดยคณะรัฐมนตรีผ่านกระทรวงยุติธรรม และ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
หลักการของกฎหมายระบุว่า ผู้กระทำความผิดในคดีอาญาเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมไปแล้ว แม้จะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบ้าง แต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย และไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
“ท่านอาจเคยเห็นว่ามีผู้กระทำความผิดที่ถูกติดตามความประพฤติ จากที่พ้นโทษแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงการขอความร่วมมือ จะทำได้หรือไม่ได้ ไม่ได้มีผลบังคับเป็นกฎหมาย จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้พ้นโทษนั้น ยินยอมหรือสมัครใจให้ติดตามเท่านั้น” น.ส. พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายเสนอร่างกฎหมาย เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
แล้วเรื่อง “ฉีดให้ฝ่อ” เกี่ยวข้องกันอย่างไร หากดูร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มาตรการนี้คือ หนึ่งในมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งกำหนดให้มีมาตรการทางการแพทย์ และมาตรการอื่นตามที่รัฐมนตรีเสนอตามคณะกรรมการที่กำหนดในกฎกระทรวงในภายหลัง
“ค่าใช้จ่ายการฉีดให้ฝ่อ 100,000 บาทต่อรายนั้น ผมคิดว่าคงมีไม่กี่คนที่ต้องฉีด และขั้นตอนไม่ได้เร็วหรือง่าย การที่เรามีกำไลอีเอ็ม (EM) และอาสาสมัครคุมประพฤติสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้มากอยู่แล้ว” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 เมื่อเดือน ก.พ. 2565 และวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบ เมื่อ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายที่กำหนดการลงโทษ มีเนื้อหาสาระสำคัญอย่างไร และภาคประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศมีความเห็นอย่างไรบ้าง
อะไร คือ พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในคดีทางเพศ-ใช้ความรุนแรง
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ใช้บังคับกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพ
ความผิดเกี่ยวกับเพศ ประกอบด้วย 1) ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา 2) ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 3) ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย 4) ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 5) ความผิดฐานพาเด็กอายุเกิน 15 แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อทำอนาจาร และ 6) ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหรือใช้กำลังประทุษร้าย
ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ประกอบด้วย 1) ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น 2) ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย และ 3) ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นอันตรายสาหัส
ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ คือ ความผิดฐานลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่
เนื้อหาสาระสำคัญ คือ การกำหนดมาตรการ แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งกำหนดให้มีมาตรการทางการแพทย์เอาไว้ หรือการฉีดลดฮอร์โมนเพศชาย และมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ซึ่งมีมาตรการติดตาม 13 กรณี เช่น การห้ามออกนอกประเทศ ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด และการให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง
ประเด็นของมาตรการทางการแพทย์ เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. นั้นระบุว่า ต้องกำหนดให้เป็นคำสั่งของศาล ให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน ซึ่งมีความเห็นพ้องต้องกัน หากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าจำเป็นต้องมีการใช้ยา ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม
“การจะฉีดลดฮอร์โมน ต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด และเข้าคณะกรรมการพิจารณา และต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 คน ต้องเห็นพ้องต้องกัน และต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ อย่างน้อยสาขาละ 1 คน” น.ส. พัชรินทร์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ กล่าว
กระบวนการลงโทษที่ไม่ได้ปรับพฤติกรรม
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล นักเคลื่อนไหวจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลบอกกับบีบีซีไทยว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการเช่นนี้ เพราะรากของปัญหาคดีคุกคามล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องอำนาจทางเพศที่ชายเป็นใหญ่ที่อยู่ในตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกแก้ไข
“ถ้าคุณอยากปรับนักโทษที่มีพฤติกรรมกระทำซ้ำ คุณไปฉีดให้ฝ่อ เป็นการลงโทษ แล้วเขาไม่ได้มีการเปลี่ยนวิธีคิด ยิ่งถูกลงโทษ ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น มันก็มาทำผิดอีกครั้ง มันไม่ได้ปรับพฤติกรรมอะไรเลย”
จะเด็จกล่าวว่า รากฐานของปัญหาการคุกคามข่มขืนที่ผ่านมา สะท้อนถึงวิธีคิดดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากคดีข่มขืนที่เกิดจากผู้กระทำที่มีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดในครอบครัว จากผู้ที่อยู่ในระบบราชการ ตำรวจทหาร ครู เป็นต้น
ผอ. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า กระบวนการลงโทษผู้กระทำผิดในปัจจุบัน ใช้กระบวนการที่ตีตรา แต่ไม่ได้มุ่งแก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำผิดเพื่อคืนสู่สังคม การลงโทษจึงมักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงเพราะเป็นกระบวนการที่เห็นผลชัดมากกว่า
“ผมเข้าใจว่าเวลานักการเมืองพูดถึงการลงโทษมันเห็นผลชัด แต่มันไม่ได้สื่อสารกับประชาชน… การที่จะเปลี่ยนคนนำไปสู่ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ มันอาจจะไม่เห็นผลใน 1-2 ปี อย่างเช่นหลักสูตรเพศวิถีของกระทรวงศึกษา ทำไปไม่ถึงไหน ทำไมไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กเล็กและเด็กโตได้รับการบ่มเพาะ เรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ” จะเด็จ ตั้งคำถาม
จะเด็จ เห็นว่ารัฐควรลงทุนกับการแก้ปัญหาที่มุ่งปรับความคิดพฤติกรรมของผู้กระทำผิดเช่นตัวอย่างที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก หรือบ้านกาญจนาฯ ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็น “ราชทัณฑ์ที่ไม่มีรั้ว” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้พื้นฐานที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผ่านกระบวนการจิตวิทยาการเรียนรู้
ตัวอย่างในต่างประเทศ
เกาหลีใต้ ปากีสถาน อินโดนีเซีย และอย่างน้อยอีก 5 รัฐ ในสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการฉีดลดฮอร์โมนทางเพศแก่ผู้กระทำผิดในคดีความทางเพศเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เมื่อปี 2019 รัฐแอละบามาในสหรัฐฯ เป็นรัฐล่าสุดที่บังคับใช้กฎหมายนี้
ในปีเดียวกันศาลในอินโดนีเซีตัดสินให้มีการใช้โทษฉีดสารเคมีให้อัณฑะฝ่อเป็นครั้งแรก กับผู้ต้องหาที่ก่อเหตุข่มขืนเด็กหญิง 9 คน หลังบังคับใช้เมื่อปี 2016 พร้อมตัดสินจำคุกอีก 12 ปี และปรับเป็นเงิน 7,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สมาคมแพทย์อินโดนีเซียปฏิเสธที่จะลงมือปฏิบัติการด้วยเหตุผลเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ตีพิมพ์บทความอ้างอิง รายงานของวารสารทางการแพทย์ที่ชื่อว่า สถาบันจิตเวชศาสตร์และกฎหมายอเมริกัน (American Academy of Psychiatry and the Law) ระบุว่า การฉีดยาเพื่อลดฮอร์โมนทางเพศมีผลทำให้สารเทสโทสเตอร์โรน ฮอร์โมนเพศที่สำคัญที่สุดของผู้ชายลดลง และกระทบกับการเบี่ยงเบนทางเพศ โดยผลการศึกษานี้เป็นการรายงานจากผู้ที่ถูกฉีดยา ที่ผู้วิจัยติดตามดูความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแรงขับทางเพศ และพฤติกรรม
ส่วนรายงานจากวารสารทางการแพทย์ของเกาหลีใต้ในปี 2013 ระบุว่า การฉีดยาลดฮอร์โมนทางเพศมีผลทำให้การกลับมากระทำผิดซ้ำมีระดับต่ำ แม้ว่าจะมีปัจจัยด้านจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการลงมือล่วงละเมิดทางเพศ
อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กไทมส์บอกว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวในสหรัฐฯ โต้แย้งว่า วิธีการนี้เป็นการบีบบังคับผู้ต้องขังซึ่งอาจถูกบังคับให้เลือกระหว่างการถูกคุมขังในเรือนจำหรือรับยา ส่วนกลุ่มแพทย์ที่มีมุมมองเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่ผู้ต้องขังได้รับ และข้อมูลที่เพียงพอก่อนที่พวกเขาได้รับก่อนตัดสินใจรับการฉีดยาลดฮอร์โมน
…..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว