ปิดทองหลังพระ ขึ้นปีที่ 13 พอเพียงขั้นก้าวหน้า ถึงเวลาต้องปรับตัว

นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ

18 ตุลาคม 2564 ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ขอตัวออกจากห้องรับแขก สถาบันปิดทองหลังพระฯ ออกเดินทางครั้งใหม่ เพื่อไปพักผ่อนนิรันดร์กาล

23 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 4 (2566-2570)

5 พฤศจิกายน 2565 สถาบันปิดทองหลังพระฯ ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อรับไม้ต่อ สืบสาน ต่อยอด และขยายผลการพัฒนาจังหวัดน่าน

13 ปีก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลือกพื้นที่ จังหวัดน่าน ปักหมุดเทใจเป็นพื้นที่ทำงานพัฒนาต้นแบบ พื้นที่แรก กิน-นอน อยู่ในอำเภอที่เป็นต้นแม่น้ำน่าน อันเป็นต้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา ทอดตัวเป็นเส้นทางน้ำสู่ภาคกลางอันเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ หล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ

13 ปีของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา และพันธมิตร ประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาครัฐ เดินทางทำงานผ่านดิน ผ่านน้ำเกือบทั่วทุกภาค เริ่มจากจังหวัดน่าน อุดรธานี อุทัยธานี เพชรบุรี และกาฬสินธุ์ ต่อยอดด้วย 3 จังหวัดชายแดนเหนือ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และขยายผลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี

เพื่อนร่วมงานของ “คุณชายดิศ” และบุคลากรของสถาบันปิดทองหลังพระฯ มีทั้งปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการเกษตร ไปจนถึงชาวเขาหลากเผ่าพันธุ์ ทุกคนก่อนจะได้เริ่มงานต้องปฏิบัติการ “ขุดดิน คำนวณน้ำ ฝึกปลูกพืช”

เมื่อคุณชายดิศนัดดา ขอลาไปพักผ่อนนิรันดร์กาล นายกฤษฎา บุญราช เข้ารับไม้ต่อ เป็นประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ปฏิบัติภารกิจ ร่วมเป็นคู่คิดกับพันธมิตรภาคีชุมชน กับนายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ในวาระที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ ยุคเปลี่ยนผ่าน ปรับตัว พลิกบทบาทจากเป็นผู้พาทำ เดินไปข้างหน้า มาเป็นเดินข้าง ๆ และเดินหนุนหลัง ภายใต้แผนปฏิบัติการระยะที่ 4 คิกออฟหลักการ ของทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า คือ เมื่อประชาชนพัฒนาถึงขั้นอยู่รอดแล้ว ก็ต้องก้าวเข้าสู่ขั้นพอเพียง ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มและไปสู่ขั้นความยั่งยืน

นี่จึงเป็นที่มาโครงการ “ภาคีน่าน สืบสาน ต่อยอด” เพื่อถ่ายทอดงานพัฒนาพื้นที่ สู่มือของโครงสร้างระบบภาครัฐ และพันธมิตรธุรกิจชุมชน

นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระฯ กล่าวต่อหน้า องค์กรภาครัฐ 4 กระทรวงหลัก ในจังหวัดน่าน ตอนหนึ่งว่า “เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของจังหวัดน่าน มาตลอด 13 ปี นับแต่เมื่อสถาบันปิดทองหลังพระฯ น้อมนำศาสตร์พระราชา เข้ามาพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร เช่น การขุดบ่อพวงสันเขา”

“การสร้างฝายอนุรักษ์และฝายเพื่อการเกษตร การต่อท่อส่งน้ำเข้าแปลง การปรับปรุงดินให้เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก การเกษตรแบบผสมผสาน ส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูง การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้” 

“เราได้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา ในพื้นที่จังหวัดน่าน มีพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำ เพิ่มขึ้น 120,214 ไร่  ผลจากการบูรณาการทำงานสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 209,970 ไร่ ชาวน่านได้รับประโยชน์ 35,735 ครัวเรือน รายได้ภาคการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยครัวเรือนละ 41,359 บาทต่อปี เป็น 92,645 บาท หรือประมาณ 2.2 เท่า”

มูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา จากจังหวัดที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนในอันดับต้น ๆ ของประเทศ วันนี้น่านกลายเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ด้วยรายได้จากภาคการเกษตร การค้าชายแดน และการท่องเที่ยวกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี 

ผู้อำนวยการ สถาบันปิดทองหลังพระฯ บอกว่า นับจากนี้ไปภารกิจที่ท้าทายของสถาบันปิดทองหลังพระ คือการเป็นผู้ร่วมผลักดัน วิสาหกิจชุมชน สินค้าเกษตรที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งในประเทศและระดับส่งออก เช่น ทุเรียนคุณภาพ ที่ จ.ยะลา ที่ต้องมุ่งทำเรื่องมาตรฐานโรงคัดผลผลิต และการบรรจุภัณฑ์ และประสานกับผู้รับซื้อที่เป็นห้างค้าปลีก โมเดิร์นเทรด ให้มีปริมาณผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ

อนึ่ง พิมพ์เขียว หรือภาพรวมแผนปฏิบัติการระยะที่ 4 ของปิดทองหลังพระ นับจากปีหน้า 2566 ถึงปี 2570 ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลกและของประเทศไทย ที่เกิดจากผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย

ภารกิจของสถาบันปิดทองหลังพระฯ จากนี้ไป จะมุ่งไปตามแผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแผนปฏิบัติการ ระยะที่ 4 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและประเทศ โดยมุ่งไปสู่การทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน

ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยนอกจากยังคงสืบสานแนวพระราชดำริ และขยายผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะการทำงานเชิงรุกในการเข้าไปสนับสนุนหน่วยงานราชการทุกระดับ เพื่อให้หน่วย งานต่าง ๆ นำแนวพระราชดำริไปใช้ในกระบวนการพัฒนา จนกระทั่งเป็นแนวทางการพัฒนาหลักของประเทศ

ปิดทองหลังพระปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน 4 ประการ

  1. ปรับเปลี่ยนจุดเน้นการปฏิบัติงานจากการส่งเสริมการพัฒนา มาเป็นการขยายผล โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ ๙ จังหวัดต้นแบบและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำไปประยุกต์ ใช้อย่างกว้างขวาง
  2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากการเป็นหน่วยงานหลักสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ เป็นการทำงานเชิงรุกแสวงหาความร่วมมือ และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกระดับและภาคเอกชน นำชุดความรู้และประสบการณ์การพัฒนาของมูลนิธิ และสถาบัน ไปปรับใช้ในการทำงานและเรียนรู้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นตามหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เกิดแผนงานโครงการที่ตอบโจทย์ปัญหาความต้องการของชุมชน
  3. ปรับรูปแบบการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการให้พึ่งพาตนเองได้ จากการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนขยายผลต่อยอดในเชิงธุรกิจ (Doing Business) เพื่อสร้างความยั่งยืนในการรวมกลุ่มและทางการเงินมีความรับผิดชอบต่อสังคม เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ
  4. ปรับเปลี่ยนที่มาของงบประมาณจากการได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลทุกปีเพียงแหล่งเดียว เป็นการมุ่งแสวงหารายได้จากการให้บริการทางวิชาการความรู้ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำในบริหารจัดการการพัฒนา

และนำประสบการณ์ความรู้มาบูรณาการแผนงานร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ในรูปแบบของ Matching fund ยกตัวอย่าง เช่น ความร่วมมือกับ สนทช. และตลาดหลักทรัพย์ ในการพัฒนาลุ่มน้ำมูล เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาใหม่ สถาบันปิดทองหลังพระฯ

  1. การขยายผลการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
  2. การพัฒนาทางเลือกในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ
  3. การพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กเพื่อการเกษตรทฤษฎีใหม่
  4. การสร้างชุมชนผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  5. การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรปรับเปลี่ยนเป็นหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูง

นับเป็นภารกิจที่ท้าทายต่อโลกสมัยใหม่ของสถาบันปิดทองหลังพระฯ องค์กรที่ทำงานด้านพัฒนาก้าวนำส่วนราชการและขึ้นสู่ขั้นก้าวหน้าด้วยการเป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นพันธมิตรกับธุรกิจ

ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 13 ปรับแผนเชิงรุก ขยายผล-ต่อยอดแบรนด์สินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน และบริหารงบประมาณ แสวงหารายได้ใหม่ ๆ เพื่อยืนหยัดแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และพัฒนาต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการของรัชสมัยใหม่ ที่มุ่งผลบรรทัดสุดท้าย ให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ยั่งยืน