หลากหลาย กับสภาวะไร้เพศ…พาส่องนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination “

มิวเซียมสยาม ชวนคนไทยปลดล็อกมายาคติทางเพศ กับนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” นิทรรศการสุดว้าวที่รวบรวมสิ่งของจัดแสดงและเรื่องราวกว่า 100 ชิ้น ครอบคลุมหลากมิติเรื่องเพศ เรียนรู้-เข้าใจ คนรอบตัว ลึกซึ้งกว่าที่เคย…

ผู้จัดงานบอกกับเราว่า การจัดทำนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” ทีมพัฒนาใช้เวลากว่า 1 ปี 7 เดือน ในการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเนื้อหา ทัศนคติ สัมภาษณ์ ตลอดจนรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากทั่วประเทศ เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลายในสังคม

ขณะที่วันเปิดตัวของนิทรรศการนี้ตรงกับวันที่ 17 พ.ค. ที่เป็นวัน International day against homophobia, transphobia, biphobia หรือ “IDAHOT”…วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ที่ในปีนี้มาในธีม “Alliances for Solidarity” –พันธมิตรเพื่อการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

เขาวงกตแห่งเพศ

โซนกระตุกต่อมคิดมายาคติทางเพศ ในรูปแบบของทางวงกต ที่มีคำต่างๆ ซึ่งถูกใช้ในสังคมไทยเพื่อกรอบความคิดเรื่องเพศ ว่าคำใดสะท้อนความเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง อาทิ เพศแม่ รักนวลสงวนตัว กุลเกย์ ชายชาตรี เป็นต้น

มนุษย์ขนมปังขิง  ทำความเข้าใจความซับซ้อนของ “เพศ” ผ่านโมเดลมนุษย์ขนมปังขิง ที่นำเสนอความลื่นไหลระหว่าง สำนึกทางเพศ การแสดงออก เพศกำเนิด และความรู้สึกทางเพศ ว่าสามารถเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องเป็นไปตามแบบแผนของสังคม พร้อมการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีบอดี้ สแกนเนอร์ สะท้อนเรื่องของเพศสภาพ ที่เป็นเพียงปัจจัยภายนอก

ห้องน้ำไร้เพศ นำเสนอการแบ่งกล่องแห่งเพศซึ่งจำกัดแค่ความเป็นชายและหญิงในที่สาธารณะจากการใช้ห้องน้ำ พร้อมกระตุ้นความคิด จะดีกว่าหรือไม่ หากมีห้องน้ำไร้เพศ ในที่สาธารณะ

บันทึก-เพศ-สยาม  นำเสนอประวัติศาสตร์การเริ่มขึ้นของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน ผ่านแผนผังไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่สำคัญ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของสื่อต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมแชท โซเชียลมีเดีย เป็นต้น

ฉากชีวิต จัดแสดงที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น ซึ่งมีเรื่องราวเบื้องหลังของการค้นพบตัวตน ภาพถ่าย ของสะสม สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสิ่งของที่เป็นแรงบันดาลใจ และสะท้อนการใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ ใบปริญญาที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จดหมายจากบุพการีต่อลูกอันเป็นที่รัก พวงหรีดจากภรรยาที่ครอบครัวไม่เคยรู้มาก่อน

นอกจากนี้ ยังนำเสนอภาพยนตร์สั้นเพื่อความเข้าใจผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภาพศิลปะจากเยาวชนที่มีต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ตบแต่งตัวตน

สัมผัสประสบการณ์หลังม่านละครชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในรูปแบบของหลังเวทีโรงละคร ที่ให้ทุกคนสามารถทดลองแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าไร้เพศ วิก เมคอัพ ฯลฯ อิสระตามที่ใจต้องการ

คาเฟ่โรงละคร  โซนรวบรวมความคิดเห็นเพื่อสำรวจการขับเคลื่อนด้านสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยปัจจุบัน ผ่านการโหวต Yes/No ในประเด็นต่างๆ อาทิ ห้องน้ำไร้เพศควรมีในประเทศหรือไม่ คำนำหน้าชื่อควรเอกด้วยตัวเองหรือไม่ เป็นต้น พร้อมกำแพงที่ให้คุณได้ทลายกำแพงเพศสภาพผ่านงานศิลปะตุ๊กตากระดาษ