แนวคิด “เสรีนิยม” โลกเศรษฐกิจและการเมือง

ความหมายของแนวคิด

คอลัมน์ ดุลยธรรม
โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ [email protected]

แนวคิดเสรีนิยมแบบ จอห์น ลอค ได้อธิบายว่า โลกเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งประกอบด้วยปัจเจกชนที่มีอิสระต่อกัน (independent individuals) ผู้ซึ่งถูกชักจูงเข้าร่วมกัน ผูกพันกันและกันด้วยพลังของผลประโยชน์แห่งตน (self-interest) โดยที่แต่ละคนพยายามแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ซึ่งจะทำให้ปัจเจกชนและสังคมได้รับผลดีตามไปด้วย เช่นเดียวกับแรงดึงดูดของดวงดาวในระบบสุริยะจักรวาล ที่ช่วยให้ระบบสุริยะจักรวาลดำเนินต่อไปอย่างเป็นระบบ ความเชื่อและแนวคิดเช่นนี้มีอิทธิพลทางความคิดต่อลัทธิทุนนิยมของ อดัม สมิธ อย่างมาก

เมื่อต้องการพิสูจน์กฎนี้ของ จอห์น ลอค ก็จะอธิบายได้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว และการที่สังคมมนุษย์พัฒนามาจนถึงจุดที่ดำเนินอยู่โดยไม่มีปัญหา แต่กลับเป็นสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไป ยุคสมัยของเขาก็แสดงว่าความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ส่งผลต่อพัฒนาการของสังคม มนุษย์ ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อแกนกลางของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบัน บนพื้นฐานความเชื่อดังกล่าว จอห์น ลอค นำไปพัฒนาความคิดในเรื่อง สิทธิในทรัพย์สิน (property rights) โดยอธิบายว่าการที่ทรัพย์สินเป็นของส่วนบุคคลจะทำให้ทรัพย์สินได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ใครก็สามารถเข้าหาผลประโยชน์ได้ (open access)

เมื่อทุกคนสามารถทำให้ทรัพย์สินส่วนบุคคลของตนเกิดประโยชน์เพิ่มได้มาก สังคมโดยส่วนรวมก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย ความคิดตรงนี้ได้สนับสนุนหลักกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งกลายมาเป็นหลักการสำคัญของลัทธิเศรษฐกิจของ อดัม สมิธ ต่อมา จอห์น ลอค ได้พัฒนาทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract) ขึ้นมา แม้นในสภาพธรรมชาติ มนุษย์จะมีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่มนุษย์ได้ละทิ้งสภาพธรรมชาติและก่อตั้งสังคมการเมืองที่มีรัฐบาลขึ้น

การที่มนุษย์ทุกคนที่มีอิสระมีความเห็นแก่ตัวพยายามดูแลทรัพย์สินของตนเอง จะเกิดความขัดแย้งและเกิดปัญหา ดังนั้น แต่ละคนจึงทำสัญญาประชาคมร่วมกันที่จะตั้ง “รัฐบาล” ขึ้นมา เพื่อให้ความคุ้มครองแก่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

“ด้วยเหตุผลดังกล่าว มนุษย์แต่ละคนจึง “เต็มใจ” ที่จะยอมสละความเป็นอิสระเพื่อ “ร่วมกันเพื่อปกป้องชีวิต อิสรภาพ และทรัพย์สิน” ดังนั้น รัฐบาลจึงเกิดจากเจตจำนงของราษฎรเพื่อสนองความจำเป็นของราษฎรและจะต้องได้ รับการยอมรับจากราษฎรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและรัฐธรรมนูญในประเทศ ประชาธิปไตยทั้งหลาย รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ร่างโดยท่านรัฐบุรุษอาวุโส ดร.ปรีดี พนมยงค์

ตามทฤษฎีของ จอห์น ลอค รัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมด้วยหลักการ คือ รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับความยินยอมจากประชาชน ฉะนั้น รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจรัฐประหารจึงไม่ใช่รัฐบาลถูกต้องชอบธรรมตามแนวคิดเสรีนิยมของ จอห์น ลอค แนวความคิดเรื่องสัญญาประชาคมของ จอห์น ลอค เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ และยังคงมีอิทธิพลต่อแนวคิดรัฐบาลประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างมาก ที่เน้น “หลักการทางการเมืองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” ซึ่งมีรากความคิดจากพิวริตัน (Latourette, 1975 : 826)

ขณะเดียวกัน พิวริตัน ก็ให้ความสำคัญแก่แรงงานเป็นอย่างยิ่ง โดยเห็นว่าแรงงานนั้นเป็นที่มาของผลิตภาพและมูลค่าอย่างแท้จริงในสังคม

จอห์น ลอค กล่าวไว้ว่า “ในบรรดาผลผลิตของโลกที่มีผลประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ เก้าในสิบเป็นผลจากแรงงาน” ส่วนการแบ่งปันผลผลิตที่เกิดขึ้นก็ควรเป็นไปตามสัดส่วนของการใช้แรงงาน ความคิดในลักษณะดังกล่าวได้รับการสานต่อโดย อดัม สมิธ และ คาร์ล มาร์กซ์

แนวคิด กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเกิดจากแรงงานของ จอห์น ลอค นี้ แม้นเป็นพื้นฐานของลัทธิเสรีนิยม แต่ก็ถูกอ้างโดยแนวคิดแบบสังคมนิยม ว่า กรรมสิทธิ์ควรเป็นของฝ่ายผู้ใช้แรงงานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ Two Treatises of Government ของ จอห์น ลอค เขายอมรับโดยนัยว่า การใช้ผู้อื่นทำงานก็ทำให้ผู้ใช้ได้กรรมสิทธิ์ในผลผลิตเหมือนกัน

อดัม สมิธ

แนวคิด ของ อดัม สมิธ มองว่า มูลค่า (value) มีอยู่สองชนิด คือ มูลค่าที่เกิดจากประโยชน์ในการใช้ (value-in-use) และมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน (value-in-exchange) มูลค่าที่เกิดจากประโยชน์ในการใช้ คือ ความสำคัญของสิ่งของในทรรศนะของผู้ใช้ เรียกว่า “อรรถประโยชน์” (utility) ส่วนมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน คือ อำนาจของของสิ่งนั้นที่จะเรียกสิ่งของอื่นมาแลกเปลี่ยนกันในตลาด

อดัม สมิธ เชื่อว่ามูลค่าที่เกิดจากประโยชน์ในการใช้ กับมูลค่าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง อาจไม่เกี่ยวกัน เศรษฐศาสตร์ของ อดัม สมิธ มุ่งความสนใจไปที่มูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน อันหมายถึง ราคาตลาด (market price) ราคานี้จะถูกกำหนดโดยอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ของสินค้า อาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาธรรมชาติ (natural price) หรือราคาเท่ากับค่าการผลิต ในระยะยาวแล้วราคาตลาดจะโน้มเอียงเท่ากับราคาธรรมชาติ หรือการที่ระดับราคาโน้มสู่จุดดุลยภาพ (equilibrium)

อดัม สมิธ เรียกปริมาณที่ต้องการตามราคาธรรมชาติ ว่า อุปสงค์หรือดีมานด์ที่ทำให้เกิดผล (effectual demand) ซึ่งอุปสงค์จะเปลี่ยนแปลงไปตามระดับราคา หากราคาสูงกว่าราคาธรรมชาติ อุปสงค์จะลดลง หากราคาต่ำกว่าราคาธรรมชาติ อุปสงค์หรือดีมานด์ จะเพิ่มขึ้นแนวคิดเสรีนิยมนี้ จะปล่อยให้ “กลไกตลาด” ทำงาน โดยรัฐบาลจะไม่พยายามเข้าแทรกแซง และให้เสรีภาพในการประกอบการอย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล สำหรับประเทศไทย เราเดินบนเส้นทางของลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจหรือทุนนิยมมาโดยตลอด ส่วนทางการเมืองนั้น เราก็เป็นเสรีประชาธิปไตยบ้าง เผด็จการบ้าง ประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง ล่าสุดท่านผู้นำบอกว่า “ประเทศควรใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยนิยม”

ผมเลยขอนำเอาหลักการและ แนวคิดของลัทธิเสรีนิยม อันเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย มาให้ดูกัน เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจ ว่าหลักการพื้นฐานของเสรีนิยมอันเป็นรากฐานของประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีอะไรบ้างนะครับ