ร.10 : เฉลิมพระชนม์ 70 พรรษา กับพระบรมราโชวาทที่ว่าด้วย กฎหมาย ข้าราชการ และโควิด

ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค. 2565 บีบีซีไทยขออัญเชิญพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานต่อข้าราชการ อัยการ ผู้พิพากษา และเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

ร.10

ที่มาของภาพ, Reuters

กฏหมายเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ต้องอาศัยดุลยพินิจที่ถูกต้องด้วย

24 มี.ค. 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา นำ ผู้พิพากษาประจำศาล รุ่นที่ 72 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

ในโอกาสนี้ นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นางกรกันยา สุวรรณพานิช เลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายภีม ธงสันติ เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้พิพากษาประจำศาล ในการปฏิบัติหน้าที่ ความว่า

“การที่ผู้พิพากษาประจำศาลได้มาให้คำสัตย์ปฏิญาณ ก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเตือนใจตัวเองว่า บัดนี้ จะปฏิบัติงานเป็นผู้พิพากษา อันเป็นตำแหน่งหน้าที่สำคัญที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประเทศชาติ และประชาชน ในการอำนวยความยุติธรรมนั้นมีข้อควรคำนึงอยู่ว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับรักษาความยุติธรรมก็จริง แต่เมื่อจะนำมาใช้ต้องอาศัยดุลยพินิจที่ถูกต้องด้วย ผู้พิพากษาจึงต้องใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ และวินิจฉัยตัดสินอย่างถูกต้อง ชอบธรรม ตามตัวบทกฎหมาย ตามศีลธรรมและตามความเป็นจริง หากท่านทั้งหลายจะได้คำนึงถึงเรื่องนี้ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จผลตามที่ได้ปฏิญาณไว้ ก็จะสามารถสร้างสรรค์จรรโลงความยุติธรรม ให้เป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชนได้อย่างแท้จริง ขออำนวยพรให้ทุกท่านมีความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความสุขความเจริญตลอดไป”

เทเวศประกันภัย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ความสงบสุขของประเทศคลี่คลายลงได้ด้วยความยุติธรรม

20 พ.ย. 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา นำ คณะผู้พิพากษาประจำศาล จำนวน 172 ราย เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา

ในโอกาสนี้นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลยาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายสิทธิพงศ์ ตัญญพงศ์ปรัชญ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ช่วยทำงานชั่วคราว ในตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายภีม ธงสันติ เลขาธิการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมเฝ้าฯ ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัส แก่คณะผู้พิพากษาประจำศาล เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติติหน้าที่ โดยมีใจความว่า

“คนเราเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศ ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้างเป็นปรกติ ความสงบสุขของประเทศจึงมิได้เกิดจากการที่ไม่มีความขัดแย้ง แต่อยู่ที่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นคราวใด ก็จะสามารถคลี่คลายลงได้ด้วยความยุติธรรม

จึงกล่าวได้ว่าความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของความสงบสุข หากปรารถนาจะให้ประเทศมีความสงบสุขก็ต้องอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ท่านทั้งหลายผู้เป็นผู้พิพากษา มีหน้าที่โดยตรง ในการธำรงรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน จึงต้องยึดมั่นในคำปฏิญาณของตนอย่างเคร่งครัด แล้วตั้งใจพิจารณาเรื่องราวข้อขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยวิจารณญาณที่ถูกต้องในการนี้ ความรู้ในตัวบท กฎหมายก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ทุกคนก็จำเป็นต้องสำนึกตระหนักด้วยว่า การใช้กฎหมายเพื่อผดุงรักษา ความยุติธรรมให้ได้แท้จริงนั้น ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง โดยไม่สวนทางกับศีลธรรม จริยธรรม ของมนุษยธรรม ถ้าทำได้ดังนี้ ท่านก็สามารถรักษาคำปฏิญาณ ที่จะธำรงความยุติธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญแห่งความสงบสุขของประเทศได้สำเร็จสมบูรณ์”

King Maha Vajiralongkorn

ที่มาของภาพ, Reuters

อัยการต้องใช้วิจารณญาณอันรอบคอบ

3 ก.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด นำอัยการประจำกอง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

นายสมศักดิ์ เวทย์วิไล รองอัยการสูงสุด นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ และนายรมย์ศักย์ ธรรมชัยเดชา เลขานุการอัยการสูงสุด ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่อัยการประจำกอง มีใจความว่า

“งานในหน้าที่ของท่าน ต้องอาศัยคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่ง คือวิจารณญาณ อันเที่ยงตรง ถูกต้อง วิจารณญาณดังกล่าวนั้น จะเกิดมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเรามีความรู้สึกที่ลึกซึ้ง กว้างขวาง มีประสบการณ์ที่สร้างสมมาอย่างเพียงพอ และมีใจเที่ยงตรง เป็นกลาง สามารถคิด พิจารณาสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ได้ตามเป็นจริง

จึงขอให้อัยการทุกคน หมั่นเสริมสร้างวิจารณญาณอยู่เสมอ และปฏิบัติติหน้าที่ทุกอย่าง โดยใช้วิจารณญาณอันรอบคอบ ประกอบด้วยหลักวิชา หลักเหตุผล และหลักธรรม แต่ละคนก็จะสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ให้สำเร็จสมบูรณ์ได้ ตามที่มุ่งหมาย”

ร.10

ที่มาของภาพ, สำนักพระราชวัง

ข้าราชการต้องมี “วิจารณญาณอันเที่ยงตรงถูกต้อง”

1 เม.ย. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2565 มีใจความว่า

“ข้าราชการ คือ ผู้ที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน จึงจำเป็นต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าสิ่งใดคือประโยชน์ สมควรปฏิบัติ และสิ่งใดไม่ใช่ประโยชน์ ไม่สมควรปฏิบัติ ความเข้าใจทั้งนี้ เป็นผลจากวิจารณญาณอันเที่ยงตรงถูกต้อง ซึ่งข้าราชการทุกคนควรจะได้ฝึกฝนและสร้างสมให้เป็นคุณสมบัติประจำตัวสืบไป”

สำนักพระราชวัง

ที่มาของภาพ, สำนักพระราชวัง

พระราชทานความช่วยเหลือ ช่วงโควิด-19 ระบาด

28 ก.ค. 2564 สำนักพระราชวังแถลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชน ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกาย และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19

ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ พระราชทานแก่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถาน เรือนจำต่าง ๆ เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้ยังพระราชทานอาหาร ซึ่งทรงปรุงด้วยพระองค์เอง และเจลแอลกอฮอล์พระราชทาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกายและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย

6 เม.ย. 2563 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่ ๆ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ให้ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เพื่อให้กำลังใจพสกนิกรไว้ดังนี้

“มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหา ก็ยินดี เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี้ ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือเรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเผื่อมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีการเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือความเข้าใจในปัญหานั่นเอง

อันแรกก็เป็นอย่างนี้ อันที่ 2 ก็คือจากข้อที่ 1 ก็คือการมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุด โดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผน และการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป และจะแก้ได้ในที่สุด

ฉะนั้นก็เชื่อ เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน แล้วก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางที่ก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบ ด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายว่าเราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ แต่โรคจะไม่ไป ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องเสียสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการสร้าง กล้าพอที่จะสร้างนิสัยหรือ สร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”

พระราชดำรัส
http://phralan.in.th

…..


ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว