รัสเซียเมินลงมติทบทวนสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์

วลาดีมีร์ ปูติน
วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัซเซีย (ภาพจาก Alexei Nikolsky, Sputnik, Kremlin Pool Photo via AP)

รัสเซียย้ำไม่ลงมติรับรองร่างทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ชี้เหตุประเทศสมาชิกหลายชาติมีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 เดอะ ฮินดู รายงานว่า แม้ว่าประเทศภาคีสหประชาชาติจะหารือกันนานกว่า 4 สัปดาห์ เพื่อทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty : NPT) แต่ในที่สุด ‘ไอกอร์ วิชเนเว็ตสกี’ รองผู้อำนวยการกรมควบคุมและลดการแพร่ขยายอาวุธ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ได้แถลงยืนยันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2022 ว่ารัสเซียจะไม่ลงมติรับรองร่างทบทวนสนธิสัญญา NPT เพราะตัวแทนประเทศสมาชิกหลายชาติมีความเห็น ‘ไม่เป็นเอกฉันท์’

การไม่ลงนามรับรองร่างทบทวนสนธิสัญญา NPT เกิดขึ้น หลังจากที่กองทัพรัสเซียนำกองกำลังบุกเข้าไปทำสงครามในยูเครนและยึดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ทำให้นานาประเทศเกรงว่าท่าทีดังกล่าวอาจนำไปสู่สถานการณ์ตึงเครียดด้านนิวเคลียร์ ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง

ตามปกติแล้วการทบทวนสนธิสัญญา NPT จะดำเนินการทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้ประเทศภาคีสหประชาชาติที่ลงนามรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้ได้หารือ และลงมติว่าควรปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการควบคุม หรือกำกับดูแลการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกหรือไม่

แต่การประชุมครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อปี 2558 ขณะที่การประชุมซึ่งควรจัดขึ้นตามกำหนดในปี 2563 ถูกเลื่อนออกมาเป็นปีนี้ เพราะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นเสียก่อน

กุสตาโว สเลาวิเนน ทูตถาวรของอาร์เจนตินาประจำสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมร่างทบทวนสนธิสัญญา NPT ยืนยันว่าตัวแทนและผู้เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างทบทวนในปีนี้ได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อให้มีความคืบหน้าและลงมติได้อย่างราบรื่น

แต่เมื่อรัสเซียไม่ยอมลงมติเห็นชอบร่างทบทวนดังกล่าว ทั้งยังอยู่ในช่วงที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งเพิ่มขึ้น จึงควรตระหนักว่าความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ก็เพิ่มขึ้นไปด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันหัวรบนิวเคลียร์ถูกสะสมอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกราว 13,080 ลูก ซึ่งถือว่าลดลงมาจากสถิติ 64,099 ลูกที่เคยสำรวจไว้ได้เมื่อปี 1986 แต่ประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในตอนนี้ก็คือรัสเซีย มีหัวรบอยู่ทั้งหมด 6,257 ลูก

ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ปากีสถาน, อินเดีย, อิสราเอล และเกาหลีเหนือ

การที่รัสเซียทำสงครามในยูเครนมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จนถึงทุกวันนี้ ทำให้หลายประเทศหวั่นวิตก ว่าถ้าสถานการณ์สู้รบที่ทวีความรุนแรงและยืดเยื้ออาจนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ ประกอบกับกองทัพรัสเซียได้นำกำลังเข้ายึดครองโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน รวมถึงพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่เคยเกิดอุบัติเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในอดีตเมื่อปี 2529 ยิ่งทำให้นานาประเทศเกรงว่าอาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านนิวเคลียร์ได้ทุกเมื่อ


ส่วนเหตุผลที่ตัวแทนของรัสเซียไม่ยอมลงมติรับร่างทบทวนสนธิสัญญา NPT มีการระบุว่าเป็นเพราะเนื้อหาในเอกสารร่างทบทวนความยาว 36 หน้า ตลอดจนท่าทีของประเทศภาคีสนธิสัญญา ต่างมุ่งกล่าวโทษรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน ซึ่งตัวแทนรัสเซียมองว่าเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านรัสเซีย