รัฐประหารเมียนมา : กองทัพยืดเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 6 เดือน อ้างเหตุวุ่นวายในประเทศ

รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศขยายระยะเวลาการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน โดยอ้างสถานการณ์วุ่นวายจากการต่อสู้ภายในประเทศที่ปะทุขึ้นหลังเหตุรัฐประหารเมื่อปีก่อน

กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว โดยให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งที่เป็น “อิสระและยุติธรรม” ขึ้นใหม่ในอนาคต เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน

หลังทำรัฐประหาร กองทัพได้ประกาศบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อช่วยให้มีอำนาจในการจับกุมประชาชนเพิ่มขึ้น และมีการขยายคำสั่งนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว

ซึ่งล่าสุด กองทัพอ้างว่าจะต้องใช้เวลามากกว่านี้เพื่อสร้างเสถียรภาพในประเทศ โดยในการแถลงผ่านสื่อของทางการ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย หัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมา ได้กล่าวโทษว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลที่เขาเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” และ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government หรือ NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาเมียนมาที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย

Myanmar's Prime Minister and State Administrative Council Chairman Min Aung Hlaing

ที่มาของภาพ, Reuters

เขาชี้ว่าปัญหาความไม่สงบนี้ รวมทั้งการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถดำเนินแผนการสร้างสันติภาพตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษเพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาหลังเกิดเหตุรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงการยุติความรุนแรง และการเจรจากับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่สันติภาพในเมียนมา

พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นผู้นำสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของเมียนมา และตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า จะต้องมีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งในประเทศ โดยผสมผสานระหว่างระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนกับการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวที่ผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซู จี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในศึกเลือกตั้งปี 2020

เขาอธิบายเรื่องนี้ว่า อิทธิพลของ “พรรคการเมืองใหญ่” กลบเสียงทางการเมืองอื่น ๆ

กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารโดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตครั้งมโหฬาร ในการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีของนางซู จี ได้คะแนนเสียงกว่า 83% และคณะผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศระบุว่าการเลือกตั้งส่วนใหญ่ดำเนินไปอย่างอิสระและเป็นธรรม

นับแต่นั้น ก็ทำให้ชาวเมียนมาทั่วประเทศออกมาชุมนุมประท้วง อีกทั้งมีการจับกุมนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ขณะที่นางซู จี ถูกดำเนินคดีหลายคดี และได้ถูกย้ายไปขังเดี่ยวในเรือนจำเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 4 คน ซึ่งรวมถึง นายเพียว เซยาร์ ตอ อดีตสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี และนายก่อ จิมมี นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยชื่อดัง ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติ

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners หรือ AAPP) ระบุว่านับแต่เกิดรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารประชาชนไปกว่า 2,100 คน

ขณะที่ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุว่า ในช่วง 18 เดือนมีผู้ถูกจับกุมไปแล้วกว่า 6,200 คน

People flash a three-finger salute as they take part in an anti-coup night protest at Hledan junction in Yangon, Myanmar, March 14, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

ดอ สิ่น หม่า อ่อง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลเงาเมียนมา (NUG) เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติช่วยจัดส่งอาวุธและกองกำลังให้แก่ NUG เพื่อใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้มาตรการลงโทษที่เด็ดขาดต่อรัฐบาลทหาร และให้การยอมรับ NUG เป็นรัฐบาลโดยชอบธรรมของเมียนมาโดยทันที

ฉันทามติ 5 ข้อ

ในการประชุมสุดยอดนัดพิเศษของผู้นำอาเซียนต่อวิกฤตการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเมษายน 2021 ที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติ 5 ประการ ดังนี้

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด

2.กระบวนการเจรจาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์ของประชาชน

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการพูดคุยเจรจา โดยเลขาธิการอาเซียนจะช่วยให้การสนับสนุน

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน AHA Centre (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance)

5.ทูตพิเศษและคณะทำงานจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว