โลกร้อน : ครีมกันแดดสำคัญอย่างไร เหตุใดคนผิวดำก็เป็นมะเร็งผิวหนังได้

“ฉันเห็นไฝเล็ก ๆ ที่ด้านหลังขาของตัวเอง ตอนนั้นฉันไปเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อนและพวกเขาก็บอกว่า ‘เธอต้องไปเช็คไฝนั้น'” นางสาวเนเนอร์เล่า

“จากนั้นฉันก็ไปพบแพทย์ พวกเขาเอามันออกทันที หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นพวกเขาบอกว่าฉันเป็นมะเร็งผิวหนัง แน่นอนว่าฉันตกใจและว้าวุ่นใจ”

ส่วนหนึ่งที่ทำให้นางสาวเนเนอร์ประหลาดใจเป็นเพราะเธอเชื่อมาตลอดว่าเมลานินหรือเม็ดสีระดับสูงในคนผิวดำแปลว่าพวกเขาได้รับการปกป้องจากแสงแดดแล้ว

“ฉันเคยเชื่อจริง ๆ ว่าถ้าคุณผิวดำหรือมีผิวสีเข้ม แปลว่าคุณจะไม่มีวันเป็น [มะเร็งผิวหนัง] และคุณไม่จำเป็นต้องทาครีมกันแดดเพราะคุณจะรู้สึกว่าได้รับการปกป้องแล้วนิดหน่อย แต่ตอนนี้ฉันรู้อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่าผิวก็คือผิวและคุณยังสามารถเป็น [มะเร็งผิวหนัง] ได้”

5 ปีต่อมา เธอกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง “ฉันโชคดีอีกครั้งที่เจอมันเนิ่น ๆ ฉันไม่ต้องทำคีโม ฉันแค่ต้องผ่าตัดเอาหนึ่งในต่อมน้ำเหลืองของตัวเองออก” และ 10 ปึหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นางสาวเนเนอร์ก็ไม่เป็นมะเร็งผิวหนังอีกเลย

อิสเซอร์ เนเนอร์

ไม่เกี่ยวว่ามีผิวสีใดหรือมาจากประเทศไหน

นางสาวเนเนอร์เติบโตขึ้นมาโดยแทบไม่เคยทาครีมกันแดด ปัจจุบันเธอทำงานกับสถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อคอยเตือนผู้คนไม่ให้ทำผิดพลาดเช่นเดียวกับเธอ

แม้รายงานจากศูนย์วิจัยดังกล่าวจะพบว่าคนเอเชียและคนดำได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ในสัดส่วนที่น้อยกว่าคนขาว ทว่า ดร.โอเพเลีย แดดซีย์ จากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งสหราชอาณาจักรชี้ว่า เมื่อพบมะเร็งชนิดดังกล่าวในคนดำ พวกเขามัก “มีอาการรุนแรงกว่าและตรวจพบในระยะท้าย ๆ แล้ว”

ดร.แดดซีย์ ยกตัวอย่างกรณีบ็อบ มาร์เลย์ ราชาเพลงเร้กเก้ เสียชีวิตจากมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาเช่นเดียวกัน

เธอแนะนำวิธีตรวจเช็คผิวหนังว่าให้ดูทั้งหมด ทว่าสำหรับ “ผู้ที่มีผิวเข้ม พวกเขาไม่ควรมองข้ามส้นเท้า มือ ฝ่ามือ และเล็บ”

ดร.แดดซีย์ อธิบายความเชื่อที่ว่าการมีผิวสีเข้มช่วยปกป้องคุณได้ หรือเวลาคนพูดว่า “ฉันมาจะประเทศเมืองร้อน ฉันสบายมากกับการอยู่กลางแดด” โดยเธอบอกว่าแม้เมลานินที่ผลิตเม็ดสีเข้มในผิวหนัง “จะสามารถปกป้องคุณจาก [แสงแดดได้] …แต่มันปกป้องคุณไม่ได้ 100%”

ผู้ชายนั่งบนชายหาด

ที่มาของภาพ, Getty Images

นอกจากโรคมะเร็งผิวหนังที่ผู้คนต้องคำนึงถึง ยังมีอาการอย่างการเกิดรอยดำตามบริเวณต่าง ๆ เช่นเดียวกัน

ดร.แดดซีย์ แนะนำว่า 3 วิธีที่เหมาะสมในการปกป้องผิวคือการอยู่ในที่ร่ม การสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมซึ่งรวมไปถึงการสวมหมวกและแว่นกันแดด และการทาครีมกันแดด

“อยู่ในร่มระหว่างเวลา 11 โมง ถึงบ่ายสาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รังสียูวีมีความรุนแรงมากที่สุด”

UVA-UVB และ SPF คืออะไร

ผู้คนมักคุ้นเคยกับตัวเลขค่าบอกความสามารถในการป้องกันการไหม้ของผิว หรือ SPF ว่ายิ่งมากแปลว่ายิ่งปกป้องได้ดี โดยค่า SPF เป็นการบอกว่าครีมกันแดดของคุณกันรังสียูวีบี (UVB) ได้มากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ดี ครีมกันแดดที่ดียังความมีส่วนผสมของสารป้องกันรังสียูวีเอ (UVA) ซึ่งบางประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร ใช้ระบบดาวในการให้คะแนนโดยมีคะแนนสูงสุด 5 ดาว ส่วนบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ใช้การวัดระดับพีเอ (PA) โดยยิ่งมีเครื่องหมายบวกมากแปลว่ายิ่งปกป้องได้มากขึ้น โดยมีเครื่องหมายบวกสูงสุดที่ 4

คลื่นรังสีทั้งสองตัวทำร้ายผิวหนังแตกต่างกันออกไป รังสียูวีเอมักเกี่ยวข้องกับการทำให้ผิวหนังแก่ก่อนวัยและหมองคล้ำ ทั้งยังทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ ซึ่งเป็นชนิดมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยเป็นอันดับที่สอง และมักลุกลามอย่างรวดเร็ว

ขณะที่รังสียูวีบีที่ทำให้ผิวไหม้ มักเกี่ยวข้องกับมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างมะเร็งผิวหนังชนิดบาซอล เซลล์ แต่มีระดับความรุนแรงไม่มาก และมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักแต่มีความร้ายแรงสูง

สำหรับตัวเลข SPF ที่ข้างขวดนั้น แท้จริงแล้วเป็นการบอกผู้บริโภคว่าครีมกันแดดดังกล่าวอนุญาตให้รัวสียูวีบีเข้ามาได้มากเท่าไหร่ ไม่ได้เป็นการบอกว่าครีมกันแดดตัวนั้นกันรังสียูวีบีได้มากเท่าไหร่

ผู้หญิงที่ตากแดด

ที่มาของภาพ, Getty Images

กรณีครีมกันแดดเขียนที่ข้างขวดว่า SPF 15 หมายความว่าครีมกันแดดดังกล่าวอนุญาตให้รังสียูวีบี 1 ใน 15 ส่วนผ่านเข้ามาสู่ผิวหนังของได้ หรือคิดเป็นประมาณ 7%

แปลว่าครีมกันแดด SFP 15 สามารถป้องกันรังสียูวีบีได้ประมาณ 93% และหากคำนวณครีมกันแดดแบบ SPF 30 ก็จะพบว่าสามารถกันรังสียูวีบีได้ราว 97%

ในการใช้งานจริง สมมติว่าคุณไม่ได้ทาครีมกันแดดและสามารถอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลา 10 นาทีได้โดยไม่เกิดอาการผิวไหม้ ตามทฤษฎีแล้ว การทาครีมกันแดด SPF 15 จะช่วยปกป้องผิวหนังคุณได้เพิ่มอีก 15 เท่า ซึ่งแปลว่าคุณจะสามารถอยู่ท่ามกลางแสงแดดได้ราวสองชั่วโมงครึ่งโดยไม่เกิดอาการผิวไหม้

ต้องทาครีมกันแดดมากแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าคนส่วนใหญ่ทาครีมกันแดดไม่ถูกวิธีเท่าไร ทั้งยังมีปัจจัยจากการโดนน้ำหรือเหงื่อออกที่ลดประสิทธิภาพการปกป้องลง

แม้ครีมกันแดดจำนวนหนึ่งจะโฆษณาว่าทาเพียงครั้งเดียวก็สามารถปกป้องผิวหนังได้นานถึง 8 ชั่วโมง แต่แพทย์ผิวหนังบางคนยังแนะนำให้ผู้คนทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ สองชั่วโมงอยู่ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการทาครีมกันแดดไม่ทั่วถึง หรือครีมกันแดดบางส่วนหลุดออกไประหว่างวัน

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว