ความสัมพันธ์ Kasabian กับ เลสเตอร์ วงดนตรีกับทีมบอลที่เกื้อหนุนกันและกัน

Music Talk by ท้องฟ้าสีเทา

ตอนที่ทราบข่าวเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ นอกจากประเด็นความสูญเสีย ประเด็นทางธุรกิจของคิง เพาเวอร์ และประเด็นเกี่ยวกับสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่เรานึกถึงคือประเด็นวงดนตรีกับทีมฟุตบอลที่เกื้อหนุนกัน ซึ่งอยากเขียนถึงมานานแล้ว เพราะรู้ว่าเลสเตอร์ ซิตี้ มีวงดนตรีที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของทีมอยู่หนึ่งวง คือ คาเซเบียน (Kasabian) วงอัลเทอร์เนทีฟร็อกจากอังกฤษที่คนไทยรู้จักคุ้นหูกันอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ได้เขียนซะที 

จนวันหนึ่งหลังเกิดเหตุ ผู้คนมากมายไปวางดอกไม้ไว้อาลัยเจ้าสัววิชัยที่สนามคิง เพาเวอร์ สเตเดียม มีภาพและข่าวออกมาว่าหนึ่งในนั้นคือ ทอม เมแกน (Tom Meighan) นักร้องนำวงคาเซเบียน

ทอม ในสีหน้าและแววตาโศกเศร้า ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาเสียใจมากกับการสูญเสียครั้งนี้

“พวกเขาเป็นคนที่อัศจรรย์มาก พวกเขาเข้ามาที่นี่แล้วช่วยให้สโมสรเราหมดหนี้สิน และรอดพ้นจากการหนีตกชั้น พวกเขาพาเราคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ตอนนี้มันรู้สึกเหมือนความฝันดับสิ้นไปแล้ว

ผมอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน ผมเสียใจกับเรื่องนี้มาก ผมมาเพื่อแสดงความเคารพผู้ชายที่ช่วยสโมสรของเรา ผมรู้สึกแย่มากตอนนี้ ผมจำได้ ผมเคยเจอกับคุณวิชัยสองครั้ง และผมเคยมาเล่นที่สนามแห่งนี้สองครั้ง ผมเคยเจอเขา  เขาทักทายผม และกอดผม มันเป็นความทรงจำที่ดีมาก ผมคิดว่าเลสเตอร์ตอนนี้รู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น เราต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นฟูจิตใจ”

ข่าวนี้ยิ่งชวนให้นึกถึงความเชื่อมโยงเกื้อหนุนกันระหว่างวงดนตรีกับทีมฟุตบอล และคิดว่าช่วงนี้น่าจะเหมาะที่จะนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

ในอังกฤษ ฟุตบอลและดนตรีมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ถ้าใครดูบอล ก็คงจะสังเกตเห็นว่าแต่ละสโมสรจะมีเพลงธีมของตัวเองที่ใช้เปิดในสนามเวลาก่อนหรือหลังแข่ง ซึ่งมักจะเป็นเพลงเดิม นั่นก็เพราะหลาย ๆ สโมสรมีคอนเซ็ปต์การเปิดเพลงที่มีความเชื่อมโยงกับสโมสร

เลสเตอร์ ซิตี้ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลกับวงดนตรีอย่างแน่นแฟ้น กับวงคาเซเบียนนี่เอง  

ตอนที่เราได้ไปเยือนสนามซ้อมและสนามแข่ง คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ของเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เห็นว่าในสโตร์มีโซนสินค้าคอลเล็กชั่นพิเศษที่เลสเตอร์ทำร่วมกับวงคาเซเบียน ก็เลยถือโอกาสถามเรื่องนี้กับคุณภุ หรือ ภุชงค์ มัสยวาณิช Assistant Club Secretary ของเลสเตอร์ ซิตี้

คุณภุชงค์เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเลสเตอร์ซิตี้กับคาเซเบียนให้ฟังว่า ด้วยความที่สมาชิกวงคาเซเบียนสองคน คือ ทอม เมแกน นักร้องนำ และ เซอร์จิโอ ลอเรนโซ มือกีตาร์ เป็นชาวเมืองเลสเตอร์ และเป็นแฟนบอลเลสเตอร์ ซิตี้ มาตั้งแต่เด็ก ส่วนฝั่งสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ก็มีวงคาเซเบียนเป็นแฟนบอลที่มีชื่อเสียงที่สุด จึงมีการติดต่อกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ กับคาเซเบียนจึงเชื่อมโยงกันมาตลอด

เพลงที่เลสเตอร์เปิดในสนามก่อนและหลังแข่งก็เป็นเพลง Fire ของคาเซเบียน ซึ่งมาจากคอนเซ็ปต์ของสโมสรที่ต้องการเพลงที่เชื่อมโยงกับสโมสร จึงต้องเป็นเพลงของคาเซเบียน แต่ให้นักฟุตบอลโหวตเลือกกันเองว่าเพลงไหนที่กระตุ้นจิตใจของนักเตะได้ดีที่สุด ซึ่งนักเตะเลือกเพลงนี้ จากนั้นเลสเตอร์จึงใช้เพลงนี้ทุกแม็ตช์ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว 

คอนเสิร์ตคาเซเบียน ในสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดียม

“ตอนเราได้แชมป์ คาเซเบียนก็มาร้องเพลงในงานฉลอง ฤดูกาลนั้นสมาชิกวงเข้ามาดูการแข่งขันเกือบทุกนัด เขามาเตะบอลเล่นกันกับนักแตะชุดใหญ่ของเลสเตอร์ปีละครั้ง และเขาเชิญนักเตะเลสเตอร์ไปดูคอนเสิร์ตเขาบ่อย ๆ”

แม้ว่าจะคล้ายกันกับหลาย ๆ ศิลปินที่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับสโมรฟุตบอลในบ้านเกิดของตัวเอง แต่ในกรณีของคาเซเบียนกับเลสเตอร์นั้นดูจะมากกว่าคู่อื่น ๆ เพราะถึงขนาดมีการออกคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าพิเศษร่วมกัน ซึ่งทำมา 2 ปีแล้ว (ตอนนี้กำลังขึ้นปีที่สาม)

คุณภุชงค์บอกว่า เลสเตอร์ ซิตี้ เริ่มทำสินค้าคอลเล็กชั่นพิเศษร่วมกับคาเซเบียนมาตั้งแต่ปีที่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก เพราะอยากขยายสโตร์ให้มีสินค้าที่เจาะลูกค้าหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะแฟนฟุตบอลอย่างเดียว อย่างสินค้าที่ทำกับคาเซเบียนจะเป็นเสื้อผ้าลำลอง ทำปีละคอลเล็กชั่น ซึ่งทางวงได้เข้ามามีส่วนในการออกแบบร่วมกับทีมดีไซน์ของสโมสรว่าอยากทำอะไรบ้าง คุยกันว่าดีไซน์แบบไหนที่เข้ากับสไตล์ของคาเซเบียน แต่ยังมีความเป็นเลสเตอร์อยู่ด้วย

“วงก็ให้ใจกับทีมเต็มที่ ไม่คิดค่าเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งใด ๆ เขาถือว่ามาช่วย และเขาถือว่าเขาได้โปรโมตตัวเองด้วย เป็นการแลกเปลี่ยน ส่งเสริมกัน และเขาเต็มใจจะทำ เพราะเขาเป็นแฟนเลสเตอร์”  

ตอนที่คุยกับคุณภุชงค์ เป็นการถามแบบปุบปับที่เขาไม่ได้เตรียมข้อมูลด้านนี้มา ก็เลยไม่มีข้อมูลตัวเลขว่าสินค้าคอลเล็กชั่นพิเศษนี้ทำยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน แต่เขาบอกว่า เวลามีแม็ตช์แข่งขันก็เห็นแฟนบอลสวมเสื้อคอลเล็กชั่นของคาเซเบียนมาดูเยอะ คิดว่าน่าจะขายได้ดีพอสมควร

นอกจากนั้นคุณภุชงค์บอกว่า ทีมงานของสโมสรติดต่อพูดคุยกับวงคาเซเบียนและผู้จัดการวงตลอดว่าจะทำอะไรร่วมกันบ้าง เสนอกันไป-มา เคยคุยเรื่องการทำเพลง การทำโปรเจ็กต์ร่วมกัน แต่ต้องรอให้วงว่างจากทัวร์ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตที่สนาม ซึ่งทางวงก็บอกว่าอยากเล่นให้เลสเตอร์นะ แต่ไม่อยากเล่นบ่อยทุกปี เพราะอยากให้การเล่นคอนเสิร์ตแต่ครั้งเป็นคอนเสิร์ตครั้งพิเศษของทั้งวงและสโมสร

“อย่างตอนที่มาเล่นฉลองแชมป์นั้นพิเศษมาก ตอนนั้นวงก็ยุ่ง แต่เขายอมแคนเซิลทัวร์ เพื่อมาเล่นให้เลสเตอร์ เพราะเป็นวาระพิเศษ”

นั่นคือคำบอกเล่าจากคนของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น จากเดิมที่เรารู้เพียงว่าคาเซเบียนเป็นแฟนบอลเลสเตอร์ และไปเชียร์เลสเตอร์แข่งบ่อย ๆ เหมือนกับที่เคยได้ยินข่าวว่าโนลและเลียม กัลลาเกอร์ ไปเชียร์แมนเชสเตอร์ ซิตี้ บ่อย ๆ

นอกจากเพลง Fire ที่เป็นเพลงธีมในสนามแข่งของเลสเตอร์ ซิตี้แล้ว วงคาเซเบียนยังมีเพลง Underdog อีกเพลงที่เชื่อมโยงกับสโมสรฟุตบอลเป็นอย่างดี เพราะเนื้อหา ความหมายคำว่า “Underdog” มันโดนใจสโมสรฟุตบอลเล็ก ๆ ที่ถูกมองเป็น “ไม้ประดับ” เป็น “ม้านอกสายตา” เพลงนี้จึงถูกนำไปใช้เป็นเพลงธีมของสโมสรเล็ก ๆ หลายสโมสรในลีกรอง ๆ ล่าง ๆ ลงไป

————————————

*ตอนที่คุยกัน คุณภุชงค์ถามว่า “คาเซเบียนดังมั้ยครับที่เมืองไทย” เราตอบไปว่า ดังประมาณหนึ่งในหมู่คนฟังเพลงอินดี้ ตอนที่ตอบก็แอบหวังว่าในอนาคต คิง เพาเวอร์จะชวนคาเซเบียนมาไทยบ้างมั้ยนะ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไป …ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ อย่างการที่เลสเตอร์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก โอกาสน้อยแค่ไหนก็ยังเกิดขึ้นจริงไปแล้ว