“จุรินทร์” พบเกษตรกร มั่นใจแก้ปุ๋ยแพง เจรจาซื้อเพิ่มจากรัสเซีย-คาซัคฯ-จีน

จุรินทร์พบเกษตกร
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“จุรินทร์” พบปะเกษตรกร ชี้ พาณิชย์ ผนึก “เกษตร” ทำยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ช่วยดันราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เร่งแก้ปัญหาปุ๋ยขาดแคลน หลังซื้อจากซาอุดิอาระเบีย เจรจาซื้อรัสเซีย คาซัคสถาน และล่าสุดจีน

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร และตรวจเยี่ยมโครงการ “คาราวาน พาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot 20” ที่สนามหน้าที่ว่าการอําเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ว่า โครงการดังกล่าวนำสินค้าราคาพิเศษที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค มาจำหน่ายเพื่อลดค่าครองชีพ ลดสูงสุดถึง 60% ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี และช่วยลดค่าครองชีพด้วย

ขณะที่การดูแลสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือกันภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิตพานิชย์ตลาด” โดยยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ช่วยให้ขายยางและปาล์มได้ราคาขึ้น

“เดิมยางพารา 3 กิโล 100 บาท ตอนนี้ดีขึ้นมาก ยางแผ่นดิบจาก 30 กว่าบาทเป็น 40-60 บาท/กก. ในบางช่วง ขี้ยาง เดิม 7-10 บาท/กก. และจากการร่วมทำงานกับการยางแห่งประเทศไทย ประกันรายได้ราคายาง ขี้ยางกิโลกรัมละ 20-25 บาท บางช่วงเกือบ 30 บาท/กก. สถานการณ์ดีกว่าก่อน แต่ตอนนี้ที่ราคาลดลงบ้างเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโลกไม่ดี คนซื้อรถน้อยลง ส่วนปาล์มน้ำมันสมัยก่อน กิโลกรัมละ 2 บาทกว่า วันนี้กิโลกรัม 6-7 บาท เคยขึ้นสูงสุดถึง 12 บาท/กก.” นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อการดูแลราคาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ รัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ ที่ช่วยกัน ไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม โดยห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มทางบก และได้พาเอกชนไปขายน้ำมันปาล์มที่อินเดียเปิดตลาดน้ำมันปาล์ม และที่ยกเลิกไปแล้ว คือ การปรับน้ำมันดีเซลจาก B5 เป็น B10 ตอนหลังราคาแพงจึงเหลือ B5 ตอนนี้เราจะเพิ่มจาก B5 เป็น B7 คอยมติคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้น้ำมันปาล์มมากขึ้น จะให้ราคาน้ำมันปาล์มขึ้น

“เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของความเป็นผม โดยผมเกิดที่พังงา พ่อก็นอนอยู่ในสวนปาล์ม เข้าใจพี่น้อง ไม่ต้องห่วง ถ้าวันไหนปาล์มตกหนักยางตกหนัก มีนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ คือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเงื่อนไขก่อนร่วมรัฐบาล ถ้าราคาต่ำกว่ารายได้ที่ประกันจะมีเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง ทำให้มีรายได้ 2 ทางจากที่ขายในตลาดและส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน ช่วยเหลือเกษตรกรและคนปักษ์ใต้บ้านเรา”

ส่วนเรื่องปุ๋ยราคาแพงมาประมาณ 2 ปีแล้ว เพราะประเทศไทยทำปุ๋ยเองไม่ได้ นำเข้า 100% ปุ๋ยเคมีทุกสูตรทุกแบบ เพราะปุ๋ยทำจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาแพงขึ้นช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ก๊าซในโลกราคาพุ่ง ทำให้ปุ๋ยโลกแพง เวลานำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องใช้น้ำมัน ค่าขนส่งจึงแพง ทำให้ปุ๋ยในประเทศไทยราคาแพง มี 2 เรื่องที่ต้องแก้ คือ

1.ไม่ให้ปุ๋ยขาดแคลน ซึ่งตนเจรจากับแหล่งผลิตปุ๋ยสำคัญอย่างซาอุดีอาระเบียซื้อปุ๋ยราคาพิเศษ สามารถนำเข้าจากซาอุฯ ได้แล้ว 400,000 ตัน แก้ปัญหาปุ๋ยขาดแคลนได้ และคุยกับคาซัคสถานและรัสเซีย ยังติดขัดระบบแลกเปลี่ยนเงินตรา และตนจะถือโอกาสเจรจากับจีนตอนประชุมเอเปค เพื่อขอนำเข้าปุ๋ยลดราคาพิเศษจากจีน

2.ปุ๋ยแพง เรามาควบคุมราคากำหนดโครงสร้างราคาใหม่ ให้ผู้นำเข้าได้กำไรน้อยลง ให้พอนำเข้าได้ ในอนาคตถ้าสงครามรัสเซีย-ยูเครน คลี่คลายแล้ว ราคาปุ๋ยก็จะลดลง

จุรินทร์พบเกษตกร