อภิปรายไม่ไว้วางใจ : เปิดผลโหวตของ 11 รมต. ในศึกซักฟอก ส.ส. พรรคไหนเสียงแตก-เสียงหลง

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เมื่อ 8 นาทีที่ผ่านมา

cabinet

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

11 รัฐมนตรีรอดจากศึกซักฟอกครั้งที่ 4 ไปตามความคาดหมาย ด้วยเสียงส่วนใหญ่ของที่ประสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย และ ส.ส. “กลุ่ม 16” ร่วมโหวตไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 25 พรรค แบ่งเป็น พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค รวม 208 เสียง (ยังไม่หัก ส.ส. “งูเห่า” หรือ “ฝากเลี้ยง” ที่ชื่อยังอยู่ในสังกัดพรรคฝ่ายค้าน แต่มีพฤติกรรมการโหวตสนับสนุนรัฐบาล) พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” 16 เสียง ส่วนที่เหลืออีก 253 เสียง มาจาก 17 พรรคร่วมรัฐบาล

ในการผ่านญัตติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ต้องอาศัยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ 239 เสียง จาก ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 477 คน

บีบีซีไทยตรวจสอบเอกสารผลการลงมติญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ วันนี้ (23 ก.ค.) จัดทำโดยสำนักรายงานการประชุมและชวเลข เพื่อตามหาว่าคะแนนเสียงที่นายกฯ และ 10 รัฐมนตรีได้รับในสัดส่วนแตกต่างกันไป มีที่มาที่ไปอย่างไร ก่อนสรุปรูปแบบการลงคะแนนของบรรดาผู้แทนราษฎร โดยจำแนกเป็นรายพรรคได้ ดังนี้

1. พรรคการเมืองที่สมาชิกลงมติอย่างเป็นเอกภาพ ไม่มี ส.ส. แตกแถวแม้แต่คนเดียวไม่ว่าจะลงมติให้รัฐมนตรีรายใด มีทั้งสิ้น 4 พรรครัฐบาล ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 62 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.) 5 คน, พรรครวมพลัง (ร.พ.) 5 คน และพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 4 คน ทั้งนี้ไม่นับกรณีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายซึ่งลงมติงดออกเสียงให้ตัวเอง

ส.ส. พรรคเพื่อไทยหลังเสร็จสิ้นยุทธการ "เด็ดหัว สอยนั่งร้าน"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

2. พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำพรรคฝ่ายค้าน มี ส.ส. 7 คน จากทั้งหมด 132 คน ไม่ได้ลงมติตามทิศทางของพรรค แต่เลือกโหวตไว้วางใจให้รัฐมนตรีสังกัด ภท. 2 คน และเลือกโหวตงดออกเสียงให้แก่นายกฯ และรัฐมนตรีรายอื่น ๆ

สำหรับ 7 นักการเมืองกลุ่มนี้ ประกอบด้วย นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี, นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ, นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ, นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก, นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ, นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก และนายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา ซึ่งแม้ยังอยู่ในสังกัดของ พท. โดยนิตินัย แต่โดยพฤตินัยที่แสดงออกในการลงมตินัดสำคัญ ๆ ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางของพรรค

นอกจากนี้ยังมีอีก 1 คนคือ นายนพคุณ รัฐผไท ส.ส.เชียงใหม่ ที่ไม่ปรากฏว่ามีการลงคะแนนให้รัฐมนตรีรายใดเลย ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ลงมติ/ลาประชุม/ขาดประชุม ทราบในภายหลังว่าแจ้งลาป่วยเพราะติดโรคโควิด-19

3. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งเป็นพรรคอันดับสองของฝ่ายค้าน มี ส.ส. 5 คน จากทั้งหมด 51 คน ไม่ได้ลงมติตามทิศทางของพรรค แต่มีทั้งการข้ามขั้วไปลงมติไว้วางใจให้แก่รัฐมนตรีบางคน และงดออกเสียงให้รัฐมนตรีบางคน

สำหรับ 5 นักการเมืองกลุ่มนี้ ประกอบด้วย นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย, นายเอกภพ เพียรวิเศษ ส.ส.เชียงราย และนายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี โดยเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่มักลงมติต่างไปจากแนวของพรรคสีส้ม

นอกจากนี้ยังมี 2 ส.ส.ที่ไม่ปรากฏผลคะแนนเป็นบางช่วงคือ นายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ ไม่ปรากฏผลคะแนนระหว่างลงมติไว้วางใจ/ไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. ไม่ปรากฏผลคะแนนระหว่างลงมติไว้วางใจ/ไม่ไว้วางใจนายสันติ พร้อมพัฒน์

ส.ส. พรรคก้าวไกลนำดอกไม้จันทน์ไปวางตรงที่นั่งของนายกฯ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ไว้อาลัย หลังสภาลงมติไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์และคณะ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

4. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำรัฐบาลที่เสียงสภา 97 เสียง ทว่าได้เกิดเหตุ “เสียงแตก” ขึ้นกับ ส.ส. กลุ่มหนึ่งที่ร่วมกันโหวตคว่ำรัฐมนตรีในสังกัด พปชร. และยังมีอีกคนที่งดลงคะแนนให้รัฐมนตรีต่างพรรค

6 ส.ส. “กลุ่มปากน้ำ” ร่วมกันลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ประกอบด้วย นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ, นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ, นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ, นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ, นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ส.ส.สมุทรปราการ

ขณะที่ น.ส. วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ “มาดามเดียร์” ของดออกเสียงให้แก่นายศักดิ์สยาม เลขาธิการ ภท. และนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

5. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อีกพรรคร่วมรัฐบาลที่มี 52 เสียงในสภา และมีรัฐมนตรีของพรรคถูกอภิปราย 3 คน ปรากฏว่ามี ส.ส. 2 คนร่วมลงมติไม่ไว้วางใจ หรืองดออกเสียงให้แก่เพื่อนร่วมพรรคและร่วมรัฐบาล

2 ส.ส. ที่แหวกแนวทางของพรรคสีฟ้าคือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาเละ ส.ส.ปัตตานี ซึ่งร่วมกันโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะเดียวกันนายอันวาร์ยังฉายเดี่ยว โหวตไม่ไว้วางใจอีก 4 รัฐมนตรี ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคตัวเอง, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท., นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ภท. และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมพรรคตัวเอง ส่วนนายพนิตโหวตงดออกเสียงให้ 6 รัฐมนตรี ได้แก่ พล.อ. ประวิตร, พล.อ. อนุพงษ์, นายศักดิ์สยาม, นายสันติ, นายนิพนธ์ และนายสุชาติ

ส่วนนายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ประกาศขอใช้เอกสิทธิ์ในการลงมติ ปรากฏว่าวันนี้เขาได้โหวตงดออกเสียงให้อดีตเลขาธิการ ปชป. อย่างนายจุติ

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ส.ส. ที่ไม่ปรากฏการลงคะแนนให้รัฐมนตรีรายใดเลยคือ นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา และนายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี ทราบในภายหลังว่าทั้งคู่แจ้งลาป่วย

นายนิพนธ์ บุญญามณี กลายเป็น รมต. ที่ได้คะแนนไว้วางใจสูงสุดในหมู่รัฐมนตรีของ ปชป. ที่ถูกอภิปรายทั้งหมด 3 คน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

6. พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ซึ่งประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ด้วยปริมาณมือในสภา 16 เสียง พร้อมใจกันลงมติไว้วางใจให้ “นายป้อม” พล.อ. ประวิตร เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนนายกฯ และรัฐมนตรีที่เหลือ เสียงส่วนใหญ่ของ ศท. ได้ร่วมลงมติไม่ไว้วางใจ

ก่อนหน้านี้เมื่อ 22 ก.ค. มีคำขู่จาก ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ศท. ว่า “หากพรรคเศรษฐกิจไทย ใครแหกกติกา ก็ไม่เลี้ยง ผมทำการเมืองไม่ชอบเป็นโสเภณีทางการเมือง” แต่ก็ยังปรากฏว่ามี ส.ส. อย่างน้อย 4 คนที่ไม่ได้โหวตตามทิศทางของพรรค

สำหรับ 4 ส.ส. ที่ลงมติไว้วางใจให้นายกฯ และยังโหวตไว้วางใจ หรืองดออกเสียงให้รัฐมนตรีบางคน ประกอบด้วย นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี, นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก, พล.ต.อ. ยงยุทธ เทพจำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะที่ ส.ส. อีก 1 คนคือ นายสะถิระ เผือกประพันธ์ ส.ส.ชลบุรี ไม่ปรากฏการลงคะแนนให้รัฐมนตรีรายใดเลย ทราบในภายหลังว่าแจ้งลาป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบ

ล่าสุดนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะนายทะเบียนพรรค ศท. ระบุว่า เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว และจะเรียก ส.ส. ทั้งหมดมาชี้แจง ก่อนพิจารณาบทลงโทษต่อไป ซึ่งจะมีตั้งแต่การภาคทัณฑ์ไปจนถึงโทษสูงสุดคือ ขับออกจากพรรค

หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยและลูกพรรคโหวตไว้วางใจให้ พล.อ. ประวิตรโดยพร้อมเพรียง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

7. พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคร่วมรัฐบาลที่มี 12 เสียงในสภา ปฏิบัติตามมติของวิปรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นการลงมติให้รองนายกฯ จุรินทร์ ที่ปรากฏว่า 3 ส.ส. ของพรรค ประกอบด้วย นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม, นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด เลือกที่จะงดออกเสียง

8. พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ซึ่งอยู่ขั้วฝ่ายค้าน มี ส.ส. 1 คน จากทั้งหมด 10 คน ที่ไม่ปรากฏว่ามีการลงคะแนนเลยคือ นายอำไพ กองมณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทราบในภายหลังว่าแจ้งลาป่วยเพราะติดโรคโควิด-19

9. พรรคประชาชาติ (ปช.) แม้อยู่ขั้วฝ่ายค้าน แต่มี ส.ส. 1 คน จากทั้งหมด 7 คน ที่ลงมติไว้วางใจให้รัฐมนตรีทุกคน นั่นคือ นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

10. พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) แม้เป็นพรรครัฐบาล แต่มี ส.ส. 1 คน จากทั้งหมด 6 คน ร่วมลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคน นั่นคือ นายนิยม วิวรรธรดิษกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ยังมี ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 2 คนคือ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ และ น.ส.จิราพร นาคดิลก ที่โหวตไม่ไว้วางใจนายสุชาติ

11. พรรคเพื่อชาติ (พช.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน มี 6 เสียงในสภา แต่ปรากฏว่า นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ลงมติไว้วางใจให้แก่ 2 รัฐมนตรีสังกัด ภท. และโหวตงดออกเสียงให้รองนายกฯ ประวิตร ส่วนนายศรัณวุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ใช้สิทธิงดออกเสียงให้รัฐมนตรีรวม 9 คน ยกเว้น พล.อ. ประยุทธ์-พล.อ. ประวิตร ที่เขาร่วมอภิปรายและโหวตคว่ำ นอกจากนี้ยังมี น.ส.ปิยะรัญชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นางลินดา เชิดชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่โหวตงดออกเสียง ให้ รมว.แรงงาน ด้วย

12. พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (รป.) พรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่ 2 เสียง ปรากฏว่านายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ได้โหวตคว่ำนายนิพนธ์ และโหวตงดออกเสียงให้นายจุรินทร์ ส่วนนายยรรยงก์ ถนอมพิชัยดำรง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ปรากฏการลงคะแนนในช่วงลงมติให้ 3 รัฐมนตรีคือ นายจุรินทร์, นายนิพนธ์ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ส.ส. พรรคเล็กรวมตัวกันเรียกตัวเองว่า "กลุ่ม 16" ก่อนที่นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.พปชร. หัวหน้ากลุ่ม จะประกาศยุติบทบาท

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

13. พรรคเสียงเดียวที่อยู่ในซีกรัฐบาล 8 พรรค ได้แก่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคเพื่อชาติไทย ที่ไปเคลื่อนไหวว่าในนาม “กลุ่ม 16” ได้ลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามในการลงมติให้รัฐมนตรีสังกัด ปชป. 2 คนมีเสียงผิดแผกออกไป

นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม โหวตไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ และนายจุติ ส่วนนายนายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย โหวตไม่ไว้วางใจนายจุติ และงดออกเสียงให้แก่นายจุรินทร์

14. พรรคเสียงเดียวที่อยู่ในซีกฝ่ายค้าน 2 พรรคคือ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ ลงมติไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรีครบถ้วน

15. ประธาน/รองประธานสภา 3 คน พบว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภา สังกัด ปชป. ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในระหว่างการลงมติ ได้ใช้สิทธิ “งดออกเสียง” ให้แก่นายกฯ และรัฐมนตรีทุกคน ส่วนนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา สังกัด พปชร. และนายศุภชัย ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา สังกัด ภท. เลือกโหวต “ไว้วางใจ” รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกครบทุกคน

cg

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. ก่อนลงมติในวันนี้ (24 ก.ค.) ผลปรากฏว่า พล.อ. ประวิตร ได้รับคะแนนไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิกสูงที่สุดถึง 268 เสียง ส่วนนายจุรินทร์ได้รับคะแนนไว้วางใจจากสภาต่ำที่สุดเพียง 241 เสียง โดยมี พล.อ. อนุพงษ์ เป็นผู้ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุด 212 คะแนน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 256 ต่อ 206 งดออกเสียง 9

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 4 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 5 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 241 ต่อ 207 งดออกเสียง 23

  • คะแนนไว้วางใจน้อยสุดในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีคะแนนเป็นอันดับที่ 11
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 4 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 264 ต่อ 205 งดออกเสียง 3

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 2 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 7 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีคะแนนเท่ากับนายนายศักดิ์สยาม และนายชัยวุฒิ

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 268 ต่อ 193 งดออกเสียง 11

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 1 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด
  • คะแนนไม่ไว้วางใจต่ำที่สุด ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีผู้ไม่ไว้วางใจเขาเพียง 193 คนเท่านั้น

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 245 ต่อ 212 งดออกเสียง 13

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 8 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 1 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการ ภท. ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 262 ต่อ 205 งดออกเสียง 5

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 3 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 7 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีคะแนนเท่ากับนายอนุทิน และชัยวุฒิ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สังกัด พปชร. ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 249 ต่อ 205 งดออกเสียง 18

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 5 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีคะแนนเท่ากับนายสันติ
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 7 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีคะแนนเท่ากับนายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สังกัดปชป. ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 244 ต่อ 209 งดออกเสียง 17 ไม่ลงคะแนน ไม่มี

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 9 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 2 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และเลขาธิการ พปชร. ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 249 ต่อ 204 งดออกเสียง 18

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 5 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีคะแนนเท่ากับนายชัยวุฒิ
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 10 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย สังกัด ปชป. ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 246 ต่อ 206 งดออกเสียง 20

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 7 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด และมีคะแนนสูงที่สุดในหมู่รัฐมนตรีร่วมสีฟ้าทั้ง 3 คน
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 5 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด โดยมีคะแนนเท่ากับนายกฯ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สังกัด พปชร. ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 243 ต่อ 208 งดออกเสียง 20

  • คะแนนไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 10 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด เรียกว่ามีคะแนนเกือบบ๊วย
  • คะแนนไม่ไว้วางใจสูงเป็นอันดับ 3 ในหมู่ผู้ถูกอภิปรายทั้งหมด
line

อ่านภาพรวมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้ที่นี่

ไฮไลท์วันแรก

ไฮไลท์วันที่สอง

ไฮไลท์วันที่สาม

ไฮไลท์วันที่สี่

ตรวจสอบผลการลงมติ

 

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว