คุยกับผู้จัดเกาหลี “ฮยอกกี อารอน มิน” บัตรคอนเสิร์ต-แฟนมีตในไทยทำไมแพง?

W.K.언니 ([email protected])

 

ธุรกิจจัดโชว์จากไอดอล-ศิลปินเกาหลี คึกคักและจัดถี่มากขึ้นทุกวัน เพราะความต้องการของเหล่าแฟนคลับ ทำให้นักลงทุนหน้าเก่า หน้าใหม่ กระโดดลงมาร่วมชิงเค้กในตลาดนี้ จากปีก่อนที่รวบรวมผู้จัดอยู่ที่ 10 ราย ล่าสุดจำนวนผู้จัดรวมทั้งสิ้นกว่า 20 ราย แล้ว สำหรับรูปแบบงานที่ได้รับความนิยมคือ แฟนมีตติ้ง และคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ ศิลปินที่กระแสดีก็มักจะถูกแย่งตัวกันอุตลุด ต้องทุ่มทั้ง “เงิน” และ “คอนเนคชั่น” ทำให้ผู้จัดและเอเจนซี่ต่างเสนอราคาค่าตัวที่สูงกว่าปกติให้กับต้นสังกัดของศิลปิน

ฉะนั้นเมื่อต้นทุนมาสูงแล้ว จะทำอย่างไรให้มีกำไรมากที่สุด คำตอบก็คือ “อัพราคาบัตร” ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ฮยอกกี อารอน มิน” (HYUCKKEE  ARRON MIN) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดราก้อนส์ ฮิลล์  จำกัด “ฮยอกกี” บอกว่า ไทยเป็นตลาดที่การแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะศิลปินหรือไอดอลที่จัดอยู่ในระดับท็อปของวงการ ผู้จัดจะยื่นราคาเสนอที่ค่อนข้างสูงเพราะเชื่อมั่นว่าทำกำไรได้แน่นอน เขาเองก็เปิดบริษัท RHINO 23 ในย่านกังนัม เพื่อทำธุรกิจในแบบเดียวกันมากว่า 5 ปีแล้ว แต่การแข่งขันก็ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับไทย

ฮยอกกี พบว่า ทั้งราคาค่าตัวของศิลปินและราคาบัตรเข้าชม “แพงมาก” และไม่ควรสูงไปมากกว่านี้  (ราคาบัตรเฉลี่ยของเกาหลีอยู่ที่ 1,500-3,000 บาท ส่วนไทยอยู่ที่เฉลี่ย 3,000-6,000 บาท) และถ้าดูจากสภาพของตลาด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ “เอเจนซี่และผู้จัด”

JBJ95 1st CONCERT ‘HOME’ IN BANGKOK/dragonhillent

“ฮยอกกี” บอกอีกว่า นโยบายรัฐบาลเกาหลีใต้ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างมาก ไม่ว่าจะแข่งขันอย่างไร แต่ในเรื่องของ “ราคา” จะต้องเหมาะสม เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบันเทิงในระยะยาวได้ และขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์ทั้งในฝั่งเกาหลีใต้และไทย อยู่ในระหว่างหารือร่วมกันว่าจะแก้ไขเรื่องราคาบัตรแพงได้อย่างไร ก่อนที่ราคาจะถูกปรับเพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้

เขายังอธิบายในเชิงธุรกิจต่ออีกว่า หากลดต้นทุนที่เกินความเป็นจริงออก ทำให้ราคาบัตรลดลงดามไปด้วย รวมถึงยังทำให้ผู้จัดมีลูกเล่นมาดึงดูดคอเกาหลีมากขึ้น หรือที่เรียกว่า  “สิทธิพิเศษ” (Benefit ) ไม่ว่าจะเป็น ไฮทัช กรุ๊ปโฟโต้ แจกลายเซ็นต์ เป็นต้น

แหล่งข่าวในแวดวงผู้จัดอีเวนต์เกาหลีในไทยให้ข้อมูล ว่า แวดวงนี้ไม่ได้มีเพียงปัญหาราคาบัตรเข้าชมที่มีราคาสูงเท่านั้น ยังมีอีกหลายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันทางธุรกิจ 1) จำนวนผู้จัดอีเวนต์เกาหลีที่เพิ่มมากขึ้น จากในยุคเริ่มต้นที่มีเพียง 4-5 ราย แต่ปัจจุบันมีมากกว่า 20 ราย เช่น บริษัท รีจิสตาร์ จำกัด บริษัท ไอเอ็มอี โปรดักชั่นส์ ไทยแลนด์ จำกัด

ERIC NAM 1st FANMEETING IN BANGKOK <I COLOR U/dragonhillent

2) เอเจนซี่ที่ได้สิทธิ์ในการจัดโชว์คอนเสิร์ต-แฟนมีตติ้ง เสนอขายผู้จัดไทยในราคาสูง เอเจนซี่บางรายต้องการขายแบบเป็นแพ็ค หรืออาจจะเรียกว่า “บังคับจัด” ยกตัวอย่างผู้จัดที่ต้องการได้สิทธิ์จัดโชว์ วง A จะถูกยื่นข้อเสนอให้ซื้อสิทธิ์ในศิลปินอื่นๆ พ่วงเข้ามาด้วย เพื่อไม่ให้เสียคอนเนคชั่น ผู้จัดจึงปฎิเสธไม่ได้ แม้จะรู้ว่าเสี่ยงขาดทุน

3) ผู้จัดส่วนใหญ่จะไม่รับสปอนเซอร์ (Sponsor) เพราะจะต้องแบ่งรายได้ส่วนนี้ให้กับเอเจนซี่ สัดส่วนขึ้นอยู่กับการเจรจา บางรายกำหนดไว้สูงถึง 80%  ส่วนที่เหลือ 20% ผู้จัดยังต้องจ่ายภาษี ซึ่งไม่คุ้มค่า ในแง่ของสปอนเซอร์เมื่อให้การสนับสนุนแล้ว แต่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไรเลย อย่างน้อยที่สุดมีเพียงให้สิทธิตั้งบูธเพื่อจำหน่านสินค้าเท่านั้น

และ 4) ผู้จัดพยายามเพิ่มความถี่ในการจัดงานมากขึ้น เนื่องจากจะมีทั้งงานที่มีกำไรและขาดทุน เมื่อนำมาคำนวนถัวเฉลี่ยแล้วผลประกอบการก็ยังเป็นบวก โดยผู้จัดที่เริ่มขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บริษัท โฟร์วันวัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่ขยายตลาดไปที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

แหล่งข่าวเสริมในตอนท้ายว่า หากผู้จัดเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้จริง ถือเป็นเรื่องดี เพราะประเด็นราคาบัตรมีการท้วงติงจากเหล่าคอเกาหลีมานาน นานพอๆ กับอายุของบอยแบนด์บางวงด้วยซ้ำ


อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อกังวลตามมาอีกว่า เรื่อง “ฮั้วราคา” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ??