
คอลัมน์ : สถานีลงทุน ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส
หลังจากราคาทองคำ Spot ตลาดโลกทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ที่ 2,530 ดอลลาร์ จากประเด็นคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องเร่งลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่ามากที่สุดในรอบกว่า 1 ปี หรือนับตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดย Dollar Index ลงไปแตะ 100.5 ในสัปดาห์ที่แล้ว ราคาทองคำตอบรับประเด็นดังกล่าวไปพอสมควร
ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้ราคาทองคำเริ่มมีแรงเทขายออกมา ในที่สุดก็มีแรงซื้อกลับเข้ามา หลังจากสัปดาห์นี้ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐออกมาอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครเดือนกรกฎาคมและการจ้างงานภาคเอกชน ADP เดือนสิงหาคมต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดคาด ทำให้ราคาทองคำ Spot กลับมาฟื้นตัวขึ้น และขึ้นไปทดสอบแนวต้านแข็งแกร่งที่ 2,530 ดอลลาร์ แต่ไม่สามารถผ่านไปได้ ทำให้มีแรงเทขายออกมา
ประเด็นที่ต้องติดตามในเดือนกันยายนคือ การประชุมเฟดในวันที่ 17-18 กันยายน ตลาดคาดว่าเฟดจะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% การประชุมครั้งนี้จะมีการเปิดเผย Dot Plot หรือประมาณการอัตราดอกเบี้ยของเฟด จากเดือนมิถุนายนคาดการณ์ว่าจะลดดอกเบี้ย 0.75%
แต่ในมุมมองของตลาดตอนนี้ คาดการณ์ว่าจะลดดอกเบี้ย 1% ดังนั้น ถ้าเฟดมีการปรับมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยว่าจะลดดอกเบี้ย 1% คาดว่าราคาทองคำจะปรับขึ้น และมีโอกาสกลับไปที่ 2,530 ดอลลาร์ และทะลุผ่านขึ้นไปได้ แต่ถ้ายังยืนยันว่าจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 0.75% เหมือนเดิมคาดว่าจะส่งผลลบกับราคาทองคำ
สำหรับแนวโน้มราคาทองคำ Spot ตลาดโลกเป็นขาขึ้น แต่ยังมีแนวต้านแข็งแกร่งที่ 2,530 ดอลลาร์อยู่ แต่ถ้าทะลุขึ้นไปได้จะมีแนวต้านถัดไปที่ 2,550 ดอลลาร์ ส่วนแนวรับที่ 2,470-2,480 ดอลลาร์ และ 2,450 ดอลลาร์ ดังนั้น นักลงทุนทยอยสะสมราคาทองคำอ่อนตัวลง
ราคาทองคำ Spot ตลาดโลก
เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแข็งค่าขึ้นมากสุดในรอบ 15 เดือน ทำให้กดดันราคาทองแท่งในประเทศ ในช่วงที่ราคาทองแท่งทำ All-Time High ที่ 42,150 บาท เงินบาทอยู่ที่ 36 บาท แต่ราคาทองแท่งของสมาคมวันที่ 9 กันยายนเปิดตลาดหลุด 40,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลงต่ำกว่า 40,000 บาทในรอบ 5 เดือน ขณะที่เงินบาทอยู่ที่ประมาณ 33.70 บาท ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 2.30 บาท กระทบทางลบกับราคาทองแท่งในประเทศ 2,300 บาท
กลยุทธ์การลงทุนทองคำในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากสุดในรอบ 15 เดือน
1.นักลงทุนทองแท่งใช้ USD Futures ในตลาด TFEX เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเปิดขาย USD Futures ในวันที่เข้าซื้อทองแท่ง หรือถือทองแท่งอยู่ 2.เทรดดิ้งระหว่างวันใน USD Gold Trade ของฮั่วเซ่งเฮง หรือ GO Futures ในตลาด TFEX 3.ลงทุนในกองทุนรวมทองคำที่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน