“พวกเราคนหนึ่งป่วยหนัก แต่บนเรือไม่มียาอะไรเลย บางคนพกแอลกอฮอล์มาด้วย ผมก็เลยเลือกที่จะดื่มให้เมาเพื่อกลบความกลัวตาย” ศิวะ ชายชาวศรีลังกาผู้ถูกลักลอบพาเข้าออสเตรเลียทางเรือ กล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2012 เพียงแค่ 3 ปีหลังจากที่กองทัพของศรีลังกาเอาชนะกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้เมื่อ พ.ค. 2009 จนนำไปสู่จบจุดของสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
“เราทนทุกข์มา 30 ปี มันทำให้พวกเราตกอยู่ในความยากจน เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้ผมกลายเป็นคนติดเหล้า” ศิวะเล่าให้บีบีซีฟัง
“นั่นคือตอนที่เพื่อนคนหนึ่งของผมถามขึ้นมาว่าผมอยากนั่งเรือไปออสเตรเลียกับเขาไหม” พ่อลูกสองจากศรีลังกาตอนเหนือ กล่าว”ว่ากันว่ามีคนเสียชีวิต 5 คน บนเรือลำก่อนหน้าจากอาการป่วย การเมาคลื่น และตกทะเล”
แผลเป็นจากสงคราม
ชาวทมิฬมากมายที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกาทนทุกข์ไม่ต่างจากศิวะ ทั้งบาดแผลทางร่างกายและความเจ็บปวดทางจิตใจ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความขัดแย้งที่สร้างความสูญเสียมากมาย และความพยายามในการหาทางออก
“ตอนนั้น ผู้คนเดินทางมาออสเตรเลียด้วยเรืออย่างผิดกฎหมายมากมาย ทุกอย่างเกิดขึ้นผ่านคนกลางที่ผมได้รู้จักผ่านเพื่อนอีกทีหนึ่ง เขาเรียกเงินผมหนึ่งล้านรูปีศรีลังกา (ราว 300,000 บาท) สำหรับตลอดการเดินทาง และต้องจ่ายล่วงหน้าครึ่งหนึ่ง”
ศิวะกล่าวว่าเขาเอาเครื่องประดับของภรรยาไปจำนำทั้งยังไปกู้เงินที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อนำมาจ่ายให้นายหน้า
แหล่งรวมการลักลอบ
เนกอมโบ เมืองชายฝั่งทางตะวันตกของศรีลังกา เป็นแหล่งใหญ่ของการค้ามนุษย์
จู๊ด เจ้าของเรือท้องถิ่นจากเนกอมโบเล่าให้เราฟังว่าเขาเคยลักลอบส่งคนนับร้อย ๆ คนไปยังออสเตรเลียและอิตาลีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
เส้นทางเดินเรือจากศรีลังกาในมหาสมุทรอินเดียไปออสเตรเลียก็เป็นเส้นตรง ขณะที่อิตาลีเป็นที่นิยมจากชื่อเสียงเรื่องโอกาสทางการทำงาน เนกอมโบ รู้จักกันในชื่อ “ลิตเติลโรม” ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก
“มีอยู่ครั้งหนึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ผมลักลอบขนคนทีเดียว 130 คนไปอิตาลี ด้วยเรือเครื่องยนต์คู่ลำหนึ่ง” จู๊ดบอกกับบีบีซีอย่างภาคภูมิใจ
เขาเล่าว่านักลักลอบขนคนข้ามประเทศนิยมกุข่าวลือเรื่องการปรับนโยบายผู้อพยพในประเทศอย่างออสเตรเลียเพื่อหลอกล่อเหยื่อ
“หากเราได้ยินว่าประเทศเหล่านี้จะหย่อนมาตรการผู้อพยพและผู้ลี้ภัยลง นั่นเป็นโอกาสของเรา” เขากล่าว
“อาหารและเครื่องดื่มจะถูกจัดหาขึ้นมาเตรียมไว้บนเรือในเวลาไม่นาน เช่นเดียวกับเชื้อเพลิง”
ข้อมูลจากรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2020 ของสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2018 เหยื่อของขบวนการลักลอบขนคนข้ามประเทศมีสัดส่วนเป็นผู้หญิง 46% เป็นเด็กหญิง 19% เป็นผู้ชาย 20% และเป็นเด็กผู้ชาย 15%
ทว่าจู๊ดไม่ได้เป็นคนจัดหาผู้โดยสารเหล่านี้ด้วยตัวของเขาเอง และเขาก็ไม่ลงเรือไปกับเหล่าผู้ลักลอบข้ามประเทศเช่นเดียวกัน
“เหล่านายหน้าเป็นคนจัดหาและพาคนพวกนั้นมา เราเรียกราคาประมาณครึ่งล้านรูปีศรีลังกา (ราว 150,000 บาท) ตอนที่พวกเขาถามถึงค่าใช้จ่าย พวกนายหน้ายังเก็บเงินประมาณครึ่งล้านไว้กับพวกเขาเองจากการจัดหาผู้คน” จู๊ดอธิบาย
“นายหน้าเหล่านี้จับกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 10-15 คน กระจายไปทั่วประเทศ เมื่อรวมกันพวกเขามีจำนวนประมาณ 50 คน” เขาเสริม
จู๊ดกล่าวว่าในธุรกิจนี้ นายหน้าคือคนที่ได้กำไรที่แท้จริง
“ในขณะเดียวกัน เราจัดหากัปตันเรือ และลูกเรืออีก 4-5 คนเพื่อช่วยเรา เราจดทะเบียนเรือภายใต้ชื่อของกัปตันเรือ เนื่องจากจะไม่มีการเดินเรือกลับหรือการติดตาม ลูกเรือทั้งหมดจะเดินทางไปถึงชายฝั่งพร้อมกับผู้ลักลอบข้ามประเทศ”
นี่เป็นการเดินทางเที่ยวเดียว ไม่ใช่แค่กับเหล่าผู้เดินทางเท่านั้น แต่หมายถึงกับลูกเรือเช่นเดียวกัน เนื่องจากพวกเขาก็หาที่ลี้ภัยไม่ต่างกัน
ความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม
จู๊ดกล่าวว่าการเดินทางด้วยเรือใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน เพื่อไปยังอิตาลีผ่านคลองสุเอซ การเดินทางไปออสเตรเลียใช้เวลาน้อยกว่า โดยปกติเพียง 10-15 วันเท่านั้น
ทว่าไม่มีอะไรการันตีได้ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน
ศิวะกล่าวว่านายหน้าขอให้เขาและผู้ที่ลงเรือลำเดียวกันมาอีก 60 คน จ่ายเงินที่เหลืออีก 140,000 บาท ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางขึ้นฝั่ง
แม้สงครามจบลงแล้ว แต่ชาวทมิฬหลายร้อยคนถูกบังคับให้หายสาบสูญไปในตอนเหนือของศรีลังกาา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากถูกทำร้าย ขณะที่นักข่าวจำนวนไม่น้อยถูกสังหาร หรือหายตัวไปในช่วงเวลานั้น
รัฐบาลปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบุคคลเหล่านี้
ก่อนปี 2009 ทั้งสองฝั่งต่างก็ใส่ร้ายซึ่งกันและกันถึงประเด็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การลักพาตัวยังคงดำเนินต่อไปแม้จะยัคฆ์ทมิฬอีแลมพ่ายแพ้ไปแล้ว
“แม้ผมต้องตายบนเรือ คนก็ไม่ได้เห็นค่าอะไร”
“ประเมินจากสถานการณ์หลังสงครามในศรีลังกาจบลง ผมรู้สึกราวกับว่าแม้ผมต้องตายบนเรือ คนก็ไม่ได้เห็นค่าอะไร” ศิวะกล่าว
ทว่าเมื่อได้ใช้เวลาสองถึงสามวันกลางทะเล เขาก็เริ่มคิดถึงลูกสองคนและภรรยาที่บ้าน
“ผมหยุดคิดถึงพวกเขาไม่ได้เลย” เขาย้อนความ
หลังผ่านไป 22 วัน ศิวะและคนอื่น ๆ เดินทางถึงน่านน้ำออสเตรเลีย
ผู้แสวงหาการลี้ภัยที่โดนจับได้ในน่านน้ำออสเตรเลียขณะพยายามเดินทางเข้าประเทศด้วยเรือจะถูกส่งตัวไปยังสถานที่กักขังหลายแบบ ซึ่งรวมถึงการส่งออกไปยังประเทศอย่างนาอูรูและปาปัวนิวกินี หรือถูกส่งไปยังเกาะคริสต์มาสซึ่งตั้งอยู่บนมหาสุทรอินเดียและอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลีย
ศิวะเล่าว่าพวกเขาถูกกักตัวไว้ที่เกาะคริสต์มาสจนมีการพิจารณาคดี
“ผู้ถูกคุมตัวบางคนซึ่งใช้เวลาอยู่ในค่ายดังกล่าวนานนับเดือนหรือนับปีบอกกับผมว่าถึงแม้ผมจะได้อยู่ออสเตรเลียแต่ผมจะไม่สามารถพาลูกและภรรยนามาอยู่ด้วยกันได้ หรือถ้ามีช่องทางให้พามาได้ มันก็ต้องใช้เวลานานหลายปีมาก”
หลังผ่านไป 30 วัน เขาและผู้ถูกคุมตัวอีก 13 คน ถูกส่งตัวกลับศรีลังกาเนื่องจาก “คำร้องของพวกเขามีน้ำหนักไม่เพียงพอ”
ตามคำบอกเล่าของจู๊ด นักลักลอบขนคนข้ามประเทศหยุดเส้นทางส่งคนไปอิตาลีมาหลายปีแล้วเนื่องจากมีต้นทุนสูงและข้อบังคับต่าง ๆ ต่อผู้แสวงหาการลี้ภัย
“มันเป็นเรื่องง่ายที่จะลักลอบขนคนไปออสเตรเลียในช่วงสองสามปีที่แล้ว แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องยากไปแล้ว” เขาอธิบาย
เหยื่อที่เปราะบาง
เมื่อถามจู๊ดว่าเขารู้สึกผิดต่อการทำผิดกฎหมายและหากำไรจากผู้คนที่สถานการณ์ที่ยากลำบากซึ่งอาจหมายถึงการเสี่ยงชีวิตหรือไม่ จู๊ดตอบว่ามโนธรรมของเขายังคงชัดเจน
“เราไม่ได้รู้สึกผิดตอนที่คนเหล่านี้ขึ้นเรือและจ่ายเงินให้เราเพื่อไปหาอิสรภาพในชีวิต พวกเขาเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” จู๊ดกล่าว “มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าของเรือว่าพวกเขาจะเดินทางไปถึงชายฝั่งหรือไปจบที่ค่ายกักตัว พวกเขารู้ความเสี่ยงของเส้นทางนี้ดีก่อนเดินทาง”
ทั้งนี้จู๊ดยอมรับว่าเขารู้สึกแย่ที่เห็นผู้หญิงและเด็ก ๆ ต้องเดินทางในสภาพที่เลวร้าย
“ก่อนหน้านี้ มักมีแต่ผู้ชายที่เดินทางมาหาเรา แต่ตอนนี้ครอบครัวและเด็กเล็ก ๆ จ่ายเงินให้เรามากขึ้น”
“ผู้คนเห็นแต่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็น”
แทนที่จะรู้สึกผิด จู๊ดยืนยันว่าผู้ลักลอบเช่นเขาอยู่ตรงนี้เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือ
“ถ้าเราลักลอบขนคนสัก 50 คน เราก็มักจะให้เด็กวัยรุ่นสองถึงสามคนจากหมู่บ้านใกล้ ๆ ที่ไม่สามารถจ่ายเงินเองได้ติดไปด้วย”
แต่นี่ไม่ใช่เส้นทางตรงที่จะทำให้ฝันเป็นจริง
จู๊ดยอมรับว่าความอ่อนแอและการขาดการตระหนักรู้ว่าความจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรทำให้ผู้คนยังคงหันมาพึ่งผู้ลักลอบเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขาเข้าไม่ถึงการอพยพอย่างถูกกฎหมาย
“ผู้คนรู้จักเราจากปากต่อปาก พวกเขายังได้ยินเรื่องของเรามาจากคนที่ไปอยู่ออสเตรเลียผ่านการนั่งเรือ ได้รับวีซ่า และทำงานได้เงินจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ความจริง แต่ผู้คนเห็นแต่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็น” เขากล่าว
ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น
ตามข้อมูลจากกองทัพเรือศรีลังกา ตัวเลขของประชากรที่พยายามหลบหนีเข้าประเทศออสเตรเลียผ่านทางเรือมีมากขึ้นในปีนี้
โฆษกกองทัพเรือศรีลังกา กัปตัน อิดิกา เด ซิลวา กล่าวกับบีบีซีว่า หากนับถึงเดือน ก.ค. 2022 มีประชาชน 864 คน ที่พยายามลักลอบเข้าประเทศออสเตรเลียผ่านทางเรือและถูกจับกุม โดยเรือ 15 ลำ จากจำนวนทั้งหมดถูกยึดไว้
นอกจากนี้ ชาวศรีลังกา 137 คน ที่พยายามลักลอบเข้าประเทศออสเตรเลียถูกส่งตัวกลับประเทศ
ตามข้อมูลจากกองทัพเรือศรีลังกา เรือสองลำที่เดินทาไปยังแคนาดาในปี 2021 และ 2022 ถูกสกัดกั้นไว้ได้เช่นเดียวกัน
กัปตัน เด ซิลวา ชี้ว่า ไม่มีการจับเรือผิดกฎหมายได้ในปี 2020 ระหว่างที่เกิดวิกฤตโรคระบาด
เขาชี้ว่านายหน้าจะคอยไปหลอกคนจนหรือผู้ที่มีความเปราะบางและชี้นำพวกเขาว่าสามารถไปยังประเทศร่ำรวยอย่างออสเตรเลียและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
นักค้ามนุษย์ยังมักหลอกเหยื่อเหล่านี้ว่าการเดินทางเป็นครอบครัวจะเป็นประโยชน์ทางกฎหมายมากขึ้นด้วย กัปตัน เด ซิลวา เสริม
“มีจำนวนครอบครัวที่ลงเรือพร้อมเด็กเล็กสูงขึ้น นักค้ามนุษย์เหล่านี้หลอกผู้คนด้วยการพูดว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์จากกฎหมายมนุษยชนในบางประเทศ”
โฆษกกองทัพเรือศรีลังกากล่าวว่าทั้งหน่วยงานเองรวมไปถึงตำรวจตระเวนชายแดนของออสเตรเลียทำงานร่วมกันในการจับกุมผู้อพยพผิดกฎหมายเหล่านี้
ไม่มีอาหาร ไม่มีเชื้อเพลิง ไม่มียารักษาโรค
ศิวะสุขุมขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางกลับมาถึงศรีลังกาและจ่ายหนี้ที่ติดค้างไว้หลังเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง
แต่แล้วเศรษฐกิจศรีลังกาก็มาติดหล่มวิกฤตเงินสำรองระหว่างประเทศที่ร่อยหรอจนแทบไม่เหลือ ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถนำเข้าเชื้อเพลิงหรือยารักษาโรคได้เพียงพอ ขณะที่ราคาอาหารก็พุ่งสูงขึ้น
ผู้คนต้องต่อแถวนับกิโลเมตรในปั๊มน้ำมัน โดยคนขับรถมักหลับอยู่ในรถรอนับสัปดาห์ให้ถึงคิวตัวเอง
จำนวนประชากรที่หนีไปยังประเทศเพื่อบ้านอย่างอินเดียเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ และศิวะกำลังคิดถึงอนาคตของเขาเช่นเดียวกัน
“ผมคิดถึงการกลับไปออสเตรเลีย จากสถานการณ์ของศรีลังกาตอนนี้ ก่อนหน้านี้เป็นเพราะสงคราม ตอนนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจ…มันไม่มีอาหาร ไม่มีเชื้อเพลิง ไม่มียารักษาโรคในประเทศนี้”
(*ชื่อทั้งหมดของทั้งนักค้ามนุษย์และผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศออสเตรเลียเป็นชื่อสมมติเพื่อปกปิดตัวตน)
………..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว