8 ปีแห่งการต่อสู้ของภรรยา กับศรัทธาในตุลาการไทย หลังสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวก

มึนอ

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ภรรยาของ “บิลลี่” ยังมองไม่เห็นความหวัง แม้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวก 4 คน ฐาน “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ยอมรับว่า หมดศรัทธาในตุลาการไทย เพราะท้ายสุดผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงก็ยังลอยนวล

ช่วงสายวันที่ 16 ส.ค. หรือไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังบีบีซีไทยและสื่อไทยหลายสำนัก รายงานข่าวการสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวก พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 พึ่งออกจากโรงพยาบาล หลังรถล้ม ทำให้เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด ใช้แขนข้างหนึ่งไม่สะดวก

เมื่อบีบีซีไทยสอบถามมึนอถึงความคืบหน้าสำคัญของคดีบิลลี่ เธอตอบกลับมาว่า “เห็นข่าวแล้วก็รู้สึกเฉย ๆ”

“ความหวังมันน้อยมากเลย มันรอมานาน เหมือนทำอะไรไม่ได้” มึนอ บอกกับบีบีซีไทย ปัจจุบัน เธอยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่ในจังหวัดปราจีนบุรี โดยระหว่างพูดคุยนั้น มีเสียงเด็กเล็กร้องระงมออกมาเป็นพัก ๆ

มึนอขยายความถึงประโยค “เหมือนทำอะไรไม่ได้” โดยเธอเชื่อว่ามีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังนายชัยวัฒน์ และแม้ท้ายสุด จะทวงความยุติธรรมด้วยการลงโทษนายชัยวัฒน์ และพวกที่เป็นผู้กระทำการฆาตกรรมได้ แต่ “คนสั่งการ” คงหลุดรอดเงื้อมมือกฎหมายไทย

“มันมีอำนาจอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ทำอะไรคน ๆ นั้นไม่ได้”

อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวกแล้ว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

8 ปีแห่งการสู้ชีวิต-ทวงความยุติธรรม

มึนอ มีลูก 4 คนที่เธอต้องดูแล โดยไร้บิดาเป็นเสาหลักค้ำจุน มาตลอด 8 ปี

เธอเคยเล่าให้บีบีซีไทยเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนที่ไปเยี่ยมบ้านของมารดาของมึนอที่บ้านป่าเต็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า บิลลี่ยังโลดแล่นและมีตัวตนอยู่ในความทรงจำของทุกคนเสมอ เธอยังจำได้ดีว่าบิลลี่เป็นคนดี จิตใจบริสุทธิ์ และชอบช่วยเหลือผู้อื่น

แต่เวลานี้ การทวงความยุติธรรมที่เธอเชื่อว่ามีโอกาสน้อย อาจมีความสำคัญน้อยกว่า อาการบาดเจ็บจากรถล้ม ที่จะกระทบต่อการทำงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัว เพราะชีวิตในตอนนี้ มีแต่ยิ่งลำบาก

“เมื่อก่อน เรามีไร่ ปลูกที่ทำกินของเราเอง เราไม่มีเงินเราก็อยู่ได้…ทุกวันนี้ ไม่มีที่ดินทำกิน เราต้องทำงานอื่นเสริมด้วย”

ภาพบิลลี่และมึนอ

ที่มาของภาพ, BBC Thai

ดังนั้น การที่ต้องสู้ชีวิตเพื่อครอบครัว และต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้สามีผู้สูญหาย ทำให้ชีวิตของเธอตอนี้ลำบากมาก

“เพราะมันยังไม่จบ” มึนอ กล่าว “ทั้งใช้ชีวิต ทั้งติดตามคดี มันลำบากทั้งร่างกายและจิตใจ” แต่เธอยืนกรานว่า จะพยายามยืนด้วยลำแข้งของตนเองให้ถึงที่สุด จะพยายามไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร

ย้อนรอยการหายตัวบิลลี่

ต้องย้อนจากชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524

นับจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเป็นต้นมา พวกเขาถูกไล่รื้อ บังคับอพยพอย่างน้อย ๆ 2 ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2539 และ 2554 โดยมีการใช้ “ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี” เผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านเพื่อบังคับย้ายชาวกะเหรี่ยงออกจากป่าใจแผ่นดิน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้นายคออี้ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง กลายเป็นที่รู้จัก เขายังเป็นผู้ฟ้องคดีที่กรมอุทยานฯ เผายุ้งฉางชาวกะเหรี่ยง

17 เม.ย. 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และหลานของปู่คออี้ ได้สูญหายไปขณะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ เขาเข้าไปเก็บข้อมูลจากปู่คออี้และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่ที่เพื่อนำไปใช้ในชั้นศาล

การสอบสวนชาวบ้านในพื้นที่ทำให้รู้ว่าช่วงเย็นวันที่ 17 เม.ย. บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานควบคุมตัวไว้ และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

ปู่คออี้ เสียชีวิตในปี 2561

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ปี 2561 ปู่คออี้เสียชีวิต ด้วยอายุ 107 ปี โดยไม่ได้กลับไปยังบ้านเกิด

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานในเวลานั้น เป็นหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์ควบคุมตัวบิลลี่ เขาให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2562 หรือหนึ่งวันหลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวการพบกระดูกของบิลลี่ว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบิลลี่ฐานมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง 38 ขวด แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้ปล่อยตัวไป

ชัยวัฒน์บอกด้วยว่า เขาไม่เคยจับกุมชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ถ้าเป็นชุมชนที่อยู่มาดั้งเดิมและทำตามกฎหมาย พร้อมกับยืนยันว่าไม่เคยมองชาวกะเหรี่ยงในแง่ร้าย แต่เหตุที่ต้องนำปฏิบัติการการเผาบ้านปู่คออี้และชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยครั้งนั้น “เป็นเหตุผลด้านความมั่นคงและภัยคุกคาม”

25 มี.ค. 2564 คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีมติเมื่อ 25 มี.ค. 2564 ให้ปลดนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกจากราชการ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งประจาน

10 ส.ค. 2565 สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งหนังสือลงวันที่ 10 ส.ค. 2565 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ลงนามโดยนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ซึ่งปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ยืนยันว่า อัยการสูงสุดได้ลงนามในความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” คือ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่

 บ้านบางกลอย…ยังเหมือนค่ายผู้อพยพ

ปัจจุบัน มึนอไม่ค่อยได้เดินทางกลับไปบ้านบางกลอยอีกแล้ว แต่เธอเล่าว่า ทุกครั้งที่กลับไป รู้สึกได้ว่าคนในหมู่บ้านล้วนไม่มีความสุข และมีสภาพเหมือนอยู่ในค่ายอะไรบางอย่างที่ให้ความรู้สึกเหมือน “ผู้อพยพ”

บีบีซีไทยจึงสอบถามไปถึงนิรันดร์ พงษ์เทพ อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ที่ยอมรับว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างยากลำบาก ขายผลผลิตได้ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว ท่ามกลางสายตาดูถูกของเจ้าหน้าที่

“ความยุติธรรมกับชุมชนมันค่อนข้างน้อย เรื่องพื้นที่ทำกินก็ดี ทางรัฐก็ไม่ได้เหลียวแล” นิรันดร์ บอกกับบีบีซีไทย

บ้านของมึนอในบ้านบางกลอย

ที่มาของภาพ, CHARLOTTE PAMMENT/BBC

ปัจจุบัน มีชาวบ้านที่ถูกย้ายมาจากบ้านบางกลอยราว 104 หลังคาเรือน รวมแล้วเป็นจำนวน 140 ครอบครัว (กว่า 700 คน) นั่นหมายความว่า พื้นที่ในการปลูกบ้านไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านทุกคน ทำให้บ้านหลังหนึ่ง ต้องมีคนเบียดเสียดกันอยู่ราว 2-3 ครอบครัว

นอกจากพื้นที่ปลูกบ้านแทบมีไม่พอ พื้นที่เพาะปลูกก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด ชาวบ้านหลายคนต้องเดินทางออกไปหางานทำนอกพื้นที่ หรือรับงานเย็บปักถักร้อยที่ศูนย์ศิลปาชีพ วันไหนหาไม่ได้ ก็ต้องอาศัยเพื่อนบ้านคอยช่วยเหลือ

“ถ้าอยู่ในป่าสมัยก่อน ทำไร่หมุนเวียน ไม่ต้องชิงดีชิงเด่น ไม่ต้องต่อสู้อะไรมากมาย” นิรันดร์ เล่าย้อนถึงวันวานที่บ้านบางกลอย ยังอยู่ในป่าแก่งกระจาน

“พอลงมาอยู่ข้างล่างมันต้องดิ้นรน อาชีพมันก็เปลี่ยน”

ความยุติธรรมมาถึงหรือยัง ?

เมื่อถามนิรันดร์ถึงข่าวการสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ เขาบอกว่าพึ่งทราบข่าวเมื่อเช้านี้ ส่วนคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านที่ทราบข่าวยังน้อย ส่วนใหญ่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยยอมรับว่า อย่างน้อยก็ได้เห็นถึงความยุติธรรมอยู่บ้าง

“คนทั้งคนหายไป ทำให้ชุมชนยากลำบาก ความยุติธรรมบนโลกนี้ยังพอมี แต่มันก็หายากและไม่ค่อยได้รับ” นิรันดร์ บอกกับบีบีซีไทย

แต่สิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่ยุติธรรม คือ ชาวบ้านบางกลอยที่ผ่านมานับสิบปี นับแต่ถูกให้ย้ายออกจากผืนป่าจิตวิญญาณในแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติเสมือนพวกเขาเป็นผู้อพยพ ไม่มีอิสระแม้จะอยู่ในหมู่บ้านของตนเอง

“ชาวบ้านจะเอาสิ่งก่อสร้างเข้ามาก็ต้องโทรแจ้ง ขออนุญาต คนในหมู่บ้านจะไปหาหมอก็ถูกเจ้าหน้าที่พูดจาไม่ให้เกียรติ ถ้าไม่พอใจเขาก็ไม่ให้ออกจากหมู่บ้านเลย”

“แบบนี้มันไม่ใช่ มันเหมือนเราติดคุก”

ด้านมึนอ แม้จะยังไม่ศรัทธาในระบบตุลาการไทย และต้อนดิ้นรนหาเลี้ยงลูก ๆ แต่เธอจะติดตามคดีบิลลี่ และการสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวกต่อไป โดยหากมีความคืบหน้าสำคัญ เธอจะเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทวงขอความยุติธรรม

มึนอ

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว