ศาลฎีกายกฟ้อง อดีตนักข่าว คดีหมิ่นประมาทฟาร์มไก่โดยการโฆษณา

ฟาร์มไก่ นักข่าว วอยซ์ทีวี

ศาลฎีกายกฟ้อง “สุชาณี” อดีตผู้สื่อข่าว ปมรายงานข่าวแรงงานเมียนมา 14 คน ชี้ จำเลยเป็นผู้สื่อข่าว มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ศาลจังหวัดลพบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดำ อ118/62 ที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาวสุชาณี รุ่งเหมือนพร หรือ นางสุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าว วอยซ์ ทีวี แผนกข่าวต่างประเทศ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

จากกรณีรีทวีตแจ้งข่าวแรงงานเมียนมา 14 คนในฟาร์มไก่ธรรมเกษตร โดยมี นางสาวกมลวรรณ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดลพบุรี เป็นผู้นั่งบนบัลลังก์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 14 ก.ย. 2561 สุชาณีได้รีทวีตแจ้งข่าวคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่ส่งผลให้ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ในฐานะผู้ประกอบกิจการฟาร์มไก่ที่ จ.ลพบุรี ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่แรงงานชาวเมียนมาทั้ง 14 คน เป็นจำนวน 1.7 ล้านบาทเศษ และในข้อความดังกล่าวมีคำว่า “กรณีใช้แรงงานทาส” จึงทำให้ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องร้องหมิ่นประมาท

ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทำให้สุชาณีสู้คดีโดยใช้เงินประกันตัว 75,000 บาท และสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ โดยต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3)

ต่อมาศาลฎีกามีความเห็นว่า ข่าวที่เผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ ทีวี ที่ระบุว่า “กสม.มีมติยืนยันการสอบสวนฟาร์มไก่ในลพบุรี” ซึ่งจำเลยเป็นผู้เขียนนั้น หมายถึงโจทก์ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานในประเด็นการไม่จ่ายค่าแรงงานตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยได้รับ

การโพสต์ข้อความจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การพิจารณาโจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีอคติ หรือนำเสนอข่าวเพื่อให้มีอำนาจเหนือโจทก์ จุดมุ่งหวังเพื่อที่จะขายข่าวเอาประโยชน์ใส่ตน และนายจ้าง จึงฟังไม่ได้ว่า เป็นการกระทำโดยทุจริตตามที่โจทก์ตีความ

ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเห็นว่า จำเลยเป็นสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานโดยตรง และในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิตรวจสอบ วิพากวิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ติชม โจทก์ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องด้วยข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ผู้พิพากษา ยกฟ้องมานั้นชอบแล้ว และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ภายหลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น สุชาณี คลัวเทรอ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว วอยซ์ ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนที่ถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก ไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคม เป็นเรื่องสำคัญที่สื่อต้องฉายแสงไปที่คนกลุ่มนี้ เพราะถ้าสื่อไม่พูด แล้วใครจะพูด

พร้อมย้ำว่า ณ วันนั้นที่ตนได้นำเสนอข่าวนี้ คิดแต่ว่า มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศ และเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ควรได้รับการเผยแพร่ อีกทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาด้วย ซึ่งสำหรับประสบการณ์ของตนแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคมมากนัก ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สาธารณชนควรได้รับรู้ และยืนยันว่า สื่อคือสื่อ สื่อต้องนำเสนอเรื่องที่เป็นสาธารณะ