“ซัมซุง” ยกระดับการศึกษา เปิดประตูห้องเรียนสู่อนาคต

สุขจิต ศรีสุคนธ์-กัณจนา อักษรดิษฐ์-อลงกรณ์ วีระพันธ์

โลกแห่งยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี, เครื่องจักร, หุ่นยนต์, คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ที่สามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ จนทำให้สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในอนาคต รวมถึงระบบการศึกษาในระดับโลกว่าจะต้องจัดการการศึกษาอย่างไร เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จึงต้องการยกระดับการศึกษาไทย

เพราะเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต ส่วนหนึ่งมาจากครู ที่มีหน้าที่อบรมสั่งสอนชี้แนะแนวทาง และมอบความรู้ใหม่ ๆ ให้กับนักเรียนสู่ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และนอกจากความรู้ทางด้านวิชาการ เด็กที่อยู่ในวัยเรียนจะต้องมีทักษะด้านอื่น ๆ ด้วย

ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จึงจัดโครงการ “Samsung Smart Learning Center” โดยร่วมพัฒนาโครงงานวิจัยชุมชนเพื่อทลายกรอบสี่เหลี่ยมของห้องเรียน สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่ ด้วยกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กศึกษาลงมือทำ ด้วยการสำรวจปัญหาในชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการค้นพบมีคุณครู

เป็นผู้สนับสนุน และให้คำปรึกษา

“วรรณา สวัสดิกูล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่าโรงเรียนเทิงวิทยาคมถือเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ประยุกต์ใช้นวัตกรรมให้เข้ากับกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนอื่น ๆ ในโครงการเข้ามาศึกษาวิธีจัดการเรียนการสอนของคุณครู ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียน จนสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอย่างเห็นได้ชัด

“ซัมซุงเชื่อว่าการศึกษาคือเมล็ดพันธุ์แห่งนวัตกรรม และการค้นพบเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติก้าวไปข้างหน้า เรามีเป้าหมายชัดเจนในการขยายต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตเช่นนี้ต่อไป รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปให้ผู้บริหารโรงเรียน และครู ทั้งยังขยายผลไปสู่เครือข่าย และภาคีในภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาไทยให้เข้มแข็ง อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต”

“สุขจิต ศรีสุคนธ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเมนทิส จำกัด บริษัทที่ปรึกษา และภาคีดำเนินโครงการกล่าวว่าเราอยู่ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่แรงงาน ต่อไปเราจะเหลืออะไรให้กับเด็ก และเยาวชนในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมีเครื่องมือมาช่วยเด็กและเยาวชนให้อยู่รอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“แนวคิดหนึ่งที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางคือกรอบการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มภาคีเพื่อทักษะศตวรรษที่ 21 โดยแนวคิดนี้ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาทักษะสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ทักษะการเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรม 2.ทักษะชีวิต และอาชีพ และ 3.ทักษะด้านสารสนเทศสื่อเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเรียนในลักษณะ Active Learning โดยผู้เรียนเป็น

ผู้กระทำการเรียนรู้ด้วยตนเอง และมีครูเป็นโค้ช ทั้งนั้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ซัมซุงเปิดประตู “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ณ โรงเรียนเทิงวิทยาคม อ.เทิง จ.เชียงราย โรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการกับซัมซุงตั้งแต่ปี 2556 ด้วยการเชิญครูจำนวน 60 คนจาก 27 โรงเรียนมาร่วมโครงการ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” เพื่อเปิดโอกาสให้ครูจากต่างพื้นที่มาศึกษาวิธีการสอน เพื่อนำไปปรับใช้กับโรงเรียน และนักเรียนของตน

“กัณจนา อักษรดิษฐ์” ครูที่ปรึกษาชุมนุมโรงเรียนเทิงวิทยาคมกล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเปิดโอกาสให้กับเด็ก ๆ ค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นใกล้ตัว โดยสังเกตจากในชุมชนของพวกเขาที่เริ่มต้นนำหัวข้อต่าง ๆ มาพูดคุยกัน วิพากษ์ข้อดีข้อเสียของแต่ละหัวข้อ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าการโหวตตามเสียงข้างมาก เพราะเป็นการหาข้อตกลงร่วมกันด้วยเหตุผล จนทำให้เด็ก ๆ ยอมรับเหตุผลของอีกฝ่ายทั้งยังสามารถช่วยกันทำงานอย่างเต็มใจ ซึ่งเด็ก ๆ จะใช้เวลา 2 อาทิตย์ในการวิพากษ์ 2 หัวข้อ ระหว่างการศึกษาการเลี้ยงกุ้ง หรือการเลี้ยงกบ

“หน้าที่ของครูคือ การพยายามสนับสนุนหัวข้อที่เด็กสนใจ และกระตุ้นด้วยการตั้งคำถามกลับ เพื่อให้เด็ก ๆ มีความตื่นเต้นที่จะหาคำตอบ จนได้ข้อสรุปว่าจะศึกษาเรื่องการเลี้ยงกบ เนื่องจากกบในธรรมชาติกำลังจะสูญพันธุ์ไป เมื่อได้หัวข้อใหญ่แล้ว เด็ก ๆ จะแบ่งกลุ่มย่อยศึกษาในมิติต่าง ๆ ของการเลี้ยงกบ จากนั้นเขาจะใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการนำเสนอ เพราะเด็กทุกคนมีเป้าหมายที่จะทำงานตัวเองให้สำเร็จ จนเกิดความสนุกในการเรียนรู้ ไม่ทำให้เบื่อ”

“อลงกรณ์ วีระพันธ์” ครูโรงเรียนสา จ.น่าน หนึ่งในผู้เข้าร่วมการเวิร์กช็อปในครั้งนี้กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากได้ความเชี่ยวชาญในการจัดการการเรียนรู้ของเด็ก การชี้แนะแนวทางการแก้ปัญหาให้ตรงจุด และการตอบคำถามเด็ก ยังทำให้เข้าใจเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ซัมซุงสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการใช้กล้อง และการตัดต่อวิดีโอ

“ทั้งยังทำให้เราเห็นเรื่องการวิพากษ์ เพราะมีคำพูดหนึ่งที่ครูกัณจนาพูดน่าสนใจมากคือกระบวนการวิพากษ์ ทำให้เด็กทำงานไม่เหนื่อย สนุกไปกับการเรียนรู้ ทั้งยังนำการวิพากษ์กับคนทั้งห้องมาช่วยกันแก้ปัญหา จนทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น”

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุงขยายเครือข่ายสู่โรงเรียนอื่น ๆ ไปแล้วกว่า 47 โรงเรียนทั่วประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับครูจำนวนกว่า 3,000 คน และนักเรียนกว่า 70,000 คน โดยเด็กนักเรียนเหล่านี้ยังค้นพบการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21

อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต