Maho Rasop Festival งานดีมีรสนิยม ก้าวสำคัญของเทศกาลดนตรีเมืองไทย

Music Talk by ท้องฟ้าสีเทา 

แม้ว่าในเมืองไทยมีการจัดงานที่เรียกว่า “เทศกาลดนตรี” มานานหลายปีแล้ว แต่เอาเข้าจริง ถ้าเลือกนับดูดี ๆ ก็มีอยู่ไม่กี่งานที่น่าจะเรียกว่า “เทศกาลดนตรี” ได้จริง ๆ เพราะคำว่า “เทศกาล” น่าจะหมายถึงอะไรที่เป็นวาระพิเศษ และมีอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี แต่เทศกาลดนตรีในบ้านเราดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสถานที่ แต่ศิลปินชื่อเดิม ๆ คล้ายหรือซ้ำกันแทบทุกงาน

ยิ่งถ้าจะนับเฉพาะเทศกาลดนตรีที่อยู่ในมาตรฐานสากลก็แทบจะไม่มีเลย เห็นมีก็แต่งานที่มีวงต่างประเทศมาเป็นเฮดไลน์หนึ่งหรือสองวง ที่เหลือก็เป็นไทยล้วน ซึ่งที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่สนับสนุนศิลปินไทย แต่ถ้าจัดเป็นเทศกาลทั้งที มันก็ควรมีการรวมศิลปินนานาชาติที่หาโอกาสดูยากมาเยอะ ๆ เพราะศิลปินไทยเรามีโอกาสได้ดูกันบ่อยอยู่แล้ว

บ่นมาซะยาว ก็เพื่อจะชมเทศกาลดนตรี Maho Rasop Festival (มหรสพ เฟสติวัล) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งร่วมกันจัดโดย HAVE YOU HEARD ?, ฟังใจ และ Seen Scene Space ผู้จัดงานเจ้าเล็กที่ผนึกกำลังกันสร้างผลงานยิ่งใหญ่

…เช่นกันกับศิลปินที่เลือกมา แม้ว่าไม่ใช่บิ๊กเนม และหลายวงโนเนมด้วยซ้ำในบ้านเรา เพราะงานนี้คอนเซ็ปต์ของงานคือเป็นเทศกาลดนตรีนอกกระแส ฉะนั้น ดัง ๆ แมส ๆ จึงแทบจะไม่ได้เห็น แต่เมื่อวงนอกกระแสเหล่านี้มารวมอยู่ในงานเดียวกัน ก็เกิดเป็นงานเทศกาลดนตรีที่มาตรฐานดี และรสนิยมดีมาก ๆ

เทศกาลนี้จัดกลางแจ้ง ณ Live Park พระราม 9 มีเวทีการแสดง 3 เวที-เวทีใหญ่ Maho-Ran Stage, เวทีกลาง Khao-Horm Stage และเวทีเล็ก Serng-Swing มีศิลปินเข้าร่วมแสดง 19 ศิลปิน พื้นที่เปิดโล่ง เหมาะสำหรับจัดเทศกาลดนตรีที่มีหลายเวที ต้องเดินเปลี่ยนเวทีไปมา

แน่นอน ไฮไลต์ของงานอยู่ที่เวทีใหญ่ เพราะเป็นเวทีที่รวมศิลปินระดับอินเตอร์ อย่าง Slowdive วงร็อกจากอังกฤษ, The Vaccines วงร็อกจากอังกฤษ, Miami Horror วงอินดี้พ็อปจากออสเตรเลีย, Washed Out นักร้องนักแต่งเพลงแนวซินธ์พ็อปจากอเมริกา รวมถึง Dean หนุ่มอาร์แอนด์บี-ฮิปฮอปจากเกาหลี ที่มีแฟนเพลงในเมืองไทยเยอะถึงขนาดเคยมีคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเองมาแล้ว

Miami Horror

งานเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่าย ๆ โดยเอา Miami Horror มาแสดงตั้งแต่แดดเปรี้ยง เป็นการดึงคนเข้างาน ซึ่งก็ได้ผล เพราะคนเยอะตั้งแต่หัววัน

ตารางการแสดงจัดให้เหลื่อม ๆ กันนิดหน่อย แต่ไม่ตรงกันซะทีเดียว ทำให้คนที่อยากดูหลายศิลปินที่เล่นในเวลาคาบเกี่ยวกันสามารถเดินสลับเวทีได้ โดยไม่ต้องเลือกเพียงหนึ่งเดียว

การดูคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรีจะต่างจากการดูคอนเสิร์ตเดี่ยวเต็มรูปแบบของศิลปิน ตรงที่มันเป็นการ explore สิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ต่างจากฟุลคอนเสิร์ตของศิลปินรายใดรายหนึ่งที่เราตั้งใจไปก็เพราะเราชอบศิลปินรายนั้น แต่สำหรับเทศกาลดนตรี เราอาจจะมีวงที่ตั้งใจอยากไปดู แต่เราจะไปงานเพื่อดูแค่วงที่ชอบจริง ๆ เหรอ ? ไม่สิ เราควรต้องเปิดหู เปิดตา เปิดใจ อย่างผู้เขียนเองก็มีวงที่อยากดูอยู่ไม่กี่วง ที่เหลือก็ลองเดินสุ่ม ๆ ดู ปรากฏว่าเจอของดีหลายวงเลย

วงแรกที่สร้างเซอร์ไพรส์ คือ Sunflower Bean วงอัลเทอร์เนทีฟจากสหรัฐอเมริกา ที่มาเล่นอยู่เวทีกลาง ซึ่งเราเดินเข้าไปโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นใคร แต่ก็พบว่าดนตรีอันกราดเกรี้ยวของพวกเขาดึงดูดความสนใจมาก ๆ (แต่มาย้อนฟังเพลงในอัลบั้มกลับไม่กราดเกรี้ยวเหมือนที่เล่นสด แต่ก็น่าฟังดี)

อีกรายที่ชอบคือ Washed Out ที่พาดนตรีซินธ์พ็อปอันมีสีสันของเขามาสร้างความเพลิดเพลินเป็นอย่างดี บวกกับวิชวลสวย ๆ ที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจมากไปอีก

แต่ขณะที่เพลินกับ Washed Out ก็มีเสียงกีตาร์แตกระเบิดอันเป็นจุดขายของดนตรีโพสต์ร็อกดึงดูดให้ต้องรีบวิ่งไปที่เวทีกลาง เพื่อพบกับวง Wang Wen วงโพสต์ร็อก 5 ชีวิตจากประเทศจีน ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่เล่นได้โหด พลังทำลายล้างสูงจริง ๆ ยิ่งกับคนที่ชอบดนตรีโพสต์ร็อกอยู่แล้ว …เอาใจไปเลยจ้า

Slowdive

แล้วกลับมาที่วงไฮไลต์ของงาน Slowdive วงร็อกสาย shoegaze จากอังกฤษ ที่พาบรรยากาศจมดิ่งขมุกขมัวกับเสียงกีตาร์แตกพร่าของพวกเขามาแสดงสดให้คนไทยได้ดูครั้งแรก ซึ่งถ้าใครรอคอยอยู่ ก็พูดได้เลยว่า “ตายตาหลับ” แล้ว

แล้วปิดท้ายที่เวทีใหญ่ด้วยความสนุกเมามันที่เวทีใหญ่กับ The Vaccines ที่สร้างความสนุกสนานได้อย่างไม่ผิดหวัง เป็นการปิดเทศกาลได้อย่างสมบูรณ์แบบ

The Vaccines

งานนี้ต้องขอชมว่าผู้จัดมีรสนิยมดี เลือกวงมาดี จึงเป็นการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ที่สร้างความประทับใจให้คนดูได้มากจริง ๆ เพราะลองคิดดูว่า ถ้าเดินไปดูวงที่ไม่รู้จักแล้วดันเล่นไม่ได้เรื่อง การเปิดหูเปิดใจครั้งนั้นจะเป็นประสบการณ์ที่แย่ และจะส่งผลต่อทัศนคติในการเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ไปเลย


เห็นมีงานอย่างนี้ก็ชื่นใจ และมีความหวัง… นี่คือก้าวสำคัญของการจัดเทศกาลดนตรีในเมืองไทย ซึ่งถ้ามีใครจัดงานต่อ ๆ ไปแล้วก้าวต่อไปข้างหน้า พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะมีเทศกาลดนตรีดี ๆ ให้ดู ไม่ต้องอิจฉาญี่ปุ่น เกาหลีกันแล้ว