ชัชชาติ สำรวจปัญหาถนน-น้ำ หนองจอก ลุยโครงการผู้ว่าสัญจร

ผู้ว่าสัญจรหนองจอก4

ชัชชาติ ลุยผู้ว่าฯ สัญจรเขตหนองจอก ดูแลพื้นที่เกษตรทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง เรื่องร้องเรียนหนักสุดเรื่องถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เร่งแก้จราจรคอขวด ถ.เลียบสัมพันธ์

วันที่ 21 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เขตหนองจอกในวันนี้ว่า หนองจอกเป็นเขตที่อยู่ชายขอบของกรุงเทพฯ ด้านเหนือติดปทุมธานี ด้านตะวันออกติดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ติดต่อกับเขตลาดกระบัง

หนองจอกเป็นเขตที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 240 ตารางกิโลเมตร เป็นหนึ่งใน 7 ของพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 180,000 คน ถือว่าเยอะ

ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีการเกษตรอยู่มาก มีนาข้าวถึง 50,000 ไร่พื้นที่ 1 ใน 3 ของหนองจอกเป็นพื้นที่เกษตรกร มีความผสมผสานกันระหว่างเมืองที่รุกคืบเข้ามาและมีเกษตรกรที่ยังอยู่ในพื้นที่

ปัญหาหลักของเขตหนองจอก คือถนนหนทาง เพราะว่าสร้างเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมเก่าหลายพื้นที่ หลายถนนที่เอกชนทำและมอบให้พื้นที่สาธารณะ และไม่ได้รับการดูแล มีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ มีถนน 1,000 กิโลเมตรที่เขตต้องดูแลอยู่

เรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาอันดับ 1 คือ ถนนที่ประชาชนสร้างมอบให้สาธารณะ เฉลี่ยเดือนละ 1 เส้น รวมทั้งเรื่องน้ำท่วม เพราะถนนหลายสายไม่ได้มีท่อระบายน้ำระบายลงคูคลอง แต่พอเกิดหมู่บ้านจัดสรรการต่อเชื่อมท่อระบายน้ำทำไม่ได้แล้ว เพราะถนนหลักไม่มีท่อระบายน้ำ ก็ต้องระบายน้ำลงคูคลอง

ส่วนปัญหาเรื่องขยะเนื่องจากเมืองขยายตัวออก หมู่บ้านเยอะขึ้น การเก็บขยะก็ยากขึ้น เพราะต้องไปเก็บเวียนตามหมู่บ้าน ไม่เหมือนอยู่ในเมืองคนอยู่เป็นจุดๆ การเก็บขยะจะง่ายกว่า การเก็บขยะต้องใช้ทรัพยากรมาก ซึ่งมีข้อจำกัด ได้แก่ จำนวนรถ จำนวนคน

วิธีการแก้ไขอาจจะมีการปรับกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านอาจต้องมีจุดเก็บขยะเป็นจุดกลาง เพื่อให้รถขยะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนปัญหาด้านอื่นก็มีเรื่องน้ำเพราะเขตหนองจอก เป็นเขตที่ปะทะน้ำเป็นเขตแรกที่มาจากด้านเหนือของกรมชลประทาน พื้นที่เชื่อมต่อกับกรมชลประทานในหลายเส้นทาง

“วันนี้กรมชลประทานก็ได้มาหารือร่วมกัน อีกอย่างหนึ่งเขตนี้แตกต่างจากเขตอื่นตรงที่เขตอื่นเราไม่อยากให้มีน้ำในเขตและพยายามพร่องน้ำให้มากที่สุด แต่เขตหนองจอก เนื่องจากมีพื้นที่เกษตรกรรมถึง 1 ใน 3 ก็ไม่ใช่พร่องน้ำอย่างเดียว ต้องมีการทำฝายกั้นน้ำด้วยเพื่อให้มีน้ำสำหรับการเกษตรเป็นระยะ ๆ ดังนั้นการบริหารจัดการจะยุ่งยากกว่าการบริหารจัดการน้ำเมืองด้านใน”


สำหรับจุดน้ำท่วมหนักของเขตหนองจอกคือบริเวณขุมชนการเคหะฉลองกรุง ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำปิดล้อม ปัญหาคือมีเขื่อนล้อมรอบ และกำลังสูบน้ำด้านในไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากปัญหาฝนตกในพื้นที่ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงเพิ่มกำลังสูบให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหา

อีกเรื่องคือปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก เนื่องจากถนนที่มาจากถนนเลียบสัมพันธ์ จาก 6 เลนมาเป็น 4 เลน แล้วลดเป็น 2 เลน จุดนี้เป็นจุดที่ต้องมาทบทวนเพื่อลดการจราจรที่ติดขัด ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาค่อนข้างมาก

ส่วนเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Foundue ส่วนใหญ่เป็นเรื่องถนนเป็นหลัก ซึ่งเขตมีการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนได้ค่อนข้างดี ประชาชนก็ให้ห้าดาวมาเกือบครึ่งในเรื่องที่ร้องเรียนมาโดยเขตรับแจ้ง 1,785 เรื่อง เป็นเรื่อง ถนน 53% รองลงมาเป็นเรื่องคลอง น้ำท่วม แสงสว่าง และขยะ ทำการปิดเรื่อง 75.7% ดำเนินการเสร็จสิ้น 50% ส่งต่อ 24.5% และไม่เกี่ยวข้อง 0.91%



หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจปัญหาการจราจรบริเวณสี่แยกหน้าสำนักงานเขตถึงสามแยกสกุลดี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์ ตรวจโครงการสวน 15 นาที ณ สวนรวมใจหนองจอกวนารมย์ ซึ่งมีขนาด 45 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นที่สร้างสวน ความคืบหน้า 80% ตรวจจุดอ่อนน้ำท่วม บริเวณชุมชนการเคหะฉลองกรุง และตรวจทำนบ (Stop Log) เพื่อชะลอการไหลของน้ำและป้องกันการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ