
ซีพีเอฟเก็บบูธประชาสัมพันธ์ “ปลาหยก” ในงานเกษตรแฟร์ 2566 ที่เพิ่งแสดงกับสาธารณชนเป็นครั้งแรกก่อน จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง หลังจากกรมประมงสั่งเอกชนหยุดโปรโมตภายใน 3 วัน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในโซนนวัตกรรมยกระดับการประมงและผลิตภัณฑ์ประมง งานเกษตรแฟร์ 2566 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีการจัดแสดง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พร้อมจำหน่าย “ปลาหยก” วากิวแห่งสายน้ำ สัตว์เศรษฐกิจใหม่ของไทย ล่าสุดอาจต้องพับเก็บบูธ เนื่องจากกรมประมงได้แจ้งให้บริษัทระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
- ทำความรู้จักบัตรวิสดอมกสิกรไทย ต้องรวยแค่ไหนถึงถือบัตรได้
- ประกันสังคม ม.33-39-40 ผู้ประกันตนแต่ละประเภท มีสิทธิต่างกันอย่างไร?
ทั้งนี้ ปลาหยกจัดเป็น 1 ในสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด ที่ห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ
แม้จะได้รับการขออนุญาตในการเลี้ยงและจำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิต แต่ล่าสุดการประชาสัมพันธ์ของบริษัทได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต อีกทั้งยังทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ
กรมประมงจึงได้แจ้งให้บริษัทระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้
ส่งผลให้ต้องยุติการประชาสัมพันธ์ และบูธในงานเกษตรแฟร์อาจต้องถูกปิดลงภายในระยะเวลาที่กรมประมงกำหนด