อดีตทูตอังกฤษประจำเมียนมาและสามี ถูกจับในย่างกุ้ง ข้อหาเข้าเมือง

วิกกี้ โบว์แมน
วิกกี้ โบว์แมน ผู้บริหารศูนย์ธุรกิจมีความรับผิดชอบประจำเมียนมา อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเมียนมา Photo: Maro Verli / Frontier จากเวบไซต์https://www.myanmar-responsiblebusiness.org/news/level-playing-field.html

รัฐบาลเมียนมาจับกุมตัวอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเมียนมาเเละสามี อ้างข้อหาการเข้าเมือง นำตัวส่งคุกอินเส่ง รัฐบาลอังกฤษประกาศประณามพร้อมเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 บีบีซี รายงานว่า วิกกี้ โบว์เเมน อดีตเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำเมียนมา ถูกจับกุมในเมืองย่างกุ้ง (Yangon) เมืองหลวงทางการค้าของเมียนมา

เเหล่งข่าวระบุกับบีบีซีว่า โบว์เเมนเเละสามีของเธอถูกจับที่บ้านกลางกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันพุธที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา เเละถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการเข้าประเทศ

สถานเอกอัครราชทูตเเห่งสหราชอาณาจักรระบุว่า พวกเขากำลังให้การช่วยเหลือทางด้านกงสุลให้เเก่โบว์เเมน ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารศูนย์ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบประจำเมียนมา (Myanmar Centre for Responsible Business (MCRB)) ที่ตั้งอยู่ในย่างกุ้ง

โบว์แมนเคยดำรงตำเเหน่งเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำเมียนมา ปี 2545-2549 เเละเเต่งงานกับศิลปินชาวพม่า เตียน ลิน (Htein Lin) ผู้ซึ่งเคยเป็นอดีตนักโทษทางการเมืองมาก่อน โดยสามีของเธอก็ถูกจับกุมเช่นเดียวกัน

หน่วยงาน MCRB เขียนคำอธิบายองค์กรว่าเป็น “การริเริ่มในการสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบทั่วประเทศเมียนมา” ทางองค์กรยังได้ร่วมมือกับสถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละธุรกิจ (IHRB) ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย “เพื่อให้การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในชีวิตประจำวัน”

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยเมื่อต้นเดือนนี้ เหล่านายพลเมียนมาประกาศขยายเวลากฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 เนื่องจากประเทศยังคงเผชิญกับความไม่สงบจากการต่อสู้ภายใน

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารได้ทำรัฐประหารเเย่งชิงอำนาจเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ภายหลังจากโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ของนาง ออง ซาน ซู จี

เอบีซี รายงานว่า เเหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องดังกล่าวเปิดเผยว่า ข้อหาเรื่องการเข้าเมืองซึ่งโบว์เเมนเเละสามีถูกกล่าวหานั้น มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี โดยทั้งคู่ได้ถูกควบคุมตัวเเละถูกส่งไปยัง ‘เรือนจำอินเส่ง’ (Insein prison) ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีชื่อเสียงเเละได้รับฉายาว่า ‘คุกนรก’ ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองของย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงทางการค้าของเมียนมา ที่ซึ่งนักโทษทางการเมืองจำนวนมากกำลังถูกควบคุมตัวอยู่

ด้านฌอน เทิร์นเนลล์ นักวิชาการชาวออสเตรเลีย (Sean Turnell) ซึ่งกำลังถูกไต่สวนอยู่กับออง ซาน ซู จี ผู้นำเมียนมาที่ถูกยึดอำนาจ ในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางการของประเทศ ก็ได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่งเช่นเดียวกัน ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำอีกแห่งหนึ่งในเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา

โฆษกรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธไม่ให้ความเห็นใด ๆ หลังจากถูกถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

สำนักงานต่างประเทศ เครือจักรภพและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า “กังวลเกี่ยวกับการจับกุมหญิงชาวอังกฤษรายนี้ในเมียนมา” พร้อมออกเเถลงการณ์ระบุว่า “เรากำลังติดต่อกับหน่วยงานท้องถิ่นและกำลังให้ความช่วยเหลือด้านกงสุล”

ส่วนเตียน ลิน สามีของเธอ ถือเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมียนมา และเป็นนักเคลื่อนไหวผู้มีประสบการณ์ โดยเขาถูกจับกุมเป็นเวลามากกว่า 6 ปีในเรือนจำระหว่างปี 2541-2547 เนื่องจากเขาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการก่อนหน้านี้

หลังจากที่เขาได้รับอิสรภาพในปี 2547 เขาได้รับความสนใจจากโบว์แมน ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตในขณะนั้น เกี่ยวกับงานภาพวาดที่เขาทำขึ้น ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยการใช้วัสดุที่เเอบลักลอบนำเข้า

เธอเกลี้ยกล่อมให้เขาอนุญาตให้เธอนำรูปภาพไปเพื่อความปลอดภัยของเขาเอง เเละท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ได้เเต่งงานกันเมื่อปี 2549

ส่วนเมียนมาอยู่ในความโกลาหลทางการเมืองเเละเศรษฐกิจ นับตั้งเเต่กองทัพโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อต้นปี 2564

ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง ปัจจุบันในเมียนมามีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 15,000 ราย เเละอีก 12,119 รายยังคงถูกกักขัง หากเเต่รัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งกำลังต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านติดอาวุธทั่วประเทศ ได้อ้างว่าตัวเลขเหล่านั้นเกินจริง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเมียนมา โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุในเเถลงการณ์ว่า “การคว่ำบาตรนี้มีขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามจำกัดการเข้าถึงอาวุธเเละรายได้ของกองทัพ”