ถอดรหัส เลือกไขว้ สว. 200 คน ที่มา-คุณสมบัติ และแคมเปญ Hack ระบบ

สว.

อีกไม่ถึงเดือน สว. 250 คน ในปัจจุบันกำลังหมดหน้าที่ เตรียมการเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน ตามสูตร “เลือกไขว้”

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 107 กำหนดให้ สว.มาจากการเลือกไขว้ มาจากแนวความคิด ที่ว่า ในยุคสมัยใหม่มักจะมีผู้เรียกร้องว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีการบัญญัติไว้ในที่ใดว่าการมีส่วนร่วมที่จะก่อให้เกิดผลต่อประชาชนเป็นส่วนรวมนั้น จะดำเนินการได้โดยวิธีใด หรือแนวทางหรือวิธีการใดที่จะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นเป็นผลอย่างจริงจัง

“การกำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ก็มักมีข้อติติงว่าบุคคลเหล่านั้นมิได้มาจากประชาชน ในขณะที่การก หนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ก็จะหลีกไม่พ้นที่ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งจะต้องอิงหรือพึ่งพา พรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง”

“โดยทั้งสองกรณีนั้นประชาชนทั่วไปคงได้แต่เพียงรับรู้ผลของการแต่งตั้ง หรือมีส่วนร่วมเฉพาะในขณะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง”

การจะสมัครเข้ารับเลือกตั้งด้วยตนเอง มีข้อจำกัด ต่าง ๆ มากมาย ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่าย และการดำเนินการให้ได้รับเลือกตั้ง ทั้งผู้สมัครและผู้ได้รับเลือกตั้งก็มิได้ มีความหลากหลายในด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่หลากหลายในสังคม จึงยากที่จะเข้าใจความนึกคิดและความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มบุคคลที่หลากหลายเหล่านั้นได้ด้วย

เหตุผลดังกล่าวจึงได้กำหนดวิธีการได้มาซึ่งสมาชิก วุฒิสภาขึ้นใหม่ โดยเน้นความสำคัญของประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาสมัครได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกินกำลังของ บุคคลทั่ว ๆ ไป โดยแยกออกเป็นกลุ่มที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน ให้มากที่สุดเพื่อที่จะทำให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติ ทุกคนสามารถเข้าสมัครในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ และเพื่อให้ผู้สมัครมีส่วนร่วมในเบื้องต้นอย่างแท้จริง

ADVERTISMENT

“จึงให้ผู้สมัครด้วยกันเองเลือกกันเองตามวิธีการที่จะบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป และในกรณีที่มี ผู้สมัครเป็นจำนวนมากก็อาจกำหนดให้มีวิธีการคัดกรองกันก่อนได้ แต่ต้องเป็นการคัดกรองที่ผู้สมัครมีส่วน ร่วมในการคัดกรองนั้น เช่น การให้ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันจับสลากกันเอง เป็นต้น”

20 กลุ่ม สว.

สว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แบบเลือกไขว้ มาจาก 20 กลุ่ม ประกอบด้วย

ADVERTISMENT
  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
  3. กลุ่มการศึกษา เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
  4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และผู้ประกอบกิจการอื่น ๆ
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  13. กลุมผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง
  17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  18. กลุ่มนักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  20. กลุ่มอื่น ๆ

คุณสมบัติ สว.

  1. ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  2. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
  3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี (ความในข้อนี้ ไม่นับรวม กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น)
  4. ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

– เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก

– มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอําเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

– ทํางานอยู่ในอําเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึง วันสมัครรับเลือก

– เคยทํางานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอําเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี

– เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอําเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา

ลักษณะต้องห้าม

  1. ติดยาเสพติดให้โทษ
  2. เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  3. เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
  4. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  5. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  6. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  7. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  8. ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  9. เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ ยกเว้นความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  10. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  11. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  12. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน
  13. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  14. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  17. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย
  18. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  19. เป็นข้าราชการ
  20. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น สส. มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  21. เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
  22. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  23. เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  24. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
  25. เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
  26. เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ

วิธีการเลือก สว.

ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ แบ่งเป็น 2 รอบ

เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครสามารถเลือกสามารถเลือกตัวเองได้ และลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ 1 คะแนน จากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 1-5 ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบที่ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้

จากนั้น ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบไปเลือกในระดับอำเภอ ในกลุ่มที่ตนเองสมัคร

ด่านที่สอง เลือก สว.ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 2 รอบ

เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม สามารถเลือกตนเองได้ และลงคะแนนให้คนอื่นได้ 1 คะแนน 2.ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ผ่านเข้าไปเลือกรอบ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้

ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ที่ถูกเลือกระดับจังหวัด ในกลุ่มนั้น เพื่อไปเลือก สว.ระดับประเทศ

และด่านที่สาม เลือก สว.ระดับประเทศ แบ่งเป็น 2 รอบเช่นเดิม

เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัดมาแข่งระดับประเทศ จะเลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน สามารถ “เลือกตัวเองได้” แต่จะลงคะแนนให้กับคนอื่นเกิน 1 คะแนนไม่ได้

จากนั้น ผู้ที่ได้รับเลือก 1-40 ของกลุ่ม จะเข้าไปเลือกรอบที่ 2 ต่อไป แต่ถ้ากลุ่มไหนไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งออกเป็น 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถลือก “ผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน” กลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน หรือ เลือกตัวเองไม่ได้ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น

ไทม์ไลน์การเลือกไขว้ สว.

ตามไทม์ไลน์ของ กกต.ระบุว่า หลังจาก สว.ชุดเดิมหมดวาระ 1 วัน จากนั้น 12 พฤษภาคม 2567 ตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว.ชุดใหม่, 17 พฤษภาคม 2567 กกต.ประกาศวันรับสมัครและวันเลือกในทุกระดับ

27 พฤษภาคม 2567 เปิดรับสมัครผู้มีความประสงค์จะเป็น สว.

27 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2567 ระยะเวลารับสมัคร

22 มิถุนายน 2567 วันเลือก สว.ลำดับอำเภอ

29 มิถุนายน วันเลือกระดับจังหวัด

9 กรกฎาคม วันเลือกระดับประเทศ

14 กรกฎาคม กกต.ประกาศผลในพระราชกิจจานุเบกษา

ฮั้วโดนโทษหนัก

การเลือก สว.ครั้งที่จะเกิดขึ้น ทุกฝ่ายจับตาเรื่องการ “ฮั้ว” เพราะมีกระแสข่าวว่าบรรดา บ้านใหญ่การเมือง-พรรคการเมือง เตรียมคนลงชิงเก้าอี้สภาสูง

“อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกตง กล่าวเรื่องการ “ฮั้ว” ว่า เรื่องนี้มีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว กกต.ก็ได้หารือกันถึงเรืองนี้ ถ้าทำจริงก็ถือว่ามีความผิด ทั้งจำ ทั้งปรับ และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ย้ำว่าการไม่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งกฎหมายออกแบบให้ป้องกันเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง กกต.ก็มีกลไกระดับหนึ่ง ถ้าตั้งใจจะฮั้วอย่ามั่นใจว่าจะรอด ไม่มีใครจับได้ เพราะสมัยนี้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เยอะ ช่องทางการตรวจสอบก็เยอะ ดังนั้น อย่าเสี่ยง

ขณะที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. เขียนบทความลง “มติชนสุดสัปดาห์” เรื่อง จะทดลองอีกกี่ครั้ง จึงจะได้สมาชิกวุฒิสภาในอุดมคติ ตอนหนึ่งระบุถึง การออกแบบให้เลือกกันเองและเลือกไขว้จะป้องกันการทุจริตได้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่”

เนื่องจากกระบวนการคัดเลือกกันเองในแต่ละละกลุ่มอาชีพในรอบแรกที่กระทำในระดับอำเภอ มีกติกาให้หนึ่งคนสามารถเลือกได้ 2 เสียง คืออาจเลือกตัวเองหนึ่งเสียง และเลือกบุคคลอื่นอีก 1 เสียง

ในกรณีที่มีการกะเกณฑ์หรือนัดแนะเพื่อการทุ่มลงคะแนนให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นเรื่องไม่ยาก ง่ายกว่าการทุจริตโดยการซื้อเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างมากมาย

ยิ่งกรณีกำหนดค่าสมัครคนละ 2,500 บาท หากต้องการคะแนนพื้นฐานเพียง 10 คะแนนเพื่อผ่านการคัดเลือกในรอบแรกที่เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย

ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็ไม่สามารถออกระเบียบปฏิบัติเพื่อป้องกันการฮั้วในการลงคะแนนในลักษณะดังกล่าวนี้ได้และไม่มีการออกมาชี้แจง ป้องปราม และกล่าวถึงบทลงโทษหากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจน

รณรงค์ให้คนสมัคร ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ดังนั้น กลุ่มการเมืองภาคประชาชน อาทิ คณะก้าวหน้า, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปิดแคมเปญรณรงค์ แก้เกมพวกบ้านใหญ่การเมือง

คณะก้าวหน้า เปิดแคมเปญ่ “1 ครอบครัว 1 สว. “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมเสวนา โดยเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพในการจ่ายค่าสมัครจำนวน 2,500 บาท ให้เข้าร่วมลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา เพื่อโหวตลงคะแนนเสียงให้ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน

“เราเชิญชวนท่านส่งผู้สมัคร 1 บ้าน 1 คน เพื่อให้ได้ สว. ที่มาจากการเลือกของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ สว. ของผู้มีอำนาจ มาร่วมกันใช้สิทธิของประชาชน ใช้เงินจากกระเป๋าประชาชน แฮ็กระบบเลือก สว. ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อ ปชช.และประชาชนทุกคนจะต้องพยายามแฮกระบบนี้ เอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบ เลือก สว. ประชาชน ที่รับใช้ประชาชน เข้าสภาให้ได้”

ไอลอว์ เปิดแคมเปญ ชวนทุกคนที่อายุถึง 40 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีคุณสมบัติครบถ้วน ไปสมัคร สว. เพื่อ “แฮกระบบ” ที่คนของ คสช. คิดขึ้น และใช้สิทธิ “เลือก” คนที่อยากให้เข้าสภา

ขณะที่ ประธาน กกต. กล่าวถึงการรณรงค์ของกลุ่มการเมืองทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ว่า ไม่คิดว่าถึงขั้นสุ่มเสี่ยงในขณะนี้ เพราะการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในด้านต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ตนก็ได้รณรงค์มาตลอด ซึ่งหากมีการสมัครเยอะ การแข่งขันก็จะยิ่งเยอะ และทำให้การแข่งขันมีคุณค่า

การเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสิ่งที่น่าจะสนับสนุนด้วยซ้ำไป แต่เตือนว่าทำอะไรก็อย่าไปฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าสงสัยอะไรแนะนำให้มาคุยกับ กกต.ก่อนในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งคำตอบของเราอาจทำให้การกระทำที่สุ่มเสี่ยงไม่เกิดขึ้น

คณะก้าวหน้ามีการชูนโยบาย “1 ครอบครัว 1 สว.” จะทำให้ผิดเจตนารมณ์ของการเลือก สว.หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า เบื้องต้น 1 ครอบครัว 1 สว.เป็นการรณรงค์ให้มีการสมัคร อาจจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่ฟังง่าย ให้คนฉุกคิดว่าในฐานะที่เป็นคนไทยเรามีคุณสมบัติและมีความประสงค์ที่จะสมัครหรือไม่ และทำงานเพื่อประเทศ เรื่องนี้ไม่ถึงขั้นมีความสุ่มเสี่ยง ซึ่งถ้าสุ่มเสี่ยงก็ต้องรับฟังกรอบความเห็นของสำนักงาน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ข้อเท็จจริงยังไม่ชัด หากมีผู้ตอบรับแคมเปญแล้วมีผู้สมัครหลักแสนคนนั้น ทาง กกต.ต้องสามารถรับมือได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่แรกว่าจะมีผู้สมัครหลักแสนคน และ กกต.ก็มีแผน 1 แผน 2 ตอนนี้บัตรเลือกตั้งมีการกำหนดรูปแบบก็กำหนดไว้ในท้ายระเบียบ ส่วนสีบัตรการเลือกในแต่ละระดับนั้น ให้เลขาฯ กกต.เป็นผู้พิจารณาเลือกสี ทั้งนี้ บัตรเลือก สว.จะพิมพ์ 2 รอบ รอบแรก พิมพ์ตามจำนวนที่เราคาดการณ์ไว้ และอีกรอบจะจัดพิมพ์เมื่อเห็นตัวเลขผู้สมัครแล้ว