ไร้ข้อสรุปผู้ชนะตั้งตลาดกลางข้าวสาร

พาณิชย์เลื่อนประกาศผลคัดเลือกผู้ชนะ “ตลาดกลางข้าวสาร” ไม่มีกำหนด “นันทวัลย์” แจงยังไม่ได้รับผลสรุป ด้าน TDRI ชี้บทบาทรัฐต้องอำนวยความสะดวกไม่ใช่เน้นสิ่งปลูกสร้าง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานในการได้เปิดให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากล แห่งแรกของประเทศไทย 3 รายมาแสดงวิสัยทัศน์ และแจ้งว่าจะมีการประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 บนเว็บไซต์ แต่ก็ยังไม่ได้มีการประกาศผลสรุปการคัดเลือก

จากการสอบถามไปยังฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการคัดเลือกแจ้งว่าได้จัดทำรายงานผลสรุปการพิจารณาเสนอต่ออธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่จากการสอบถามไปที่นางนันทวัลย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ระบุว่า ยังไม่ได้รับรายงานดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากวงการข้าว ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการ 3 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการ คือ กลุ่มตลาดไท ของบริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คลัง และบริษัท บูรณากาญจน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่าข้าวเขาใหญ่ จ.สุพรรณบุรี มานานเกินกว่า 10 ปี มีความเชี่ยวชาญเรื่องสินค้าเกษตรมากกว่ากลุ่มตลาดตะวันนา ของบริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยเฉพาะตลาดไทถือว่าได้เปรียบทั้งเม็ดเงินลงทุน และความพร้อมในการบริหารจัดการตลาดครบวงจรสามารถให้บริการแบบ One Stop Service ตามมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการตามทีโออาร์การประมูล

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า หน่วยงานรัฐควรปรับบทบาทมาช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องตั้งตลาด เพราะความเป็นตลาดเกิดจากการที่ผู้ซื้อและผู้ขายมาตกลงทำการซื้อขายกันไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ และที่สำคัญปัจจุบันการค้าข้าวไทยเป็นระบบที่ดำเนินการปกติอยู่แล้ว

เดิมไทยเคยมีตลาดกลางข้าวเปลือกแต่ถูกทำลายลงหลังจากมีโครงการรับจำนำข้าว ตอนนี้ยังมีโรงสีออกไปตั้งจุดรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาโดยตรง แต่ระบบตลาดกลางข้าวสารไม่เคยมีและไม่จำเป็นต้องมี เพราะระบบการค้าข้าวสารมีความแตกต่างกับสินค้าชนิดอื่น การค้าข้าวเป็นตลาดที่มีลักษณะเป็น Virsual ต่างจากตลาดกลางสินค้าเกษตรอย่างตลาดผัก ผลไม้ ซึ่งเป็นตลาดลักษณะหมูไป-ไก่มาผู้ซื้ออยู่ในประเทศซื้อกลับไป แต่ข้าวไม่ใช่ลักษณะนั้น ผู้ซื้อต่างประเทศซื้อตรงจากผู้ส่งออก หาข้อมูลจากสมาคมส่งออกฯ โรงสีก็สีข้าวตามคำสั่งซื้อไม่ได้สต๊อกเป็นข้าวสาร ชาวนาก็ขายข้าวเปลือกไม่ได้ขายข้าวสาร ผู้ซื้อผู้ขายเจอกันอยู่แล้วไม่ได้มีปัญหา หากรัฐบาลจะเข้าไปก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะไปช่วยทำประโยชน์อะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ถ้าหากต้องการช่วยรายเล็กที่เสียเปรียบรายใหญ่ในด้านข้อมูลหรือต้นทุน รัฐควรเข้าไปสนับสนุนข้อมูลดีกว่าไปสร้างตลาดเดี๋ยวก็เจ๊ง มันไม่ง่าย

สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการคือการส่งเสริมข้อมูลเชิงลึก และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยการสร้างความเข้มแข็งให้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าว เช่น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย เพราะเป็นสถาบันที่เชื่อมโยงผู้ซื้อ-ผู้ขายอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติการค้าของแต่ละรายว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางการค้า เช่น มีการรวบรวมรายชื่อสมาชิกแต่ไม่ได้บอกว่าสมาชิกรายใดเคยมีปัญหาผิดนัดรับมอบข้าว ซึ่งจุดนี้เป็นข้อมูลที่ผู้ซื้อต้องการมากกว่าการไปตั้งตลาดกลางข้าวสาร