ปลัดดีอีย้ำตั้ง 2 บริษัทลูก ทางรอด “ทีโอที-แคท”  

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เปิดเผยว่า การจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband Network: NBN) และการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (Neutral Gateway and Data Center: NGDC) ให้เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เป็นการปรับโครงสร้างของ 2 บริษัท ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญตามแผนแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ โดย 2 บริษัทลูก ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงมิใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และ ไม่ใช่คู่แข่งของบริษัทแม่
 
“ ในอดีต ทั้งทีโอที และกสท มีรายได้หลักมาจากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน จากผู้ให้บริการโทรคมนาคม แต่ปัจจุบัน สัญญาเหล่านี้เริ่มสิ้นสุดไปแล้ว โดยเปลี่ยนไปเป็นใบอนุญาตจาก กสทช. รายได้ส่วนนี้ของ ทีโอที และ กสท จึงหายไป ส่วนรายได้จากการให้บริการอื่นๆ เช่น โทรศัพท์บ้าน ตลาดก็ลดลงมาก ส่วนบริการโทรศัพท์มือถือ บริการ internet บริการ data center ก็มีการแข่งขันสูงมากกับภาคเอกชน จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้สามารถแข่งขันได้”
 
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างของทั้งสองบริษัท ด้วยการตั้งบริษัทลูก มีเป้าหมายเพื่อนำโครงสร้างพื้นฐานที่ทั้งสองบริษัททำธุรกิจซ้ำซ้อนกันมารวมกันเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อนในอนาคต เช่น เคเบิลใยแก้วนำแสง เคเบิลใยแก้วใต้น้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งยังถือเป็นการโอนย้ายทรัพย์สินจากรัฐไปสู่รัฐ ดังนั้น ทรัพย์สินดังกล่าวยังคงเป็นทรัพย์สินของรัฐเช่นเดิม
 
นอกจากนี้จะช่วยให้ประเทศมีหน่วยงานหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการขยายโครงข่ายในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการของภาครัฐและการบริการสาธารณะ ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สร้างโอกาสการตลาดให้สินค้าในท้องถิ่น และช่วยให้บริกรภาครัฐเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อนำไปสู่ Thailand 4.0
 
ที่สำคัญบริษัท ทีโอที และ กสท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 100% ก็จะได้ประโยชน์จากผลกำไรของ NBN และ NGDC และยังดำเนินธุรกิจในส่วนที่ไม่ได้โอนไปให้ NBN หรือ NGDC เช่น ธุรกิจท่อร้อยสายใต้ดิน และธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม หรือ บริการด้านดิจิทัลต่างๆ โดยมี NBN และ NGDC ดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้ ซึ่งแม้จะมีรัฐถือหุ้น 100% แต่ NBN และ NGDC จะบริหารงานในรูปแบบใหม่ ลดต้นทุนทุกด้านให้อยู่ในระดับเดียวกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้แข่งขันได้กับเอกชน
ในอนาคต ประชาชนคนไทยก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนไปแล้วให้ได้ประโยชน์สูงสุด และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล
 
 
นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวด้วยว่า การจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) เป็นไปตามนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 ถึงช่วงปลายปี 2560