ค้ามนุษย์ : TIP Report 2022 ยกระดับไทย นายกฯ บอก “ปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

รายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons (TIP) Report 2022 (2565) ของ สหรัฐฯ ยกระดับประเทศไทยขึ้นสู่ระดับที่ 2 (Tier 2) โดยขยับขึ้นจากการเป็นประเทศในกลุ่ม 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watchlist) ในปีที่ผ่านมา

รายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และถูกเผยแพร่เมื่อ 19 ก.ค. ตามเวลาในสหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลไทยยังไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่แสดงให้เห็นความพยายามอย่างที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรอบระยะเวลาการรายงานครั้งก่อน พร้อมทั้งระบุว่าในภาพรวม รัฐบาลไทยได้มีพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ จำนวนการสืบสวนคดีและการระบุตัวผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้น และการจัดตั้งศูนย์คัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหายแห่งใหม่

อีกทั้งยังมีการจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) เสร็จสมบูรณ์ โดยขยายระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรองก่อน การคัดแยกผู้เสียหายเป็น 45 วัน การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อคัดกรองผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานบังคับตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และ การดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

Human trafficking in Thailand

ที่มาของภาพ, Getty Images

รายงานระบุว่าประเทศไทยได้รับการปรับระดับเป็นระดับ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการเพิ่มจำนวนการสืบสวนคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แนวทางการจัดหาแรงงานบังคับตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมีการเริ่มต้นการสอบสวนผู้ต้องหาหาว่าสมรู้ร่วมคิดในปี 2564 รวม 17 รายและมีการพิพากษาจำคุก 2 ราย

นอกจากนี้รัฐบาลด้วยจัดตั้งศูนย์ระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์แห่งใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในการส่งต่อผู้ต้องสงสัยที่ระบุว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไปที่ทีมสหสาขาวิชาชีพและระบุผู้เสียหายมากกว่าเดิม

รายงานยังกล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นต่ำมาตรฐานในหลายด้านที่สำคัญ และนั่นส่งผลให้จำนวนคดีค้ามนุษย์และความเชื่อมั่นลดลงเมื่อเทียบกับรอบระยะเวลารายงานในปีก่อนหน้า ถึงแม้จะมีรายงานว่าแรงงานบังคับเป็นที่แพร่หลายในหมู่แรงงานข้ามชาติ ในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่การสอบสวนที่ไม่ต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพในช่วงการปฏิบัติในระหว่างการเข้าตรวจแรงงาน ทำให้เหยื่อการค้ามนุษย์มีจำนวนมาก

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้ประกาศรายชื่อ TIP Heroes 6 คน เพื่อเชิดชูผู้ที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งปีนี้มีคนไทยได้รับรางวัลนี้ด้วยได้แก่ อภิญญา ทาจิตต์ จากองค์กร Stella Maris ในฐานะผู้ทำงานด้านการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาลักลอบค้าแรงงานเด็ก

นายก ประยุทธ์ ค้ามนุษย์ โรฮิงยา

ที่มาของภาพ, Thaigov

นายกฯ รับทราบและยินดี

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและยินดีต่อการที่สหรัฐฯ ยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยในปีนี้ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น

“นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายโดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแก้ไขปัญหาต่อต้านการค้ามนุษย์ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ปกป้อง คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยไทยพร้อมร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ทุกคน ทุกคนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา โดยขอให้มุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำจัดปัญหานี้ให้หมดจากประเทศไทย” นายธนกรกล่าว

แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ ฤดูกาล 2021 หรือเมื่อปี 2564 มีราว 8,200 คน

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการจัดหางาน

การดำเนินคดีในปีที่ผ่านมา

รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตามยังมีการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์น้อยกว่าในปี 2563

ในปี 2564 รัฐบาลรายงานการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ที่อาจเกิดขึ้น 188 คดี (133 คดี ในปี 2563) การดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 125 ราย (302 ราย ในปี 2563) และการตัดสินลงโทษผู้ลักลอบค้ามนุษย์ 82 ราย (233 ราย ในปี 2563) ศาลตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ 75 คนในปี 2564 โดยประมาณ 97% ถูกตัดสินจำคุกสองปีขึ้นไป

สำนักงานปฏิบัติการอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตต่อเด็กของไทย ได้สอบสวนคดีอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตต่อเด็ก 79 คดีในปี 2564 (94 ในปี 2563) รวมถึงคดีการค้ามนุษย์ที่อำนวยความสะดวกทางอินเทอร์เน็ต 11 คดี (22 คดีในปี 2563)

Human trafficking in Thailand

ที่มาของภาพ, Getty Images

เหยื่อการค้ามนุษย์จากเว็บพนันออนไลน์เพิ่มขึ้น

รายงานระบุเพิ่มเติมว่ารัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการระบุตัวตนและการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ 414 คน ในปี 2564 เทียบกับ เหยื่อการค้ามนุษย์ 231 ราย ระบุในปี 2563 และ 868 ในปี 2562

โดยมีเหยื่อการค้ามนุษย์ 414 แบ่งออกเป็นชาย 151 ราย หญิง 263 ราย เด็ก 72 ราย เป็นเหยื่อชาวไทย 312 ราย ชาวเมียนมา 94 ราย ชาวลาว 2 ราย และจากประเทศที่ไม่ระบุจำนวน 6 ราย

เหยื่อการค้าประเวณี 181 ราย และเหยื่อการค้ามนุษย์ 233 ราย จากเหยื่อ 414 รายที่ระบุในปี 2564 รัฐบาลรายงานว่าให้บริการแก่ 354 ราย (เทียบกับเหยื่อ 148 รายที่ระบุในปี 2563)

จากเหยื่อการค้ามนุษย์แรงงาน 233 รายที่ระบุโดยทางการไทยในปี 2564 มี 109 รายเป็นเหยื่อชาวไทยที่ถูกบังคับให้ทำงานให้กับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ที่ระบุโดยประสานงานกับทางการกัมพูชา เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรายงาน รัฐบาลได้ระบุเหยื่อชาวไทยจำนวน 227 รายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในกัมพูชา

แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาดค้าส่งอาหารทะเลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร

ที่มาของภาพ, Reuters

ข้อเสนอแนะสำหรับรอบปีต่อไป

รายงานของปีนี้ได้ให้คำแนะนำต่อประเทศไทยในการดำเนินการของรอบปีต่อให้ โดยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล ดังนี้

  • เพิ่มการดำเนินคดีและการลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการค้าแรงงาน
  • ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และดำเนินการให้มีประสิทธิภาพในเรื่องแนวทางใหม่ในการดำเนินการตามมาตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์
  • สอบสวนเชิงรุกและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการอำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์และนักโทษ และลงโทษผู้ที่พบว่ามีความผิด
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ขั้นตอนที่ได้รับข้อมูลกระทบกระเทือนจิตใจในระหว่างการสัมภาษณ์ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งในระหว่างการตรวจแรงงาน
  • ขยายทางเลือกทางกฎหมายให้เหยื่อต่างชาติอยู่ในที่พักพิง เช่น อนุญาตให้ผู้เสียหายออกจากระบบที่พักพิงได้เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสการจ้างงานภายนอก

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว