15 กันยายน วันประชาธิปไตยสากล

15 กันยายน วันประชาธิปไตยสากล
เครดิตภาพ : มติชนสุดสัปดาห์

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีมติให้วันที่ 15 กันยายนของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN ได้ร่วมประชุมและลงมติให้วันที่ 15 กันยายนของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy) เพื่อให้ประชาชนร่วมรำลึกและเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย

โดยอารัมภกถาของมติดังกล่าว มีใจความว่า “ขณะที่ประชาธิปไตยมีมาตรฐานอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีรูปแบบหนึ่งเดียว และซึ่งประชาธิปไตยนั้นจะต้องไม่เป็นเพียงของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น…

ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่สูงส่ง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของประชาชน เพื่อที่จะตัดสินระบบทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสามารถมีส่วนร่วมกับระบบการปกครองได้ในทุกขั้นตอนของชีวิต”

ที่มาของวันประชาธิปไตยสากล

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ค.ศ. 1997 สหภาพระหว่างรัฐสภา (IPU) ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยประชาธิปไตย ซึ่งได้ให้การรับรองหลักการของประชาธิปไตยทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ และให้ความสนใจของนานาประเทศในระบอบประชาธิปไตย

ที่ประชุมนานาชาติเกี่ยวกับประชาธิปไตยใหม่และได้รับการฟื้นฟู (ICNRD) เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1988 โดยเริ่มแรกได้ใช้เป็นที่ประชุมระหว่างรัฐบาล ที่ประชุมดังกล่าวได้พัฒนาโครงสร้าง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล รัฐสภา และองค์การภาคประชาชน การประชุมครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในกาตาร์ ในปี ค.ศ. 2006 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและหลักการดังกล่าว และยังได้มีการออกแผนปฏิบัติงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการปกครอง และคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง

ผลสืบเนื่องมาจากการประชุมดังกล่าว บอร์ดให้การแนะนำถูกจัดตั้งขึ้นโดยผู้นำของกระบวนการดังกล่าว คือ กาตาร์ ซึ่งตัดสินใจเพื่อที่จะส่งเสริมวันประชาธิปไตยสากล โดยกาตาร์ได้เป็นผู้นำในการร่างเนื้อความในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และปรึกษาร่วมกันกับรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ

IPU ได้เสนอให้เลือกวันที่ 15 กันยายน เป็นวันประชาธิปไตยสากล และประชาคมระหว่างประเทศควรจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองประจำปีเนื่องในวันประชาธิปไตยสากล โดยมติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติในความพยายามที่จะให้รัฐบาลส่งเสริมและทำให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งมติดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007

ประชาธิปไตยคืออะไร

ประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งพลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเลือกผู้ปกครองซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมาย โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนด้วยตนเอง หรือผ่านผู้แทนที่เลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ การตัดสินว่าผู้ใดเป็นพลเมืองบ้างและการแบ่งปันอำนาจในหมู่พลเมืองเป็นอย่างไรนั้น มีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา และแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงในอัตราไม่เท่ากัน

นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ความคิดที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมและการพูด การไม่แบ่งแยกและความเสมอภาค สิทธิพลเมือง ความยินยอม สิทธิในการมีชีวิตและสิทธิฝ่ายข้างน้อย นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลประโยชน์ของตน และแบ่งอำนาจจากกลุ่มคนมาเป็นชุดกฎเกณฑ์แทน

จุดกำเนิดประชาธิปไตย

คำว่า “ประชาธิปไตย ปรากฏครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและปรัชญากรีซโบราณ โดยปราชญ์เพลโตเปรียบเทียบประชาธิปไตยซึ่งเขาเรียกว่าเป็น “การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง” ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตย และเศรษฐยาธิปไตย ชาวนครเอเธนส์สถาปนาระบอบที่ถือกันว่าเป็นประชาธิปไตยแห่งแรกของโลกเมื่อ 508–507 ปีก่อน ค.ศ. โดยมีไคลสธีนีสเป็นผู้นำ ต่อมาเขาได้ชื่อว่า “บิดาแห่งประชาธิปไตยแบบเอเธนส์”

ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์เป็นประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นระบบการเมืองที่พลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการวินิจฉัยสั่งการด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางหรือผู้แทน อีกทั้งพลเมืองจำนวนมากยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเมือง แม้ว่ารัฐธรรมนูญเอเธนส์ไม่ได้คุ้มครองสิทธิของพลเมืองในความหมายสมัยใหม่ แต่ชาวเอเธนส์มีเสรีภาพอาศัยอยู่ในนครโดยไม่ขึ้นกับอำนาจภายนอก และไม่ขึ้นกับการปกครองของบุคคลอื่น

ทั้งนี้ ประชาธิปไตยทางตรงให้ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญ เสนอการริเริ่มออกกฎหมาย การลงประชามติ และข้อเสนอแนะกฎหมาย และมอบคำสั่งที่มีผลผูกพันต่อข้าราชการที่ได้รับเลือกตั้ง เช่น เพิกถอนบุคคลจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือริเริ่มฟ้องคดีฐานฝ่าฝืนคำให้สัญญาระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

จุดเริ่มต้นประชาธิปไตยในประเทศไทย

​วันที่ 24 มิถุนายน 2475 “คณะราษฎร” ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ​

วันที่ 26 มิถุนายน 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้แทนคณะราษฎรนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย​

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชวินิจฉัย ​ โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า “ชั่วคราว” เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของคณะราษฎร ไม่ตรงกับพระประสงค์ของพระองค์ จึงทรงลงพระปรมาภิไธย ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475

สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม​

  • อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎร​
  • มีการแบ่งผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล
  • สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ ดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลได้​
  • คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการราษฎร 1 นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา​

​พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ถูกยกเลิกเนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มีระยะเวลาในการใช้บังคับ 5 เดือน 12 วัน​