“ค่าเงินบาทแข็งค่า จากกระแสเงินทุนไหลเข้า”-

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 17 มกราคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (16/1) ที่ระดับ 31.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวลดลงในเดือนมกราคม โดยอยู่ที่ระดับ 17.7 หลังจากแตะระดับ 18.0 ในเดือนธันวาคม โดยรายงานระบุว่าเฟดสาขานิวยอร์กระบุว่า คำสั่งซื้อใหม่ยังคงมีการขยายตัว แต่ในอัตราที่ต่ำกว่าในเดือน ธ.ค. ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และยังคงมีแผนใช้จ่ายด้านทุน

ส่วนความเคลื่อนไหวภายในประเทศ นายวีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า เมื่อเทียบกับค่าเงินอื่น ๆ หลายสกุลในโลก อย่างไรก็ดี ยังไม่พบว่ามีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในไทยอย่างผิดปกติ เพียงแต่มีการพบพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงถึงการเก็งกำไรค่าเงิน โดยมีสถาบันการเงินในประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องนี้ ธปท.จะเร่งเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท.ยังมั่นใจว่า เงินบาทที่แข็งค่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดี จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.88-32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (17/1) เปิดตลาดที่ระดับ 1.12306/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (16/1) ที่ระดับ 1.1224/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศสเปิดเผยมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ได้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงจากภายในและนอกประเทศที่อาจจะส่งกระทบต่อมุมมองดังกล่าว ทั้งนี้นายบรูโน เลอ แมร์ ระบุว่าร ฝรนั่งเศสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวราว 2% ตลาดปี 2560 ส่วนในปีนี้ มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้นที่ 1.7% อย่างไรก็ตาม รมว.เศรษฐกิจของฝรั่งเศสชี้ว่า อัตราว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และกระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในขณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มที่เป็นบวกดังกล่าว โดยปัจจุบันอัตราว่างงานของฝรั่งเศสอยู่ที่ 9.4% โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าจะลดลงให้เหลือ 7% ภายในปี 2565 ด้วยการทุ่มงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านยูโร ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อฝึกฝนทักษะอาชีพให้กับเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2209-1.2323 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2225/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (17/1) เปิดตลาดที่ระดับ 110.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (16/1) ที่ระดับ 110.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (ฺBOI) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ในปี 2560 ซึ่งปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งนี้ราคาน้ำมันและถ่านหินปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.2% เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้ปรับลดการผลิตลง ซึ่งส่งผลให้ราคา้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้น นอกจากนี้สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.7% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 8.992 แสนล้านเยน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นถือเป็นดัชนีวัดการใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทเอกชน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มการลงทุนในด้านโรงงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นศักยภาพด้านการผลิต นอกจากนี้ ยังเพิ่มการลงทุนในการใช้เทคโนโลยีแทนคน เพื่อรับมือกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.32-110.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือนธันวาคม (17/1) การผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน (18/1) ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างสหรัฐ เดือนธันวาคม (18/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (18/1) ดุลบัญชีเดินสะพัดอียู เดือนพฤศจิกายน (19/1)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.4/-1.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตาาป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.7/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ