Maho Rasop Festival เทศกาลดนตรีที่เชื่อใจได้ว่าไม่มีผิดหวัง 

ท้องฟ้าสีเทา and friends: เรื่อง

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว เราได้เขียนถึงงานเทศกาลดนตรี Maho Rasop Festival (มหรสพ เฟสติวัล) โดยตั้งหัวเรื่องไว้ว่า “Maho Rasop Festival งานดีมีรสนิยม ก้าวสำคัญของเทศกาลดนตรีเมืองไทย” ซึ่งในเนื้อหาได้ชื่นชมคุณภาพของงานไว้ว่างานดีมาก โดยเฉพาะรสนิยมการเลือกศิลปินเข้าร่วมแสดงในงาน เป็นความหลากหลายที่ล้วนแต่มีคุณภาพ

มาปีนี้ 3 ผู้จัดเจ้าเดิม HAVE YOU HEARD?, Fungjai และ Seen Scene Space ก็ร่วมกันยกระดับ Maho Rasop Festival ขึ้นไปอีกขั้นด้วยการจัดงานใหญ่ขึ้น เชิญศิลปินจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมแสดงทั้งหมด 34 รายชื่อ และเพิ่มการจัดงานเป็นสองวัน เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 16-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

งานปีนี้จัดที่ Live Park พระราม 9 ที่เดิมเมื่อปีที่แล้ว เวทีการแสดงมี 3 เวที ประกอบด้วย Maholan Stage เป็นเวทีใหญ่สุดของงาน ศิลปินบิ๊ก ๆ ในงานขึ้นแสดงที่เวทีนี้, Khamram Stage เวทีกลางที่มีศิลปินดี ๆ มาโชว์ขโมยซีนเวทีใหญ่ได้ทุกปี และ Yoklor Stage เวทีเล็กที่ปีนี้ย้ายจากลานกลางแจ้งเข้าไปอยู่ในฮอล

การจัดงานปีนี้ผู้จัดคงมีการเก็บข้อผิดพลาดหรือคำคอมเมนต์จากงานปีที่แล้วมาปรับปรุงแก้ไข เห็นได้จากการแบ่งโซนพื้นที่ที่ครั้งนี้ละเอียดมากขึ้น อย่างคราวที่แล้วมีโซนสูบบุหรี่จุดเดียวบริเวณนอก ๆ เกือบถึงทางเข้างาน แต่ปีนี้มีเพิ่มอีกโซนใกล้ ๆ เวทีใหญ่ ทำให้คนดูดบุหรี่สามารถชมการแสดงไปด้วยได้ หรืออย่างพื้นที่ระหว่างเวทีใหญ่กับเวทีกลางที่ปีนี้มีผ้าสีดำมากั้นให้แยกส่วนกันชัดเจน ทำให้แสงและบรรยากาศของสองเวทีไม่ตีกัน และย้ายเวทีเล็กที่เดิมอยู่ใกล้กับเวทีใหญ่เข้าไปไว้ในฮอล เป็นสัดเป็นส่วนชัดเจน

สิ่งที่ผู้จัดสร้างความประทับใจเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว และเป็นที่จดจำมากที่สุดของแบรนด์ Maho Rasop Festival ก็คือในแง่รสนิยมการเลือกศิลปินของผู้จัดที่เชื่อใจได้ว่าการไปงานนี้จะเป็นการเปิดประสบการณ์ทางดนตรีที่คุ้มค่ากับความเหนื่อย เพราะต่อให้เป็นศิลปินที่เราไม่รู้จักหรือไม่เคยฟังมาก่อน ถ้าเราเดินเข้าไปดูก็จะพบว่า “ดีมาก” หรือ “ดี” หรืออย่างน้อยก็ “ดูได้เพลิน ๆ” จะไม่มีศิลปินที่ดูแล้วต้องหันไปพูดกับเพื่อนว่า “ไม่โอเคว่ะ”

แม้ว่าปีนี้จะมีเทศกาลดนตรีอีกงานที่จัดชนกันทั้งสองวัน แถมยังเป็นงานที่มีกลุ่มเป้าหมายร่วมกันอยู่ด้วย ทำให้คาดการณ์ว่า งานปีนี้อาจจะคนไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ปรากฏว่าผิดคาดไปมาก เพราะงานปีนี้คนเยอะกว่าปีที่แล้ว นี่คงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า คำชมที่ได้รับเมื่อปีที่แล้วส่งผลให้เกิดเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่งในปีนี้

การแสดงทั้งสองวันเริ่มต้นในเวลาบ่ายสามโมง ตั้งแต่ยังแดดเปรี้ยง ๆ แต่ผู้เข้าร่วมงานก็หาได้กลัวแสงยูวี แต่ละคนแต่งตัวพรีเซนต์รสนิยมของตัวเองมาสู้แดดอย่างเต็มที่

ต้องขอออกตัวว่า ด้วยความที่มีงานสองงานจัดชนกัน ผู้เขียนต้องกางตารางโชว์สองงานมาเลือกศิลปินที่อยากดู และจัดสรรเวลาไปดูทั้งสองงาน ก็เลยพลาดการแสดงไปประมาณหนึ่ง แต่อาศัยมิตรสหายที่ปักหลักอยู่ในงานช่วยให้ข้อมูลบางส่วน

จากศิลปินทั้งหมด 17 รายในวันแรก ศิลปินที่ได้ดูและรู้สึกว่าน่าสนใจตั้งแต่ช่วงที่ฟ้ายังสว่างก็คือ No Party For Cao Dong วงดนตรีที่ไม่คุ้นชื่อมาก่อน แต่พอหาข้อมูลของพวกเขาแล้วพบว่านี่คือวงร็อกจากไต้หวันที่เคยไปประกาศศักดาในเทศกาลดนตรี Glastonbury มาแล้ว บทเพลงภาษาจีนของพวกเขาไม่ได้ผลักไสคนดูออกไปแต่อย่างใด เพราะดนตรีคือพรมแดนที่เปิดกว้าง เช่นเดียวกับผู้ชมที่มาจากหลายแห่งของแผนที่โลก วงร็อก 4 ชีวิตจากไต้หวันวงนี้ฉีกอารมณ์จากวงสายอินดี้อื่น ๆ ในงานตรงที่ความสนุกและเมามันบนเวที จังหวะแน่นและรัดกุม ผสมกับดนตรีที่ซับซ้อน ดึงดูดความสนใจของคนดูได้ตลอดโชว์

ถัดมาเป็นศิลปินที่แฟน ๆ ชาวไทยรอคอยส่งเสียงเชียร์ นักร้องสำเนียงเฉพาะตัวและนักดนตรีฝีมือไม่ธรรมดา พร้อมเพื่อนร่วมวงมากความสามารถของเขารวบรวมคนดูเข้าสู่เวทีใหญ่ในช่วงใกล้ค่ำ เขาคนนั้นก็คือ Phum Viphurit เจ้าของเพลง “Lover Boy” ศิลปินไทยคนแรกที่สื่อดังระดับโลกอย่าง Rolling Stone เขียนถึง เพลงที่เป็นภาษาสากลของเขาสื่อสารกับผู้คนนานาชาติในเทศกาลดนตรีครั้งนี้อย่างสนุกสนาน โดยเฉาะช่วง beat box ของ Pom Tanapon มือเบส และบทปิดโชว์นักดนตรีในวงสลับเครื่องดนตรี ครั้งนี้ผู้เขียนได้ชมการแสดงของภูมิเป็นครั้งแรก และได้เห็นแล้วว่าทำไมหนุ่มคนนี้ถึงได้รับการยอมรับในระดับสากล การแสดงของภูมิมีออร่าแบบ “ศิลปินดัง” เปล่งประกายออกมาสูงมาก ซึ่งไม่ใช่นักร้อง-นักดนตรีทุกคนที่มีสิ่งนี้

The Horrors เป็นอีกวงดึงผู้ชมมากกว่า 3 ใน 4 ของงานมารวมกันที่เวทีใหญ่ หนุ่ม ๆ จากลอนดอนวงนี้พาดนตรีโพสต์พังก์สำเนียงยุค 1980s ในโทนสว่างและมีสีสันกว่ามาสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินจนลืมเวลา ไม่ใช่แค่ดนตรีเท่านั้นที่ให้ความรู้สึกเหมือนบรรดาวงยุค ’80s แต่เสียงร้องของนักร้องนำก็ชวนให้นึกว่าเอียน เคอร์ติส แห่ง Joy Division มาร้องเพลงอยู่ตรงหน้า

The Fin. วงดนตรีอินดี้จากโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เป็นไฮไลต์ปิดท้ายเวทีกลางได้อย่างสวยงาม เพลงของพวกเขาอวลไปด้วยเสียงสังเคราะห์ซินธ์ป็อป และซาวนด์ดนตรีที่บางครั้งชวนให้นึกถึงท่วงทำนองแบบซิตี้ป็อปจากยุค ’80s มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นชัดเจน ทั้งที่เนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะดีกว่านี้ถ้าเพลงของ The Fin. ถูกบรรเลงในเดือนพฤศจิกายนที่ฤดูหนาวมีจริง

ส่วน King Gizzard & The Lizard Wizard เฮดไลน์ในวันแรกที่ได้ยินว่าการแสดงสดเมามัน ปิดท้ายเวทีใหญ่ในค่ำคืนแรกอย่างสุดเหวี่ยง …อันนี้อดดู ก็เลยไม่สามารถพูดอะไรได้

สำหรับวันอาทิตย์มีศิลปินอีก 17 รายรออยู่ ไฮไลต์แรกอยู่ที่ Swim Deep วงอินดี้จากอังกฤษเริ่มบรรเลงเพลงต้อนรับผู้ชมเข้างานที่เวทีใหญ่ในเวลาบ่ายสามที่องศาของแดดส่องเข้าหาเวที แต่คนจำนวนมากก็รีบพุ่งเข้าหาเสียงเพลงอย่างไม่รีรอ จังหวะดนตรีที่ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป ซาวนด์ที่เป็นมิตรกับคนดู ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากเวลาของ Swim Deep คือหลังพระอาทิตย์ตก รสชาติของอินดี้ร็อกวงนี้จะพาผู้คนแหวกว่ายดำดิ่งไปถึงไหน

ที่สุดของเทศกาลปีนี้ (ส่วนตัว) ขอยกให้ Deafheaven วงที่ไม่คิดว่าจะได้ดูในเมืองไทยเร็วขนาดนี้ (ที่จริงไม่คิดว่าจะได้ดูเลยด้วยซ้ำ เพราะผู้จัดสายเมทัลจริง ๆ ก็คงไม่เอาเข้ามา 555) แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว ณ Khamram Stage (เวทีกลาง) Deafheaven เป็นศิลปินที่คอเพลงหนักกะโหลกในงานนี้รอคอย แต่ก็ที่ไม่ใช่เพียงแค่คอเพลงเมทัลเท่านั้นที่เข้ามาชมพลานุภาพการแสดงสดของพวกเขา วงโพสต์เมทัลจากซานฟรานซิสโกวงนี้ยังดึงคนดูที่ไม่คุ้นเคยกับดนตรีหนัก ๆ เข้ามาร่วมสนุกได้ด้วยซาวนด์ร่วมสมัย ผ่อนความหนักและความหวือหวาลงให้อยู่ในระดับที่ใคร ๆ ก็พร้อมโยกหัวและโดดเข้าใส่วง circle pit ไปพร้อม ๆ กันได้ โดยส่วนตัวแล้วการได้เห็นดนตรีเมทัลได้ออกมาเล่นในเทศกาลดนตรีที่มีคนฟังจำนวนมากและเป็นกลุ่มคนที่รสนิยมหลากหลาย แล้วคนที่ไม่เคยฟังเพลงพวกนี้มาก่อนก็เปิดใจเข้ามาเอนจอยด้วยกัน ถือเป็นภาพที่ดีและประทับใจมาก ๆ

ไฮไลต์สุดท้าย เป็นวงที่คนดูรอคอยและคงเป็นไฮไลต์สำหรับหลาย ๆ คนก็คือ Bombay Bicycle Club วงอินดี้จากอังกฤษที่ดึงคนเกือบทั้งงานมารวมตัวกันอยู่ที่เวทีนี้ แล้วพวกเขาก็ไม่ทำให้คนดูผิดหวัง สร้างความสนุกสนานตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเริ่มจากความสนุกเพลิน ๆ แล้วค่อย ๆ มันขึ้น ๆ แล้วปิดงานปีนี้ไปอย่างสนุกสนาน ยิ่งใหญ่ และสวยงาม

ด้วยรสนิยมการเลือกศิลปินที่พิสูจน์มาแล้ว 2 ปีว่าดีจริง ๆ เราก็คงต้องพูดซ้ำ ๆ ประเด็นเดิมว่า Maho Rasop Festival เป็นเทศกาลดนตรีที่เชื่อใจได้ว่าเหมาะแก่การเปิดประสบการณ์ทางดนตรี และเป็นเทศกาลดนตรีที่เป็นความหวังของคนฟังเพลงจริง ๆ ถ้าอยากดูบรรดาวงแปลก ๆ หรือวงดี ๆ ที่ไม่ดัง ก็ต้องฝากความหวังไว้กับงานนี้ ซึ่งการที่ผู้จัดให้คนดูเสนอชื่อศิลปินที่อยากดูในขั้นตอนการลงทะเบียนบัตรเข้างาน นั่นก็พอจะทำให้ได้ลุ้นกันว่าวงที่เราอยากดูอาจจะเป็นหนึ่งในไลน์อัพของ Maho Rasop Festival 2020 ก็ได้ รอดูกัน…