สธ.แจ้งยกเลิกส่งยาต้านไวรัสโควิด-19 ให้ รพ.นอกสังกัด เริ่ม 1 ก.ย.นี้

ฟาวิพิราเวียร์

สธ.แจงโควิด-19 เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ โรครุนแรงน้อยลง เป็นการระบาดกลุ่มเล็ก จึงให้หน่วยบริการนอกสังกัด สธ. บริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในระบบปกติ

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งหนังสือประทับตรา ด่วนที่สุด ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง แจ้งยกเลิกการสนับสนุนยาต้านไวรัส สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ให้หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

โดยในเอกสารระบุเหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) โรคลดความรุนแรงลง และมีการระบาดเป็นกลุ่มเล็กเท่านั้น จึงมีการกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิ และให้หน่วยบริการนอกสังกัด สธ. บริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในระบบปกติ

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม สธ.บันทึกข้อความถึงอธิบดีกรมสนับสนุนบริการ​ที่ดูแลโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทั่วประเทศ และปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯที่ดูแลโรงพยาบาลของคณะแพทย์ต่าง ๆ แจ้งเปิดให้สามารถจัดซื้อยาต้านโควิด อาทิ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์​ หรือแพกซ์โลวิดได้เองตั้งแต่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

สาธารณสุข หนังสือด่วน
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งหนังสือประทับตรา ด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง แจ้ง ยกเลิกการสนับสนุนยาต้านไวรัส สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ให้หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป

มีฟาวิฯ โมลนูฯ ในคลัง 11.2 ล้านเม็ด

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยืนยันว่ามีการจัดหาและกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ ไปยังทุกจังหวัดอย่างเพียงพอ

พร้อมให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 มียาคงคลังในพื้นที่ คือ ยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ รวม 11.2 ล้านเม็ด และยังมีสำรองที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันอัตราการใช้ยาเพียงพอต่อการใช้มากกว่า 14 วัน และมีการติดตามการใช้ยาด้วยระบบ VMI เมื่อมีการใช้ยาจะส่งไปทดแทนต่อเนื่อง เพื่อให้ในพื้นที่มียาคงคลังสำหรับการใช้ในระยะเวลามากกว่า 14 วัน

นอกจากนี้ ส่วนกลางยังมีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์กว่า 2 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มเติม คือ ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 8 หมื่นขวด

อีกทั้งยาแต่ละรายการมีข้อบ่งชี้ในการใช้แตกต่างกัน ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย แม้จะเป็นกลุ่ม 608 ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ ข้อบ่งชี้และแนวทางการดูแลรักษาตามมาตรฐานของกรมการแพทย์

โดยยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับ 2 ขึ้นไป โรคไตเรื้อรังระยะ 3 ขึ้นไป โรคหัวใจและหลอดเลือดระดับ 2 รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิด ภาวะอ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI เกิน 30 กก./ตร.ม. มีภาวะตับแข็งระดับ 8 ขึ้นไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมินาน 15 วันขึ้นไป ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.ม. หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ คือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น

“แม้จะมีโรคเรื้อรัง แต่การจ่ายยาอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจากความเสี่ยงในกลุ่มที่มีอาการมากหรือควบคุมอาการไม่ได้ รวมทั้งยาต้านไวรัสรักษาโควิด-19 เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน ขณะนี้อนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาลและคลินิกเวชกรรม ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อยามากินเอง จะเป็นอันตรายได้” นายแพทย์ธงชัยกล่าว