“วุฒิชัย แป้นถึง” เกษตรรุ่นใหม่ ปั้นปลากะพงบ้านเกิดขึ้นห้าง ลุยตลาดพรีเมี่ยม

“การลองผิดลองถูกหลาย ๆ วิธี ไม่ว่าจะเป็นการลดแลกแจกแถม เพื่อให้คนในหลายอาชีพ หลายพื้นเพ รู้จักสินค้า พร้อมรับฟังความคิดเห็นแล้วนำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข โดยอาศัยความผิดพลาดให้เป็นครูสอนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เริ่มแรกคือการทำปลากะพงบางบ่อ เพราะคิดว่ามีสูตรปลาสลิดบางบ่ออยู่แล้วคงทำได้ไม่ยาก แต่ปรากฏว่าลักษณะของเนื้อปลาไม่เหมือนกัน จึงต้องปรับปรุงและพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน”

คือแนวคิดของ “วุฒิชัย แป้นถึง” เจ้าของแบรนด์ปลากะพงไร้ก้างพร้อมปรุง สมุทรเชฟ (Samutr Chef) ทายาทรุ่นที่ 2 ของฟาร์มปลากะพงราชาวดี ที่ได้เข้ามาสืบทอดกิจการต่อจากครอบครัว ที่ทำมากว่า 25 ปีแล้ว

“วุฒิชัย” เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า หลังจากเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2558 เริ่มหันมาทำฟาร์มอย่างจริงจัง มีความคิดที่จะพัฒนาฟาร์มกะพงราชาวดีกว่า 150 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แม้เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นข้าราชการ แต่ตนคลุกคลีอยู่กับปลากะพงมาตั้งแต่เด็ก รับรู้กระบวนการการผลิตของปลากะพงตั้งแต่ไข่ปลาเริ่มฟักตัว จนกระทั่งมาเป็นอาหารอยู่บนจาน ฉะนั้นจึงตั้งความหวังไว้ว่าจะทำให้ปลากะพงของจังหวัดสมุทรปราการเป็นสินค้าแบรนด์หรูเทียบชั้นกับปลาแซลมอน หรือปลาหิมะให้ได้

 ปัจจุบันการพัฒนาแบรนด์อยู่ในช่วงทดลองฝากขายตามห้างสรรพสินค้า Tops Supermarket ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรบินสัน ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, มาร์เก็ตเพลส นางลิ้นจี่, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต, เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทรัล พระราม 2 ซึ่งได้เริ่มคิกออฟตลาดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยยังคงพัฒนาแพ็กเกจจิ้งควบคู่กันไปด้วย โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในไตรมาสที่ 1-2 ปี 2561 จะสามารถผูกสัญญากับห้างสรรพสินค้าได้ และอาจจะเพิ่มสาขาจัดจำหน่ายให้มากขึ้น ส่วนไตรมาสที่ 3-4 วางแผนไว้ว่าจะขยายการตลาดไปยัง Max Value, Food Land, Food Villa และ Gourmet Market ให้ได้

จากภาพรวมของตลาดปลากะพงในประเทศไทยมีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 2 พันล้านบาท/ปี หรือตีเป็นปลากะพงเฉลี่ยเกือบ 20 ล้านกิโลกรัมต่อปี และพบได้มากที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และสุราษฎธานี ส่วนสมุทรปราการนั้นมีอยู่ไม่กี่เจ้า

เขาจึงมองว่า การจะทำผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและน่าจดจำ จึงได้เลือกใช้กลยุทธ์สีน้ำเงิน หรือ Blue Ocean Strategy มาพัฒนาเป็นแบรนด์ Samutr Chef เป็นการแสวงหาทะเลแห่งใหม่ แทนที่จะมุ่งลอกเลียนแบบเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งหลักการที่สำคัญคือ ไม่เน้นอุปสงค์หรือลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่จะเน้นสร้างอุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคขึ้นมาใหม่ ภายใต้การตลาดแบบใหม่

“วุฒิชัย” บอกว่า กรรมวิธีการแล่ก้างออกจากเนื้อปลากระพงทั่วไป จะทำให้เนื้อส่วนท้องที่เป็นพังผืดติดอยู่กับก้าง และมีคุณค่าทางอาหารรสชาติอร่อยเสียไป ซึ่งวิธีนี้จะทำให้มีความรวดเร็ว ง่ายต่อการจัดจำหน่ายในปริมาณที่มาก แต่ Samutr Chef ใช้การวิธีการดึงออกด้วยมือ เพราะต้องใช้ความประณีตเพื่อมุ่งไปยังตลาดพรีเมี่ยม โดยมีทีมงานในฟาร์มเพียงแค่ 6 คน และปัจจุบันได้มีการวิจัย เครื่องจักรทุ่นแรงในการถอดก้างปลาโดยไม่เสียเนื้อส่วนท้อง กับคณะวิศวกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจา

“ยอมทำอะไรที่ยาก เพื่อให้ลูกค้าได้อะไรที่ง่ายและดี ปลาที่ดีต้องมีความสด ปกติปลากะพงถ้าแช่แข็งจนมีน้ำแข็งเกาะ รสชาติจะเปลี่ยน แต่ไม่ใช่กับผลิตภัณฑ์นี้ รับรองว่ารสไม่มีเปลี่ยนแน่นอน สามารถแช่แข็งได้ถึง 2 ปี ตราบใดที่แช่ด้วยอุณหภูมิ ลบ 18 องศาเซลเซียส”

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แบรนด์ Samutr Chef ที่วางขายคือ ปลากะพงไร้ก้างพร้อมปรุง สนนราคาที่ชิ้นละ 169 บาท แม้จะแพงกว่าราคาปกติตามท้องตลาด แต่ “วุฒิชัย” ยืนยันว่าคุณภาพที่ได้มานั้นคุ้มราคา โดยเฉพาะความสะดวกที่ลูกค้าจะได้รับ เนื่องจากปลากะพงไร้ก้างพร้อมปรุงนี้ สามารถนำไปประกอบอาหารได้เลย ตั้งแต่ เข้าไมโครเวฟ ทำข้าวต้มปลา ทอดราดน้ำปลา ไปจนถึงเมนูต่างประเทศ เช่น สเต็กปลากะพงโรยพริกไทยดำ หรือแม้กระทั่งเมนูญี่ปุ่นอย่างกะพงย่างซอสมิโซะ พร้อมชูจุดเด่น ในเรื่องของความสด รับประกันเก็บรักษาด้วยความเย็นตลอดจนถึงมือผู้บริโภค

นี่เป็นอีกการพัฒนาของคนรุ่นใหม่ ที่หันมาสืบทอดกิจการของครอบครัว และพยายามสร้างธุรกิจของตัวเองให้เติบโตไปได้ในอนาคต