อย่าซื้อเวลาแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าภาคใต้

บทบรรณาธิการ

ปัญหาสร้าง-ไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา และกระบี่ ที่บานปลายเป็นข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างกลุ่มสนับสนุน กับกลุ่มต่อต้าน ยังยากจะหาข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย แถมมีแนวโน้มกลายเป็นมหากาพย์จบไม่ลง จะเดินหน้าต่อก็ไม่ได้

เพราะหลัง รมว.พลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธุ์ ลงนามข้อตกลง (MOU) ร่วมกับเครือข่ายปกป้อง ต่อต้าน โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) แทน เท่ากับทั้ง 2 โครงการล่าช้าจากเดิมจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบปี 2562-2564

การดำเนินการดังกล่าว แม้ทำให้ม็อบต่อต้านพอใจ แต่จุดกระแสให้กลุ่มที่หนุนสร้างโรงไฟฟ้ากับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. เคลื่อนไหวขอความชัดเจนจากภาครัฐ โดยยื่นข้อเรียกร้องให้ รมว.พลังงาน เร่งหาทางแก้ไขปัญหา ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชาติและประชาชนส่วนใหญ่ ที่สำคัญต้องไม่เปิดช่องว่างให้กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าเอกชน และกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติแสวงหาประโยชน์

การสร้าง-ไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ เวลานี้นอกจากจะเป็นคำถามที่ไร้คำตอบแล้ว ยังเป็นประเด็นถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หาข้อยุติไม่ได้ สวนทางกับเงื่อนเวลาป้องกันความเสี่ยงความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในภาคใต้ที่เหลือน้อยลงทุกวัน

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นทุกปี โดย กฟผ.ระบุว่า ปัจจุบันภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 2,700 เมกะวัตต์ ต้องส่งกระแสไฟจากภาคกลางลงไปวันละ 200-600 เมกะวัตต์ อัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 4-5% ต่อปี อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 500 เมกะวัตต์ เกินกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ขณะนี้

อย่างไรก็ตาม กระแสต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์และคนในพื้นที่บางส่วนที่หวั่นเกรงว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิตชุมชน ทำให้รัฐต้องถอยครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุด รมว.พลังงาน การันตีว่า 5 ปีจากนี้ไปยังไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคใต้เพิ่ม จะใช้วิธีขยายสายส่งจากภาคกลาง กับใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

เท่ากับยังไม่มีบทสรุป และยากจะชี้ว่าแนวทางที่รัฐเลือกนำมาใช้ลดแรงกดดันจากม็อบแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ และหากวันหน้าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคใต้จริง จะมีแนวทางใดชี้แจงทำความเข้าใจให้ทุกฝ่ายยอมรับและทำตามกฎกติกา ที่สำคัญสิ่งที่ทำในวันนี้ต้องไม่เป็นการตัดสินใจเพื่อซื้อเวลา เพราะหากเป็นอย่างนั้นนอกจากไม่ได้แก้ปัญหาเดิมแล้ว ยังสร้างปัญหาใหม่รอปะทุในวันข้างหน้า