ป้องชาวไร่ขึ้นภาษีข้าวสาลี

ในมุม “สมาคมการค้าพืชไร่” มองว่ารอบหลายสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเติบโตสูงมาก แต่การผลิตข้าวโพดของเกษตรกรไทยกลับมีต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าหลายประเทศ ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขัน

ภาครัฐจำเป็นต้องมีการปกป้องการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น เนื้อไก่ หมู ไข่ ข้าวโพด และอื่น ๆ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรทดแทน เช่น ข้าวสาลี กากข้าวโพด (DDGS) รำข้าวสาลี ที่อาจเข้ามาทุ่มตลาด ทำลายโอกาสทางอาชีพของเกษตรกรไทย เพื่อให้อยู่รอดภายใต้ภาวะค่าครองชีพที่สูง

ต่อมาปี 2550 กลับมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรทดแทนสำหรับใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ลง โดยเฉพาะภาษีนำเข้าข้าวสาลี จากเดิม 27% เหลือ 0% ทำให้ในปี 2558-ถึงต้นปี 2560 เกษตรกรไทยผู้ปลูกข้าวโพดได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เกิดกลไกการค้าที่เบี่ยงเบน

จากการลดการใช้ข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์ แล้วเพิ่มการใช้ข้าวสาลีมาทดแทนจนทำให้เกษตรกรขายข้าวโพดและมันสำปะหลังราคาตกต่ำลง

ต่อมา ปลายปี 2559 ภาครัฐได้มีมาตรการปกป้องช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีการกำหนดมาตรการ 3 : 1 โดยผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องใช้ข้าวโพดไทย 3 ส่วน จึงมีสิทธินำเข้าข้าวสาลีมาใช้ได้ 1 ส่วน ทำให้ฤดูกาลปัจจุบันทำให้ราคาข้าวโพด มันสำปะหลัง ฟื้นตัวมากในปลายปี 2560 เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์พยายามร้องให้รัฐยกเลิกมาตรการ 3 : 1 เพื่อนำเข้าข้าวสาลีมามากขึ้น โดยอ้างว่าผู้เลี้ยงหมู ไก่ ขาดทุนจากราคาตกต่ำ แต่ต้นทุนวัตถุดิบราคาสูง ทั้งที่สาเหตุเกิดจาก 2-3 ฤดูกาลเลี้ยงก่อนหน้าราคาเนื้อหมู ไก่ เนื้อ และไก่ไข่ ราคาสูง สร้างกำไรให้กับผู้เลี้ยงมาก ทำให้ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ขนาดกลางถึงใหญ่เพิ่มปริมาณการเลี้ยงกันมากจนเกินอุปทานส่วนเกิน การเรียกร้องนี้เหมาะสมมากน้อยเพียงไร เพราะเป็นการพยายามให้ภาครัฐยกเลิกการปกป้องอาชีพหนึ่งของเกษตรกรไทย

ขณะที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรและไก่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูและเนื้อไก่จากต่างชาติ เพื่อให้รัฐยังคงมาตรการปกป้องผู้เลี้ยงหมูและไก่ไทย แต่วันนี้กลุ่มบางสมาคมกลับมีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการปกป้องผู้ปลูกพืชไทย

สมาคมการค้าพืชไร่ไม่ได้คัดค้านการนำเข้าข้าวสาลีเท่าที่จำเป็น สนับสนุนให้นำเข้าเพื่อให้เกิดความสมดุลในการอยู่รอดของผู้ปลูกพืชไร่และผู้เลี้ยงสัตว์ไทยร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

เมื่อมีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการ 3 : 1 ก่อนยกเลิกควรมีมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลี 27% มารองรับดังเดิม โดยมาตรการนี้ผู้เลี้ยงสัตว์ส่งออกสามารถขอคืนภาษีนำเข้าตามมาตรา 19 ทวิได้

ส่วนข้าวสาลีที่นำมาผลิตเป็นอาหารส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีข้อตกลงเอฟทีเอกับไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้ ควรคิดภาษีนำเข้ากากข้าวโพด (DDGS) และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เท่ากับก่อนมีการลดภาษีวัตถุดิบเหล่านั้น

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 กรมการค้าภายในเคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือการกำหนดอัตราอากรข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดการนำเข้าให้คณะผู้มีอำนาจพิจารณา จึงร้องขอภาครัฐช่วยเร่งแก้ปัญหากลับมาใช้อัตราอากรนำเข้าข้าวสาลีและวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนจากต่างประเทศให้เร็วขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยรวม รวมทั้งขอความอนุเคราะห์จากผู้ผลิตอาหารสัตว์เห็นใจช่วยกันใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรไทยให้มากขึ้น เพราะอาหารสัตว์ไทยส่วนใหญ่ขายให้คนไทยมากกว่าคนต่างประเทศ มาช่วยกันสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทยเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและประเทศชาติของเรา