เมื่อผู้นำถูก Burnout

จาซินดา อาร์เดิร์น
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

เจ้าของสถิติโลก ผู้นำรัฐบาลหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก เมื่อตอนอายุ 37 ปี กลับไปใช้ชีวิตเป็นพลเมืองธรรมดาแล้ว และนิวซีแลนด์มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (คริส ฮิปกินส์) เรียบร้อย แต่ประเด็นเกี่ยวกับการลาออกจากตำแหน่งของจาซินดา อาร์เดิร์น วัย 42 ปี เจ้าของสถิติดังกล่าวยังคงเป็นที่พูดถึง และน่าจะเป็นประเด็นต่อไปอีกพักใหญ่ เพราะเป็นเรื่องไม่ค่อยพบเห็น

ยิ่งกับผู้นำที่หวงแหนตำแหน่งและความสุขสบายโดยไม่อัพเดตปฏิกิริยาของประชาชน หรือผู้นำที่ไปแย่งชิงอำนาจคนอื่นมาคงเข้าใจเรื่องนี้ได้ยาก

คำแถลงลาออกของอาร์เดิร์นพูดออกมาไม่อ้อมค้อมเลยว่า “หมดพลังแล้ว” หรือเบิร์นเอาต์ (burnout)

ที่สำคัญคือบอกว่าคนที่เป็นผู้นำที่ดีต้องรู้ตัวว่าเวลาไหนควรต้องไปแล้ว สำหรับเธอเองไม่มีแรงใจแรงกายเหลือพอสำหรับ 4 ปีข้างหน้า หากฝืนอยู่ต่อจะไม่เป็นผลดีกับประเทศ

การลงจากอำนาจของอาร์เดิร์นแม้เป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจและชื่นชมว่ากล้าออกมายอมรับตรง ๆ ว่าแบกรับภารกิจและความรับผิดชอบในฐานะผู้นำประเทศต่อไปไม่ไหว หลังจากผ่านช่วงเวลาที่เจอปัญหาหนักสุด ๆ ในหลายด้าน ทั้งเหตุการณ์ก่อการร้ายสังหารหมู่ที่มัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช ปี 2562 มีเหยื่อเสียชีวิตถึง 51 ราย จากนั้นเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภูเขาไฟที่เกาะไวท์ เมื่อปี 2562 มีคนตายไปถึง 22 ราย

ต่อด้วยสถานการณ์หฤโหดโควิด-19 ระบาดจนต้องล็อกดาวน์เมื่อปี 2563-2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเหมือนกับประเทศอื่น ๆ

กระทั่งปีก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อยู่ห่างไกลมาก แต่วิกฤตซ้อนวิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่และค่าครองชีพของประชาชนไปทั่วโลกโดยไม่ต้องนับระยะ ขณะที่นิวซีแลนด์มีเป้าหมายต้องเดินหน้าสู่อนาคตสีเขียว ปลอดคาร์บอน และต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อมาเจอช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ การผลักดันอะไรใหม่ ๆ ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก

หลายคนเสียดายผู้นำหญิงที่ทำผลงานมาดีจนมีชื่อเสียงระดับโลก และบางคนกลัวว่าการลงจากตำแหน่งแบบนี้จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนักสำหรับผู้นำที่เป็นผู้หญิง ซึ่งสังคมยังมีมายาคติว่า อ่อนแอกว่า และอ่อนไหวกว่าผู้นำที่เป็นผู้ชาย

New Zealand Prime Minister Jacinda Ardern  (Warren Buckland/New Zealand Herald via AP)

คอมเมนเตเตอร์บางคนไม่เห็นด้วยที่คุณอาร์เดิร์นมาตั้งต้นมีลูกเอาตอนที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นผู้นำหญิงคนที่สองของโลกที่มีลูกขณะดำรงตำแหน่ง ต่อจากเบนาซีร์ บุตโต ของปากีสถาน เมื่อปี 2533

แต่ถ้าตั้งใจดูรายละเอียดสักนิดว่า เธอมีลูกเมื่อปี 2561 นั่นเป็นช่วงที่โลกยังไม่เกิดวิกฤต ก็ไม่น่าจะหยิบมาเป็นประเด็นซ้ำเติมราวกับว่าเป็นความผิดของเธอเองที่ทำให้แบกภาระเกินตัว

ปฏิกิริยาและความเห็นเหล่านี้ทำให้ข้อถกเถียงเรื่อง burnout เป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

สมาคมจิตวิทยาอเมริกันอธิบายว่า ภาวะ burnout มาจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและอารมณ์ จากการทำงานในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูง อยู่ภายใต้แรงกดดันและความเครียด โดยเฉพาะคนที่ทำงานทุ่มเทและต้องทนกับงานหนัก ส่งผลกระทบให้แรงกระตุ้นในการทำงานดิ่งลงและผลการทำงานลดลง

เมื่อปี 2562 องค์การอนามัยโลก WHO รวมอาการ burnout เข้าไปอยู่ในหมวดโรคสากล และให้คำบรรยายว่าเป็นภาวะหมดไฟจากการทำงาน แต่ยังไม่ถึงกับเป็นโรคประจำตัว ปกติแล้วภาวะนี้เชื่อมโยงกับการทำงานพิเศษที่กินระยะเวลานานและหนักเกินไป ซึ่งมีผลกระทบต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ส่วนใหญ่เกิดกับวัยที่เป็นผู้บริหาร แต่ระยะหลังมานี้ WHO พบว่าวัยรุ่นมีภาวะนี้มากขึ้น

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ภาวะ burnout ที่บั่นทอนแรงกายแรงใจกับคนอายุยังน้อยมาจากแรงกดดันทางสังคมและเศรษฐกิจในช่วงโควิด

สำหรับประเทศไทย burnout ดูจะกลายเป็นวิธีการของผู้ใหญ่จัดการเผาทิ้งพลังของเด็ก ๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม ด้วยการปิดกั้นปิดปากเด็ก ใช้กฎหมายจับเข้าไปอยู่ในคุก เพราะมองการต่อสู้หรือการตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่ว่าแส่หาเรื่องเอง

จึงน่ากังวลว่า อนาคตของประเทศไทยจะค่อย ๆ burnout ไปเช่นกัน