ความหย่อนยานในที่ลับ

สวัสดีค่ะ อวัยวะของเราเมื่อใช้ไปนาน ๆ หรือใช้ไปหนัก ๆ ก็ย่อมมีเสื่อมสภาพกันได้

วันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่อง “กระบังลมหย่อน” กันนะคะ กระบังลมที่ว่า ไม่ใช่กระบังลมที่กั้นระหว่างช่องอกกับช่องท้องนะคะ (อันนั้นก็กระบังลมเหมือนกัน)

แต่กระบังลมหย่อนที่จะพูดกันในวันนี้ หมายถึง กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อ ที่ช่วยพยุงอวัยวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน อันได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ ช่องคลอด มดลูก ลำไส้ส่วนปลายค่ะ

ถ้ากระบังลมที่ว่าเกิดหย่อนยานขึ้นมา อวัยวะในอุ้งเชิงกรานก็จะหย่อนคล้อยลงมาเช่นกันค่ะ

– เหตุใด กระบังลมถึงหย่อนได้

สาเหตุที่ทำให้กระบังลมหย่อน ได้แก่ อายุมาก เข้าวัยทองเพราะอย่างที่บอกค่ะ อวัยวะเมื่อผ่านไปตามกาลเวลา ยิ่งเข้าวัยทอง รังไข่หยุดทำงาน ความยืดหยุ่น เด้งดึ๋งของเนื้อเยื่อหมดไป ก็จะทำให้เกิดการหย่อนยานของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้ค่ะ นอกจากนี้ คนที่ชอบยกของหนัก ๆ คนอ้วน มีพฤติกรรมที่เพิ่มความดันในช่องท้องบ่อย ๆ เช่น ท้องผูก (เบ่งอุจจาระประดุจคลอดลูก) ไอเรื้อรัง ก็มีโอกาสเร่งให้กระบังลมหย่อนได้เช่นกันค่ะ

– อาการที่สงสัยว่า เราน่าจะมีกระบังลมหย่อนซะแล้ว มีอะไรบ้าง

กระบังลมหย่อนที่ว่า มีหลายระดับค่ะ หย่อนมาก หย่อนน้อย ถ้าหย่อนน้อย ๆ บางคนยังไม่มีอาการค่ะ แต่ถ้าไปตรวจภายในประจำปี คุณหมอสูตินรีเวชจะพอบอกได้ว่า เริ่มหย่อนมากน้อยแค่ไหน ถ้าหย่อนน้อย ๆ จะได้ขมิบเพื่อป้องกันไม่ให้หย่อนมากขึ้นค่ะ ถ้าเริ่มหย่อนมากขึ้น ก็จะมีอาการหน่วงที่ช่องคลอด รู้สึกมีอะไรจุก ๆ ที่ช่องคลอดได้ บางคนจะมีอาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะลำบาก รู้สึกปัสสาวะไม่สุดปวดหลัง บางคนจะมีปัญหาในการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด

– ป้องกันกระบังลมหย่อนอย่างไรดี

เราสามารถป้องกันกระบังลมหย่อนได้โดยการลดความเสี่ยง อย่างพวก ยกของหนัก ไอเรื้อรัง ความอ้วน และท้องผูกได้ค่ะ คือ หลีกเลี่ยงกิจกรรมใด ๆ ที่เพิ่มความดันในช่องท้องนั่นเอง และก็ออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณนั้นด้วยการ “ขมิบ” ค่ะ โดยใช้กล้ามเนื้อมัดเดียวกันกับกล้ามเนื้อที่เราเอาไว้หยุดปัสสาวะ (ลองไปปัสสาวะแล้วลองหยุดปัสสาวะดูค่ะ แค่ลองให้รู้สึกถึงกล้ามเนื้อพอนะคะ เวลาขมิบเป็นประจำ ไม่ควรทำตอนปัสสาวะค่ะ)

อาจจะเริ่มจากขมิบแล้วค้างไว้ 3 วินาที แล้วคลาย 3 วินาที 10 ครั้งต่อหนึ่งเซต วันหนึ่งทำสัก 3 เซตก็ได้ค่ะ แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลา ทีละ 1 วินาที จนได้ 10 วินาทีต่อครั้งค่ะ แต่ถ้าหย่อนมาก ขมิบไปก็อาจจะไม่ช่วยนะคะ ควรปรึกษาคุณหมอสูตินรีแพทย์เพื่อรักษาต่อค่ะ

วันนี้คงได้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบังลมหย่อนและวิธีป้องกัน กันบ้างแล้วนะคะ สวัสดีค่ะ