จุรินทร์ ลุยนครสวรรค์ เดินหน้าประกันรายได้ปี 4

จุรินทร์ ลุยนครสวรรค์ เดินหน้าประกันรายได้ปี 4 กับพืช 5 ชนิด ล่าสุดเตรียมจะเสนอ ครม. เห็นชอบเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป

วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 4 เป้าหมายของโครงการเพื่อผลักดันราคาพืชผลการเกษตรให้ดีที่สุด ที่ผ่านมาราคาพืชผลการเกษตรมีโอกาสอยู่ในช่วงราคาดีและตกต่ำได้ เพราะขึ้นกับสถานการณ์ที่เรียกว่ากลไกตลาด ที่เกี่ยวกับความต้องการของตลาดโลก ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน

แต่วันนี้ ราคาพืชเกษตรสำคัญดีขึ้นมากเกือบทุกตัว แต่บางช่วงถ้าเกิดวิกฤติราคาพืชเกษตรตกลงมา ก็ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ให้อย่างน้อยมีรายได้เท่ากับรายได้ที่ประกัน และโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ตลอด 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่ปี 4 ซึ่งได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รอการพิจารณาต่อไป

สำหรับโครงการประกันรายได้ข้าว เตรียมงบประมาณไว้ 130,000 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งที่นาที่โดนน้ำท่วมจะได้รับเงินชดเชยในส่วนน้ำท่วมของกระทรวงมหาดไทย และเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ในที่นาที่น้ำท่วม เพราะถือว่าได้ปลูกจดแจ้งทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. แล้วมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่าง ซึ่งเป็นข้อดีของโครงการประกันรายได้

“รัฐบาลเข้าสู่ปีสุดท้าย ปีที่ 4 ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ถ้าอยู่ครบเทอมจะหมดวาระวันที่ 24 มีนาคม 2566 สำหรับจังหวัดนครสวรรค์โครงการประกันรายได้ เฉพาะข้าว 3 ปี จ่ายเงินเกษตรกรส่วนต่าง เฉลี่ย รายละ 69,000 บาท ยางพาราเฉลี่ยรายละ 16,444 บาท มันสำปะหลังเฉลี่ยรายละ 25,696 บาท ข้าวโพดเฉลี่ยรายละ 8,652 บาท ปาล์มน้ำมันเฉลี่ยรายละ 15,219 บาท”

ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า จ.นครสวรรค์ มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากว่า 133,850 ราย และเกษตรกรได้รับเงินเฉลี่ยรายละ 55,641 บาท

สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นนโยบายที่เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลชวนสอง(นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง) ขณะนั้น ตนเป็นรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาดูแลปัญหายาเสพติดและเป็นประธานวิปรัฐบาล มีมติออกพระราชบัญญัติ เพื่อทำภารกิจ 3 เรื่อง

1.การแก้ปัญญาหนี้สินให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ให้มาเป็นหนี้กับกองทุนฯและดอกเบี้ยต่ำ ตอนนี้คิดดอกเบี้ย 0% จะคือโฉนดเมื่อผ่อนชำระครบ

2. ซื้อทรัพย์จากสถาบันการเงินมาเป็นของกองทุนฯให้เจ้าของที่ดินเดิมผ่อนชำระ เมื่อครบจะได้โฉนดคืน

3. จัดโครงการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร ให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร ขอโครงการไปฟื้นฟูชีวิตต่อไป

ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯจะดูแลพี่น้องครบวงจรตั้งแต่แก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรที่เป็นสมาชิก กองทุนฯวันนี้มีสมาชิก 5,600,000 คน และไม่มียุคไหนมีเงินช่วยพี่น้องมากเท่ายุคนี้ ไม่กี่วันมานี้ตนประสานงานกับนายกรัฐมนตรีของบกลางได้อีก ซึ่งเกือบ 20 ปีได้งบมา 6,000 ล้านบาท แต่ 2 ปีนี้ได้มา 2,500 ล้านบาทแล้ว ใช้ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท ยังเหลืออีก 1,000 ล้านบาทที่จะมาแก้ปัญหาให้พี่น้องต่อไป