เอสเต ลอเดอร์ ผนึกกำลัง สถาบันมะเร็ง ส่งรถตรวจมะเร็งเต้านมถึงชุมชน

เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ ผนึกกำลัง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ส่งรถตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่เข้าถึงชุมชน หวังลดความเหลื่อมล้ำในการรักษา

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ แถลงข่าวผนึกกำลังกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ส่งมอบบริการรถตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ให้กับสตรีผู้ขาดโอกาสตามชุมชน พร้อมทั้งเดินหน้าระดมทุนผ่านผลิตภัณฑ์สีชมพูตลอดเดือนตุลาคมนี้ โดยมีนายวีคัส แทนดัล กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสเต ลอเดอร์ คอมพานีส์ ประเทศไทย และนายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ร่วมงาน

นายวีคัส แทนดัล กล่าวว่า เอสเต ลอเดอร์ ได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานด้านโรคมะเร็งมาเป็นระยะเวลานานกว่า 19 ปีแล้ว โดยสามารถระดมทุนได้มากกว่า 20 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สนับสนุนงานวิจัย การศึกษา และการเพิ่มศักยภาพของบริการด้านการแพทย์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทย

นอกจากนี้แคมเปญเตือนภัยมะเร็งเต้านมและมูลนิธิการกุศลของเอสเต ลอเดอร์ ยังสามารถระดมทุนทั่วโลกได้มากกว่า 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้มอบเงินจำนวน 86 ล้านดอลลาร์ สหรัฐให้กับมูลนิธิวิจัยมะเร็งเต้านม (BCRF) เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ

ในโอกาสพิเศษครบรอบ 30 ปี แคมเปญกระตุ้นเตือนภัยมะเร็งเต้านมของเอสเต ลอเดอร์ ที่ต้องการเตือนภัยมะเร็งเต้านมแบบเชิงรุก จึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังกับสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งชาติในการส่งรถตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่สู่ชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจและรับบริการเพื่อเฝ้าระวังโรคดังกล่าวได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

จุดประสงค์ของพันธกิจในการขจัดมะเร็งเต้านมของ เอสเต ลอเดอร์ ในครั้งนี้ คือ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสำหรับผู้คนในระดับชุมชนและเพื่อสนับสนุนให้มีการเริ่มตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะเป็นผู้ให้บริการตรวจคัดกรองให้กับประชาชนผู้ขาดโอกาสและอยู่ในกลุ่มเสี่ยงตลอดเดือนตุลาคม 2565

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดได้กับผู้หญิงทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มที่อายุมากกว่า 40 ปี ดังนั้น ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก็มีโอกาสรักษาให้หายได้ โดยปัจจุบันพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.2 ล้านคน และเสียชีวิตราว 684,996 คน

มะเร็งยังคงครองแชมป์สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ในส่วนของมะเร็งเต้านมพบมากที่สุดในเพศหญิง ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 17,043 คน คิดเป็น 47 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คนต่อวัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีจํานวนเพิ่มมากกว่า 22,000 รายในปีหน้า

คนทั่วไปมักกลัวการรักษาอยู่ 2 เรื่อง คือ ความเจ็บและปริมาณรังสี ต้องกล่าวว่า ความเจ็บนั้นมีบ้างเล็กน้อย ส่วนปริมาณรังสีในการตรวจนั้นน้อยมาก น้อยกว่าการเอกซเรย์ปอดเสียอีก อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องอาย การตรวจมะเร็งเต้านมจะใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด นายแพทย์สกานต์กล่าว

สำหรับขั้นตอนการรับบริการ ในเบื้องต้นจะมีการคัดกรองผู้เข้ารับบริการว่ามีความเสี่ยงสูงหรือไม่ โดยดูจากกรรมพันธุ์ หรือตรวจคลำด้วยตัวเองแล้วพบความผิดปกติ เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินว่ามีความเสี่ยง ก็จะเข้าสู่การตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ภายในรถตรวจเคลื่อนที่ซึ่งมีมาตรฐานระดับเดียวกับโรงพยาบาล โดยจะได้ผลที่แม่นยำหลังตรวจเสร็จ และหากพบก้อนมะเร็งสามารถนำผลตรวจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ในลำดับต่อไป

โดยโครงการดังกล่าวจะให้บริการรถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เอเชียทีค โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ บางเขน

จากสถิติการให้บริการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมบนรถเคลื่อนของสถาบันมะเร็งมีคนใช้บริการ 1,700-2,000 คน/ปี อย่างไรก็ตาม มองว่ากลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจปีละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติเตรียมผลักดันให้การตรวจแมมโมแกรมอยู่ในสิทธิของกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกคน และไม่มีความเหลื่อมล้ำ