พาณิชย์จับมือมติชน จัดงาน “ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน” ส่งเสริมสินค้าเกษตร

เทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนา “ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน”

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) ที่ห้องประชุมใหญ่อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด เทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนา “ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน” เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรในการเตรียมพร้อมส่งออกผลไม้ไทยไปยังต่างประเทศ และเป็นการลดผลกระทบต่อราคาขายของเกษตรกรลง

โดยมีผู้ร่วมสัมมนาทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ น.ส.เพ็ญระพี ทองอินทร์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตไม้ผล ไม้ยืนต้น และยางพารา กรมส่งเสริมการเกษตร, น.ส.อรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการนำเข้าส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร, นายสิฐิภูมิ์ ธนฤทธิพร คณะอนุกรรมการ การค้าชายแดนและข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

               

นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด นางเสาวณี วิเลปะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด น.ส.วราภรณ์ มงคลแพทย์ ทายาทกิจการบ้านหมากม่วง พลิกโฉมสวนมะม่วง ทำฟาร์มช็อปและฟาร์มทัวร์ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาจำนวนมาก

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้บรรยายพิเศษภายหลังเปิดงานสัมมนาในหัวข้อ “ปูพรมผลไม้ไทย ไร้พรมแดน” ว่าประเทศไทยมีปริมาณผลิตผลไม้ปีละ 6.5 ล้านตัน ซึ่งปี 2567 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 1% ปัจจุบันมีการบริโภคภายในประเทศน้อย ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดย 60% ส่งออกเป็นผลไม้สด และอีก 40% แปรรูปส่งออก

ดังนั้น การปูพรมผลไม้ไทยเพื่อขยายการส่งออกไปยังทั่วโลกถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะการส่งออกในรูปของผลไม้สดมีการสูญเสียเกิดขึ้นมาก ประกอบกับบุคลากรในภาคการเกษตรไทยในปัจจุบัน ยังมีอายุเฉลี่ยสูง ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้าในภาคเกษตร

กระทรวงพาณิชย์โดยการนำของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการคือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสให้คนตัวเล็ก ซึ่งในส่วนของชาวสวนผลไม้นั้น กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะเร่งเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทยเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวน โดยต้องส่งเสริมให้ชาวสวนผลไม้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการแปรรูปผลไม้ รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายสู่ตลาดออนไลน์

“ตลาดส่งออกผลไม้ทั่วโลกยังเปิดกว้างมหาศาล กระทรวงพร้อมที่จะผลักดันและปูพรมผลไม้ไทยให้ไปขายทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันกระทรวงจัดตั้งวอร์รูม โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผน รองรับผลผลิตและออกมาตรการบริหารจัดการผลไม้ในแต่ละปี”